News Update: เงินเฟ้อไทย มิ.ย. พุ่ง 7.66% ทำสถิติสูงสุดรอบ 13 ปี เฉพาะหมวดพลังงาน ราคาพุ่ง 39%

สนค. รายงานตัวเลขเงินเฟ้อไทย เดือน มิ.ย. พุ่ง 7.66% ยังคงทำสถิติสูงสุดรอบ 13 ปี

วันนี้ (5 ก.ค.) นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ CPI ในเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้น 7.66% จากปีที่แล้ว และไต่ระดับสูงขึ้นจากเดือน พ.ค. ที่ 7.1% ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี

ขณะที่ ดัชนีเงินเฟ้อพื้นฐาน หรือ Core CPI ในเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้น 2.51% จากปีที่แล้ว และไต่ระดับสูงขึ้นจากเดือน พ.ค. ที่ 2.28%

มีปัจจัยสำคัญจากราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน (น้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม) ที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น กลุ่มพลังงาน มีอัตราการเติบโตของราคา 39.97% (YoY) จึงส่งผลให้พลังงานมีสัดส่วนถึง 61.83% ของอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้

โดยสินค้ากลุ่มพลังงานประกอบด้วย น้ำมันเชื้อเพลิง มีอัตราการเติบโตของราคา 39.45% ค่าไฟฟ้า 45.41% และราคาก๊าซหุงต้ม 12.63%

นอกจากนี้ ราคาค่าโดยสารสาธารณะยังปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นด้วย อาทิ ค่าโดยสารจักรยานยนต์รับจ้าง ค่าโดยสารเรือ และค่ารถรับส่งนักเรียน เนื่องจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการ

อย่างไรก็ตาม สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผลไม้สด อาทิ เงาะ มังคุด ลองกอง และทุเรียน และเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น 0.90% (MoM) ซึ่งเป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง เนื่องจากสินค้าสำคัญหลายรายการราคาลดลง อาทิ ไข่ไก่ ผลไม้สด ผงซักฟอก สบู่ และโฟมล้างหน้า เป็นต้น

ตัวเลขเงินเฟ้อเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. จะขึ้นไปที่ 7.5 – 7.8% และยังคงทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี ท่ามกลางราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค อาหารสด อาหารแห้ง ที่พากันขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง โดยผลกระทบส่วนใหญ่มาจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นอัตราดอกเบี้ย

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ยังมีแนวโน้มขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา ปัจจัยหลักยังคงเป็นราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทรงตัวในระดับสูง จากอุปทานโลกที่ตึงตัว สถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครน และมาตรการคว่ำบาตรที่ยังยืดเยื้อส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ และต้นทุนการนำเข้าของไทยสูงขึ้น นอกจากนี้ อุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 การท่องเที่ยว และการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัว

อย่างไรก็ตาม มาตรการดูแลค่าครองชีพของกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ทั้งการก้ากับดูแล การตรึงราคาสินค้าที่จำเป็นและราคาพลังงาน รวมถึงปัจจัยเสี่ยงจากโควิด-19 ที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มกลับมาสูงขึ้นจากสายพันธุ์ใหม่ อาจจะเป็นปัจจัยทอนที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงการคลัง

——————-

👍 อย่าลืมกดไลก์ Page The Opportunity เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสด้านการลงทุน
TSF2024