***หมายเหตุ: The Opportunity รวบรวมความเห็นจากข้อมูลของ บลจ. ต่อกรณีวิกฤติ Evergrande ที่มีการเผยแพร่เป็นสาธารณะ ตั้งแต่วันที่ 17-22 ก.ย.
🇨🇳 บลจ.กรุงศรี (KSAM)
➢ กองทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนใน Evergrande
⁃ กองทุนตราสารหนี้: KFAHYBON-A มีสัดส่วน 1.70%
⁃ กองทุนผสม: KFMINCOM มีสัดส่วน 0.32%
⁃ กองทุนหุ้น: KFCMEGA-A มีสัดส่วน 0.26%
⁃ กองทุนหุ้น: KF-CHINA มีสัดส่วน 0.07%
➢ มุมมองผู้จัดการกองทุน
ผู้จัดการกองทุนคาดว่าผลกระทบจากวิกฤติ Evergrande มีไม่มากนัก เพราะปัจจุบันราคาหุ้นกู้ซื้อขายที่ 20-30 % ของราคาพาร์ (Par) เท่านั้น เป็นระดับราคาที่สะท้อนถึงการ Default ไปแล้ว มีโอกาสที่อัตราการเรียกคืนหนี้ (Recovery Rate) อาจมากกว่าระดับปัจจุบันได้ ในขณะที่กองทุนหุ้นมีน้ำหนักการลงทุนไม่มากนัก พร้อมทั้งราคาหุ้นลงมากว่า 80% นับตั้งแต่ต้นปีแล้ว
สำหรับทิศทางระยะสั้น ตราสารหนี้ High Yield อาจถูกกดดันจากข่าวที่รุนแรงมาก แต่ตลาด HY ในจีนเองได้รับรู้ข่าว Evergrande มาโดยตลอด อีกทั้งหลังประกาศงบไตรมาส 2/2021 China Property HY มี Balance Sheet ที่ดีขึ้น จึงไม่ได้ไม่ดีทั้งระบบ จะเป็นเพียงบางตัวเท่านั้น ผู้ลงทุนที่รับความผันผวนระยะสั้นได้สูงให้ถือต่อไปเพื่อรับดอกเบี้ยของพอร์ตที่สูง 11.85% (ณ 31 ก.ค. 2021) แต่หากผู้ลงทุนรับความผันผวนที่อาจจะสูงมากในระยะสั้นไม่ได้ แนะนำให้ลดการถือครองลง
ที่มา: https://www.krungsriasset.com/TH/Market-View/Flash-Update/41294.aspx
—
🇨🇳 บลจ. ทีเอ็มบี อีสท์สปริง (TMBAM Eastspring)
➢ กองทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนใน Evergrande
⁃ กองทุนตราสารหนี้: TMB-E-ES-APlus มีสัดส่วน 0.19%
⁃ กองทุนตราสารหนี้: TMB Asian Bond มีสัดส่วน 0.84%
➢ มุมมองผู้จัดการกองทุน
จากการคาดการณ์กรณี base case คือ รัฐบาลจีนช่วยประสานงานในระดับบริหารเพื่อส่งผลให้เกิด “การแก้ไขอย่างเป็นระเบียบ” มีแนวโน้มที่ราคาตราสารหนี้จะสูงกว่าที่ขายกันอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น บลจ.จะยังคงถือไว้เหมือนเดิมในตอนนี้ และจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป รวมถึงจะหารือกับที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อประเมินเส้นทางการปรับโครงสร้างที่มีโอกาสเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม หากมุมมองเกี่ยวกับมูลค่าเปลี่ยนแปลงไป หรือหากกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้มีแนวโน้มยืดเยื้อและไม่เป็นระเบียบ ทางบลจ.จะพิจารณาปรับการถือครอง
บลจ. เชื่อว่ายังมีโอกาสในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน และยังคงมีแนวโน้มที่สดใสหากมองข้ามความผันผวนในระยะสั้น ด้วยเหตุนี้ บลจ.จึงมองว่าความกลัวที่เกิดขึ้นในวงกว้างจาก Evergrande เป็นสิ่งที่เกินจริงไปหน่อย อย่างไรก็ตาม การดูเครดิตของผู้ออกตราสารมีความสำคัญสูงสุด เนื่องจากบรรยากาศเชิงลบและนโยบายของรัฐบาลได้เพิ่มความเสี่ยงในการรีไฟแนนซ์ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่มีงบดุลที่อ่อนแอ ดังนั้น บลจ. จะยังคงเลือกเฟ้นหาบริษัทในส่วนนี้ต่อไป โดยมุ่งเน้นที่ไปที่สินเชื่อคุณภาพดีสำหรับการเพิ่มผลตอบแทน
