เมื่อวานนี้ (2 ธ.ค.) หุ้น Grab พุ่ง 18% หลังเทรดวันแรกในตลาดหุ้น Nasdaq ก่อนร่วง 21% ปิดที่ราคา $8.75 มูลค่าหาย 570,000 ล้านบาทพร้อมทำสถิติดีล SPAC มูลค่าสูงสุดที่ 40,000 ล้านดอลลาร์ หลังควบรวมกิจการกับ Altimeter Growth
การเกิดขึ้นของสายพันธุ์โอไมครอนส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ให้บริการเรียกรถโดยสาร ส่งผลให้ราคาหุ้น Uber ปรับตัวลงแล้วกว่า 10% หลังมีรายงานการพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในแอฟริกาใต้ ขณะที่สิงคโปร์ ประเทศสำนักงานใหญ่ของ Grab ประกาศห้ามไม่ให้ 7 ประเทศในทวีปแอฟริกาเดินทางเข้าประเทศ โดยล่าสุด (2 ธ.ค.) สิงคโปร์พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนแล้ว 2 ราย
ปัจจุบัน Grab ยังไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำกำไร โดยในเดือนที่ผ่านมา บริษัทรายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 988 ล้านดอลลาร์ ขณะที่รายได้ลดลง 9% เหลือ 157 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม Anthony Tan ผู้ร่วมก่อตั้ง และซีอีโอของ Grab มองเห็นโอกาสมหาศาลสำหรับการขยายธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดว่ามูลค่าธุรกรรมในตลาด (Merchandise Value) ในปีนี้จะบรรลุเป้าหมายที่ระดับ 15,000-15,500 ล้านดอลลาร์
ในเดือน เม.ย. Anthony Tan และ Brad Gerstner ซีอีโอของ Altimeter Growth เปิดเผยดีล SPAC หรือการควบรวมกิจการเพื่อระดมทุนจากสาธารณะโดยไม่ต้อง IPO แต่ต้องเผชิญกับความท้าทายจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด
Grab เป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีศักยภาพสุงสุดในการเข้าสู่ตลาดหุ้น โดยโมเดลธุรกิจของบริษัทคล้ายคลึงกับ Uber ที่ได้ขายธุรกิจในภูมิภาคให้กับ Grab ตั้งแต่ปี 2018 นอกจากนี้ Grab ยังมีกองทุน Vision Fund ของ SoftBank Group เป็นผู้ลงทุนหลัก เช่นเดียวกับ Uber
เมื่อวานนี้ (2 ธ.ค.) Hooi Ling Tan ผู้ร่วมก่อตั้ง Grab กล่าวกับ Bloomberg ว่า ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าความกังวลในไวรัสสายพันธุ์ใหม่จะส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปหรือไม่ และกล่าวถึง“SuperApp” บริการครบวงจรในแอปเดียว ว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเติบโตและรับมือกับความท้าทายของโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
งานวิจัยของ Google, Temasek และ Bain & Co. ที่เผยแพร่ในเดือน พ.ย. แสดงให้เห็นโอกาสการเติบโตที่สูงมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยระบุว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคในปี 2025 จะเติบโตขึ้น 2 เท่า สู่ 363,000 ล้านดอลลาร์
ก่อนหน้านี้ในปี 2017 Sea Group บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติสิงคโปร์ได้เข้าสู่ตลาดหุ้น โดยเริ่มต้นจากบริษัทเกม ก่อนจะขยายธุรกิจไปยังอีคอมเมิร์ซและการชำระเงินดิจิทัล ขณะที่หุ้น Sea เพิ่มขึ้นถึง 1,600% นับตั้งแต่เข้าสู่ตลาดหุ้น และกลายมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดที่ประมาณ 145,000 ล้านดอลลาร์ สูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Grab กำลังเผชิญกับการแข่งขันในภูมิภาคที่เข้มข้นขึ้นจาก Sea รวมถึง Gojek คู่แข่งรายสำคัญจากอินโดนีเซีย ที่ได้ควบรวมกิจการกับ PT Tokopedia อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ และตั้งบริษัทใหม่ “GoTo” เตรียมเข้าสู่ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย และสหรัฐฯ ในปีหน้า
Nathan Naidu นักวิเคราะห์ของ Bloomberg กล่าวว่า การเป็นผู้นำในตลาดบริการเรียกรถในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำให้ Grab ได้เปรียบเหนือคู่แข่งอย่าง GoTo และ Sea ซึ่งจะทำให้ยอดขายของ Grab เติบโตอย่างก้าวกระโดดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
——————-
- Facebook: https://finno.me/the-opp-fb
- Youtube: https://finno.me/youtube-channel