News Update: เงินเก็บ 3 ล้าน ไม่พอเกษียณตอนนี้ จุฬาฯ ชี้ คนไทยส่วนใหญ่ความพร้อมเกษียณต่ำ แนะออมอย่างน้อย 15% ของรายได้

จุฬาฯ ชี้ คนไทยออมเงินน้อยมาก ความพร้อมด้านการเงินหลังเกษียณไม่ถึง 40%

1) รศ.ดร. ‘พรอนงค์ บุษราตระกูล’ หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า ทางคณะได้จัดทำ “ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ” (NRRI) เพื่อวัดระดับความพร้อมหรือไม่พร้อมของคนไทยหลังเกษียณ

2) ผลวิจัยพบว่า ค่าเฉลี่ยของประเทศสำหรับตัวเลขความพร้อม ‘ด้านการเงิน’ อยู่ต่ำกว่า 40% ซึ่งหมายถึงคนไทยส่วนใหญ่ทั้งประเทศมีความพร้อมเพื่อการเกษียณอยู่ในระดับ “ต่ำ” ขณะที่ความพร้อม ‘ด้านสุขภาพ’ สูงกว่าด้านการเงิน

3) แล้วคนไทยต้องมีเงินเท่าไรถึงจะเพียงพอที่จะอยู่รอดได้หลังเกษียณ?

จากการสำรวจการใช้จ่ายของคนสูงวัย หากใช้เงินประมาณ 6,000-7,000 บาทต่อเดือน “3 ล้านบาท” คือจำนวนเงินที่เพียงพอต่อการเกษียณ แต่ปัจจุบันมีการใช้จ่ายกันที่ระดับ 10,000 บาทต่อเดือน นั่นแปลว่ามีการใช้เงินมากกว่าที่มีอยู่

4) คนที่มีผลต่อการออมที่สุดคือ ‘ตัวเราเอง’ ที่ต้องมีความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของการออม รองลงมาคือ ‘ภาครัฐ’ ต้องมีบทบาทในการสนับสนุนทักษะทางการเงินของประชาชน รวมถึงฝั่ง ‘นายจ้าง’ ก็ควรมองไปถึงว่าหากพนักงานเลิกทำงานกับนายจ้างแล้วควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย

5) สำหรับแรงงานในระบบอย่าลืมใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้สูงสุด 15% ส่วนการออมนั้น “ออมผ่านรูปแบบใดก็ได้” ในสัดส่วน 15% ของรายได้ ยิ่งออมได้สูงกว่า 30% ถือว่าดี แต่ถ้าต่ำกว่า 10% ต่อไปชีวิตลำบากแน่ และหากใครมีการออมเกิน 15% อยู่แล้วให้ใส่ความรู้ด้านการลงทุนเข้าไปด้วย

6) สำหรับแรงงานนอกระบบ ขอให้มีวินัยด้านการออม เนื่องจากระบบไม่เอื้อ อาจต้องขวนขวายด้วยตัวเอง เช่น เข้าสู่ประกันสังคมม. 40 หรือออมใน RMF โดยแนะนำให้สร้างวินัยการออมและปรับสัดส่วนการออม รวมถึงความสม่ำเสมอเป็นอีกสิ่งที่สำคัญ

ที่มา: คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

——————-

👍 อย่าลืมกดไลก์ Page The Opportunity เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสด้านการลงทุน

TSF2024