News Update: เงินเฟ้อไทย (CPI) ก.ค. อยู่ที่ 7.61% ชะลอจากเดือนก่อน ลดลงครั้งแรกในรอบปี ใกล้จุดสูงสุดรอบ 13 ปี คาดเงินเฟ้อสิ้นปีที่ 6%

กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขเงินเฟ้อไทย (CPI) เดือน ก.ค. อยู่ที่ 7.61% ชะลอตัวเป็นครั้งแรกในรอบปี แต่ใกล้จุดสูงสุดรอบ 13 ปี และคาดเงินเฟ้อสิ้นปีที่ระหว่าง 5.5% – 6.5 %

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย
เดือน ก.ค. 2565 เท่ากับ 107.41 ลดลง 0.16 % (MoM) เป็นการลดลงจากเดือนก่อนหน้าครั้งแรกในรอบปี 2565 และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 7.61 %(YoY) สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกในเดือนนี้อยู่ที่ 2.99 % (YoY)

โดย​​ก่อนหน้านี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทย (CPI) เงินเฟ้อเดือน มิ.ย. เท่ากับ 7.66% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 13 ปี

สินค้ากลุ่มพลังงานยังเป็นสาเหตุหลักต่ออัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ค. 2565 ซึ่งเป็นต้นทุนในทุกขั้นตอนการผลิตและโลจิสติกส์ของสินค้าและบริการ ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น จากการท่องเที่ยว การส่งออก และราคาสินค้าเกษตรสำคัญสูงขึ้น นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้เป็นผลของการคำนวณจากฐานดัชนีราคาผู้บริโภคของเดือน ก.ค. 2564 ที่ค่อนข้างต่ำจึงทำให้เงินเฟ้อขยายตัว

• กลุ่มพลังงาน มีอัตราการเติบโตของราคา 33.82 % (YoY) ส่งผลให้พลังงานมีสัดส่วนผลกระทบต่อเงินเฟ้อในเดือนนี้(Contribution to Percentage Change : CPC) 52.57 % แม้ว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงบางชนิด (แก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน) ในเดือนนี้จะปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา แต่ต้นทุนการผลิตและการขนส่งยังสูง เนื่องจากราคาก๊าซหุงต้ม ไฟฟ้า และน้ำมันดีเซล ยังคงอยู่ในระดับสูง

• กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีอัตราการเติบโตของราคา 8.02 % (YoY) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน อาทิไก่สด พริกสด ต้นหอม เครื่องประกอบอาหาร และอาหารสำเร็จรูป ราคาเปลี่ยนแปลงตามต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะต้นทุนด้านพลังงาน ทั้ง ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม รวมถึงน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญของการขนส่ง ประกอบกับความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ ข้าวสารเจ้าข้าวสารเหนียว ผักและผลไม้บางชนิด (ถั่วฝักยาว มะนาว ขิง ผักคะน้า กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง ลองกอง)

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนนี้เทียบกับเดือนที่ผ่านมา ลดลงะ 0.16 % (MoM) เป็นการปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าครั้งแรกในรอบปี 2565 สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาแก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำมันพืช และสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาดบางชนิด (น้ำยารีดผ้า น้ำยาล้างห้องน้ำ) สำหรับค่าเฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.)ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 5.89 % (AoA)

ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนกรกฎาคม 2565 สูงขึ้น 12.2 % (YoY) ปรับสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า ตามต้นทุนการผลิต ทั้งราคาพลังงานและวัตถุดิบ ต้นทุนการนำเข้าจากการอ่อนค่าของเงินบาท และความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น 6.3 % (YoY) เนื่องจากต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน และเงินบาทอ่อนค่า ประกอบกับการใช้วัสดุก่อสร้างในโครงการก่อสร้างภาครัฐเป็นไปตามแผน

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 45.5 จากระดับ 44.3 ในเดือนก่อนหน้า ปรับเพิ่มขึ้น
ทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและใน 3 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้เป็นผลจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
จากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่อง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การเปิดสถานบันเทิงทั่วประเทศและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลง ขณะที่ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจไทย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผันผวนและมาตรการของภาครัฐ เป็นปัจจัยลบต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 เป็นระหว่าง 5.5% – 6.5 % (ค่ากลางร้อยละ 6.0) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ และการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย

ที่มา: สำนักงานนโยบายแและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

——————-

👍 อย่าลืมกดไลก์ Page The Opportunity เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสด้านการลงทุน

TSF2024