ที่มา: https://www.tmbameastspring.com/insights/look-at-the-case-of-china-evergrande
—
🇨🇳 บลจ. ไทยพาณิชย์ (SCBAM)
➢ กองทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนใน Evergrande
⁃ กองทุนหุ้น: SCBCEH และ SCBCE มีสัดส่วน 0.09%
⁃ กองทุนผสม: SCBWIN มีสัดส่วน 0.05%
➢ มุมมองผู้จัดการกองทุน SCBWIN
ผู้จัดการกองทุน SCBWIN มีความเชื่อมั่นในการลงทุน โดยเชื่อว่าอัตราผลตอบแทนในปัจจุบัน และ ส่วนต่างอัตราผลตอบแทน (Spread) อยู่ในระดับสมเหตุสมผล และอยู่ในระดับที่ชดเชยกับความเสี่ยงในปัจจุบัน
จากการประเมิน Base Case มองว่าน่าจะมีผลลัพธ์ที่หลากหลาย โดยในระยะสั้นมองว่า Spread ในอุตสาหกรรมอสังหาฯ ไม่น่าจะลดหรือแคบลง และมีความเป็นไปได้ที่จะมีความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยปัจจุบัน กองทุนมีสัดส่วนการลงทุนในตราสารนี้จีนที่ 3.7% และหุ้นจีนที่ 2.5% ณ วันที่ 31 ส.ค. 64
ที่มา: https://www.facebook.com/scbam.official/photos/a.544313966089561/1189411284913156
—
🇨🇳 บลจ. บัวหลวง (BBLAM)
➢ กองทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนใน Evergrande
⁃ กองทุนตราสารหนี้: B-ENHANCED มีสัดส่วน 0.00349%
⁃ กองทุนผสม: B-SENIOR-X มีสัดส่วน 0.00196%
⁃ กองทุนผสม: B-INCOME มีสัดส่วน 0.0013%
➢ มุมมองผู้จัดการกองทุน
จากประเด็นสถานการ์ณของ China Evergrande Group มี 3 กองทุนของบัวหลวงที่เข้าไปลงทุนในหน่วยลงทุนของ Fidelity Asian Bond Fund ซึ่งลงทุนในตราสารหนี้ของ China Evergrande Group สัดส่วนเพียง 0.1% ของ NAV เท่านั้น จึงไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อทั้ง 3 กองทุน ประกอบด้วย B-INCOME, B-SENIOR-X และ B-ENHANCED
ทั้งนี้กองทุนบัวหลวงจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยยึดมั่นในผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยเป็นสำคัญ
ที่มา: https://www.facebook.com/BualuangFund.Fanpage/photos/a.114473288596934/4809692765741606/
—
🇨🇳 บลจ. กรุงไทย (KTAM)
➢ กองทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนใน Evergrande
⁃ กองทุนตราสารหนี้: KT-CHINABOND มีสัดส่วน 0.14%
➢ มุมมองจาก Blackrock ผู้จัดการกองทุน BGF China Bond Fund ซึ่งเป็นกองทุนหลักของ KT-CHINABOND
BlackRock มองว่าแรงเทขายที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นแรงเทขายอย่างรุนแรงในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น และมองว่ายังมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์เกรด B อีกหลายบริษัทที่มีสถานะการเงินที่ดี และไม่มีปัญหาทางสภาพคล่องแต่อย่างใด
