ผู้นำกลุ่มประเทศ G-20 บรรลุความตกลงโลกร้อนด้วยเป้าหมายจำกัดระดับอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส พร้อมเห็นชอบขึ้นภาษีบริษัทขนาดใหญ่ที่ 15% รวมถึงให้คำมั่นว่าจะจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติมให้แก่ประเทศรายได้ต่ำ
🌎 จำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
ร่างแถลงการณ์รายงานว่า ผู้นำกลุ่ม G-20 มีเป้าหมายจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับที่นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าจำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงการไปสู่หายนะทางสภาพภูมิอากาศ
บรรดาผู้นำกลุ่ม G-20 ตกลงว่าจะยุติการให้ทุนสำหรับการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินในประเทศกำลังพัฒนา และจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อหยุดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ก่อนสิ้นปี 2030 แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะยกเลิกการอุดหนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศตนเองเมื่อไร
นอกจากนี้ ผู้นำกลุ่ม G-20 ยังตกลงว่าจะเพิ่มการสนับสนุนเงินทุนเป็น 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อช่วยเหลือประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อม เนื่องจากประเทศกลุ่ม G-20 ปล่อยก๊าซคาร์บอนคิดเป็น 75% ของปริมาณทั้งหมดบนโลก ซึ่งนี่เป็นข้อตกลงภายใต้สนธิสัญญากรุงปารีสเมื่อปี 2015
โดยคาดว่าปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศจะถูกหารืออย่างจริงจังในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยภาวะความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ในวันที่ 1-12 พ.ย. นี้ ซึ่งมีผู้นำกลุ่ม G-20 หลายคนเดินทางไปร่วมงานต่อที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์
🏢 ขึ้นภาษีบริษัทขนาดใหญ่ที่ 15% ในปี 2030
ผู้นำกลุ่ม G-20 ยังรับรองข้อตกลงประวัติศาสตร์ในการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ 15% จากบริษัทขนาดใหญ่ เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มักย้ายฐานสำนักงานใหญ่ไปยังพื้นที่ที่มีอัตราภาษีต่ำกว่าเพื่อหลบเลี่ยงภาษี
ข้อตกลงภาษีนิติบุคคลได้รับการยกย่องว่าเป็นหลักกฐานของความร่วมมือระดับพหุภาคี โดยคาดว่าจะมีผลภายในปี 2030 ในบริษัทที่มียอดขายทั่วโลกมากกว่า 20,000 ล้านยูโร และมีกำไรมากกว่า 10%
ก่อนหน้านี้ ในเดือน ต.ค. บริษัทขนาดใหญ่ใน 136 ประเทศ ซึ่งรวมถึงกลุ่ม FAANG ได้ยินยอมบรรลุข้อตกลงดังกล่าวแล้ว โดย เจเน็ต เยลเลน รมว. คลังสหรัฐฯ กล่าวว่า ข้อตกลงนี้จะทำให้เศรษฐกิจกลับมารุ่งเรืองยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจและแรงงานชาวอเมริกัน
โจ ไบเดน ปธน.สหรัฐฯ กล่าวผ่านทวิตเตอร์ของเขาว่า นี่ไม่ใช่เพียงแค่ข้อตกลงด้านภาษี แต่ยังเป็นการปฏิรูปการทูตที่จะพลิกโฉมระบบเศรษฐกิจโลก และส่งมอบประโยชน์ดังกล่าวแก่ผู้คนทั่วโลก
💉 จัดสรรวัคซีนเพิ่มเติมให้แก่ประเทศรายได้ต่ำ
ผู้นำกลุ่ม G-20 สนับสนุนอย่างกว้างขวางให้ขยายเวลาบรรเทาหนี้แก่ประเทศยากจน และให้คำมั่นว่าจะจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติมแก่ประเทศรายได้ต่ำ โดยตั้งเป้าหมายว่า ประชากร 70% บนโลก จะต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 ภายในกลางปี 2022
🌱 ความหวังที่เลือนรางในการประชุม COP26
ปธน.จีน สี จิ้นผิง และ ปธน.รัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ต่างตัดสินใจไม่เดินทางไปยังการประชุม COP26 โดยจะร่วมงานผ่านทางลิงก์วิดีโอเท่านั้น ซึ่งนักการทูตเห็นพ้องตรงกันว่าทั้งสองประเทศ รวมถึงอินเดีย กำลังต่อต้านเป้าหมายด้านสภาพอากาศที่มีความมุ่งมั่น
โจ ไบเดน ปธน.สหรัฐฯ แสดงความผิดหวังต่อการตัดสินใจดังกล่าวของผู้นำจีนและรัสเซีย ที่โดยปกติแล้วทั้งสองประเทศก็ไม่ได้แสดงความมุ่งมั่นใดๆ ในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ขณะที่ บอริส จอห์นสัน นายกฯ อังกฤษ กล่าวว่า การเจรจา G-20 และ COP26 เป็นเรื่องยาก แต่หากไม่ทำอารยธรรมโลกอาจล่มสลายรวดเร็วเหมือนจักรวรรดิโรมันโบราณ และกลับไปสู่ยุคมืดครั้งใหม่
อ้างอิง:
——————-
- Facebook: https://finno.me/the-opp-fb
- Youtube: https://finno.me/youtube-channel