รายงานการประชุม Fed เดือน มิ.ย. ระบุ พร้อมใช้นโยบายการเงินเข้มงวดมากขึ้นหากเงินเฟ้อไม่ลดลง แม้จะทำให้เศรษฐกิจเข้าใกล้ภาวะถดถอยมากขึ้นก็ตาม พร้อมส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย 50 หรือ 75 bps เดือน ก.ค. นี้
คณะกรรมการ FOMC ระบุว่า การขึ้นดอกเบี้ย 75 bps ในการประชุมเดือนมิ.ย. เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อควบคุมค่าครองชีพที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 1981 และ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยต่อไปจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงเข้าใกล้เป้าหมายระยะยาวที่ 2%
รายงานการประชุมระบุว่า สมาชิกเห็นพ้องต้องกันว่าแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแกร่งมากพอที่จะใช้นโยบายการเงินเข้มงวด และการเข้มงวดขึ้นอีกอาจเหมาะสมหากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงมีอยู่
อย่างไรก็ตาม Fed ยอมรับว่าการใช้นโยบายการเงินเข้มงวดมีต้นทุนทางเศรษฐกิจ โดย GDP ไตรมาสแรกของสหรัฐฯ หดตัวอยู่ที่ 1.6% และตามรายงานของ Fed สาขาแอตแลนตา มีแนวโน้มที่ GDP ในไตรมาสที่ 2 จะหดตัวที่ 2.1% ซึ่งนั่นหมายความว่าสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
คณะกรรมการ FOMC ยอมรับว่าการใช้นโยบายดังกล่าวอาจไปชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะเวลาหนึ่ง แต่การทำให้เงินเฟ้อกลับมาสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% มีความสำคัญต่อการบรรลุการจ้างงานในระดับสูงสุดอย่างยั่งยืน
การขึ้นดอกเบี้ย 75 bps ในการประชุมครั้งที่แล้วไม่ได้เป็นไปตามลำดับปกติ และดูเหมือนว่าผู้กำหนดนโยบายจะเปลี่ยนใจในนาทีสุดท้าย หลังแสดงท่าทีมาตลอดหลายสัปดาห์ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยที่ 50 bps อย่างแน่นอนแล้ว
รายงานระบุว่า Fed ต้องการดำเนินการเพื่อให้ตลาดและประชาชนมั่นใจว่า Fed จริงจังกับการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ โดย Fed มองว่าทั้งการเคลื่อนไหวและการสื่อสารเกี่ยวกับจุดยืนของนโยบายนั้นมีความสำคัญในการฟื้นฟูเสถียรภาพราคา
คณะกรรมการ Fed ยังมีมุมมองบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะยาว แต่ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ทั้งปี 2022 เหลือ 1.7% จากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ในเดือน มี.ค.ที่ 2.8%
Fed กล่าวว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 3.4% ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งสูงกว่าอัตรากลางในระยะยาวที่ 2.5% ตอนนี้การเคลื่อนไหวในตลาดฟิวเจอร์สบ่งชี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยโดยเร็วที่สุดในช่วงเดือน มิ.ย. – ส.ค. ปี 2023
อ้างอิง: https://www.cnbc.com/2022/07/06/fed-minutes-june-2022.html
——————-
- Facebook: https://finno.me/the-opp-fb
- Youtube: https://finno.me/youtube-channel