ทั้งนี้ทาง BlackRock จะจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และปัจจุบันพอร์ตการลงทุนของ BlackRock มีการกระจายความเสี่ยงเป็นอย่างดี โดยอาจพิจารณาปรับสัดส่วนการลงทุนที่มีอยู่อย่างน้อยนิดในตราสารหนี้ของ Evergrande เพิ่มเติม หากมีมุมมองที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ที่มา: https://www.ktam.co.th/upload/tb_article_358_1632121467.21478_file1.pdf
—
🇨🇳 บลจ.ฟิลลิป (PAMC)
➢ กองทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนใน Evergrande
⁃ กองทุนหุ้น: P-CGREEN มีสัดส่วนน้อยกว่า 1%
⁃ กองทุนหุ้น: PWIN และ PWINRMF มีสัดส่วนน้อยกว่า 0.1%
➢ มุมมองผู้จัดการกองทุน
บลจ. เชื่อว่า เหตุการณ์นี้ไม่ได้ส่งผลกระทบกับตลาดการเงินของจีนโดยรวม ทั้งนี้กองทุน PWIN, PWINRMF และ PWINRMF มีการลงทุนใน Evergrande ในสัดส่วนที่น้อย หากเหตุการณ์เกี่ยวกับบริษัทมีแนวโน้มแย่ลง และกองทุนต่างประเทศไม่ได้ทำการลดสัดส่วนเพิ่มเติม กองทุนยังคงได้รับผลกระทบจำกัด
การที่ราคากองทุนปรับตัวลงช่วงนี้ ไม่ได้มีสาเหตุหลักจากสัดส่วนหุ้นของ Evergrande แต่เป็น sentiment ของตลาดในสถานการณ์ที่มีข่าวเชิงลบ บลจ. มองว่าการกระจายการลงทุน และการเน้นลงทุนในธีมที่ได้ประโยชน์ระยะยาว ยังสามารถทำให้กองทุนไปต่อได้
ที่มา: https://www.facebook.com/phillipasset/photos/a.111377747646798/212172887567283/
—
🇨🇳 บลจ. วรรณ (ONEAM)
➢ กองทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนใน Evergrande
⁃ กองทุนหุ้น: ONE-CHINA มีสัดส่วน 0.06%
➢ มุมมองผู้จัดการกองทุน
สำหรับกองทุน ONE-CHINA กองทุนลงทุนใน H-shares ETF ซึ่งเป็นกองทุนรวมดัชนี จึงมีการลงทุนในหุ้น Evergrande โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 17 ก.ย. 64 กองทุนถือครองหุ้น Evergrande อยู่ 0.06% หรือประมาณ 4,500 บาท จากมูลค่ากองทุน 7.45 ล้านบาท ซึ่งไม่มีนัยสำคัญโดยตรงต่อพอร์ตการลงทุน
ที่มา:https://www.one-asset.com/th/fundrecomm/detail/45?fbclid=IwAR1UjKoiHuDS49YXEN8MTIyinPq7OcI8zbz6fZ9fqvm2FXQy8SEdtmVZNdY
—
🇨🇳 บลจ. เอ็มเอฟซี (MFC)
➢ กองทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนใน Evergrande
⁃ กองทุนผสม: MCBOND มีสัดส่วน 0.14%
➢ มุมมองผู้จัดการกองทุนหลัก BGF China Bond Fund
แม้จะมีข่าวเชิงลบกรณีของ Evergrande ออกมาในช่วงต้นเดือน แต่ผลการดำเนินงานของกองทุนตั้งแต่ต้นเดือนยังค่อนข้างทรงตัว จากการที่กองทุนได้ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกู้ภาคอสังหาริมทรัพย์ ฝั่งตลาดนอกประเทศจีน (Offshore High Yield Property) ในช่วงครึ่งแรกของปีจากระดับ 30% เป็น 20% ช่วยลดผลกระทบจากการขาดทุนในตลาดนอกประเทศจีน (Offshore) ได้บางส่วน นอกจากนี้กองทุนมีสถานะการลงทุนใน Evergrande ไม่มาก จึงได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ค่อนข้างจำกัด
BGF มองเหตุการณ์ sell-off เพื่อลดความเสี่ยงของสถาบันการเงินในวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับตราสารหนี้ตัวอื่น ๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์มากนัก และหากเกิดกรณีเลวร้ายขึ้นเชื่อว่าจะมีแรงเทขายออกมาอย่างรวดเร็วและกินระยะเวลาเพียงแค่สั้น ๆ ไม่ได้ยืดเยื้อ BGF มองหุ้นกู้อสังหาริมทรัพย์ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ B ในบางบริษัทยังมีสภาพคล่องที่ดีอยู่ และมีกระแสเงินสดเพียงพอที่จะชำระคืนหนี้ แต่อย่างไรก็ตาม BGF ยังคงระมัดระวังในการลงทุนหุ้นกู้เหล่านี้อย่างใกล้ชิด
➢ มุมมองผู้จัดการกองทุน
ประเด็นปัญหาหนี้ของ Evergrande เป็นความเสี่ยงเฉพาะตัวของบริษัทไม่ใช่ ความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อตลาดทั้งระบบ (Systematic Risk) ประกอบกับราคาหุ้นกู้ของ Evergrande ที่ปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก ได้สะท้อนความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ไปในระดับหนึ่งแล้ว รวมถึงการที่กองทุนหลักมีสถานะการลงทุนใน Evergrande เพียงแค่ 0.14% ( ณ วันที่ 9 ก.ย.) จึงมองผลกระทบมีค่อนข้างจำกัด
—
🇨🇳 บลจ. ทิสโก้ (TISCO)
➢ กองทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนใน Evergrande
⁃ กองทุนหุ้น: TISCOH มีสัดส่วน 0.1%
➢ มุมมองผู้จัดการกองทุน
เบื้องต้นหุ้น Evergrande มีองค์ประกอบอยู่ในดัชนี HSCEI ราว 0.1% ซึ่งเป็นดัชนีที่กองทุน TISCOCH ใช้เป็นเกณฑ์การลงทุน บลจ.มองว่ามีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะเข้ามา Bailout บางส่วน เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิด Spillover Effect ที่จะกระทบต่อประชาชนทั่วไปในวงกว้าง โดยอย่างน้อยอาจเลือกช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชน และด้วยน้ำหนักการลงทุนที่น้อยอยู่แล้ว ทำให้ส่งผลกระทบต่อกองทุนในวงจำกัด
—
🇨🇳 บลจ. บีแคป (BCAP)
➢ กองทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนใน Evergrande
⁃ กองทุนหุ้น: BCAP-CLEAN มีสัดส่วน 0.14%
➢ มุมมองผู้จัดการกองทุน
กองทุน BCAP-CLEAN มีการถือครองหุ้น Evergrande ผ่านการลงทุนในกองทุน KraneShares MSCI China Clean Technology Index ETF จากธุรกิจก่อสร้าง Green Building ของ Evergrande แต่สัดส่วนของหุ้น Evergrande มีอยู่เพียง 0.14% ทำให้การปรับลดลงของราคาหุ้นไม่มีนัยสำคัญกับผลตอบแทนของกองทุน BCAP-CLEAN ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา
สำหรับกองทุน BCAP-GMA และ BCAP-GMA Plus ที่เพิ่งสิ้นสุดช่วง IPO และจะเริ่มเข้าลงทุนในสัปดาห์หน้าจะไม่มีการลงทุนในหุ้นกู้และหุ้นสามัญของบริษัท Evergrande ที่มีนัยสำคัญเกิน 0.01% ของพอร์ตการลงทุน
กองทุนรวมของบลจ. ไม่มีการลงทุนในหุ้นกู้บริษัทในเครือ Evergrande หรือหุ้นกู้เอกชนภาคอสังหาริมทรัพย์จีนอื่นๆ ทำให้ความเสี่ยงของการปรับตัวลงและโอกาสผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้ในเครือ Evergrande ไม่มีผลกระทบต่อกองทุนของ บลจ. โดยตรง
—
🇨🇳 บลจ. กสิกรไทย (K Asset)
➢ กองทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนใน Evergrande
⁃ กองทุนหุ้น: K-ASIAX มีสัดส่วน 0.00844%
⁃ กองทุนหุ้น: K-WORLDX มีสัดส่วน 0.00844%
⁃ กองทุนหุ้น: K-GLOBE มีสัดส่วน 0.0005%
⁃ กองทุนผสม: K-GA มีสัดส่วนน้อยกว่า 0.02%
➢ มุมมองบลจ.
ในระยะสั้น ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นในกลุ่มอสังหาฯจากการที่สภาพคล่องมีความตึงตัวและความกังวลของนักลงทุน ทั้งนี้ภาคอสังหาฯคิดเป็น 3.8% ของดัชนี MSCI China ขณะที่ Evergande แม้จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่แต่ก็มีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 4% เท่านั้น เพราะตลาดอสังหาในจีนค่อนข้างกระจายตัวอย่างมาก
คำแนะนำการลงทุน: ยังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อหุ้นจีนอยู่ เนื่องจากมองว่าปัญหาในระยะสั้นที่น่าจะสามารถควบคุมผลกระทบได้ และความพยายามในการลด leverage ลงจะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจในระยะยาว
➢ มุมมองผู้บริหาร
นายวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) มองว่าปัญหาหนี้สินของ Evergrande จะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อกองทุนในไทย เนื่องจาก กองทุนไทยมีการลงทุนในตราสารหนี้ของ Evergrande ค่อนข้างน้อย คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% และทุกกองทุนมีการกระจายการลงทุนค่อนข้างมาก โดยกองทุนของบลจ.กสิกรไทย ไม่มีการลงทุนในตราสารหนี้ของ Evergrande เลย
ที่มา: https://www.facebook.com/kasikornasset/photos/a.265572630314697/1876231085915502/
—
🇨🇳 บลจ. ยูโอบี (UOBAM)
➢ ไม่มีกองทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนใน Evergrande
➢ มุมมองบลจ.
สำหรับพอร์ตการลงทุนตราสารหนี้ บลจ.ได้ใช้แนวทางการลงทุนอย่างระมัดระวังโดยเฉพาะในส่วนของผู้ออกตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield) ที่ไม่ได้ออกหรือจัดตั้งขึ้นในประเทศสิงคโปร์
นอกจากนี้ บลจ. ได้ทยอยปรับลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้จีนเพื่อหลีกเลี่ยงความผันผวนของตลาดที่เพิ่มขึ้น แม้ว่ากลุ่มตราสารหนี้ดังกล่าวจะมีอันดับความน่าเชื่อถือในการลงทุนอยู่ในระดับสูงก็ตาม ความผันผวนที่กล่าวมารวมถึง มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐต่อผู้ออกตราสารที่มีความเกี่ยวข้องกับทางการทหารของจีน และการที่ทางการจีนมีมาตรการในการสร้าง “ความมั่งคั่งส่วนรวม (Common Prosperity)” ซึ่งก่อให้เกิดความไม่แน่นอนต่อการดำเนินธุรกิจในบรรดากลุ่มบริษัทและกลุ่มอุตสาหกรรมบางกลุ่ม
สัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทจีน รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนได้ถูกปรับลดลงตามลำดับ และทาง บลจ.จะยังคงมองหาโอกาสการลงทุนที่เหมาะสมในจีนเมื่อสถานการณ์การลงทุนเอื้ออำนวย
—
🇨🇳 บลจ. วี (We Asset)
➢ ไม่มีกองทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนใน Evergrande
➢ มุมมองผู้จัดการกองทุน WE-CHIG
อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบจากกรณี Evergrande โดยมีการเทขายหุ้นกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาฯ ในวงกว้าง ทำให้หุ้น KWG ที่กองทุนถือปรับตัวลงเช่นกัน และฟื้นตัวกลับมาเล็กน้อย ทั้งนี้ KWG เป็นอสังหาฯ คุณภาพสูงอยู่ใน Greater Bay Area (Silicon Valley of China) ซึ่ง ผจก. กองทุนเชื่อว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ยังเติบโตได้ดี รวมถึง Trade Valuation ที่มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลในระดับ High Single Digit ยังสามารถรองรับผลกระทบจากตลาดในช่วงนี้ได้
ในพอร์ตของกองทุน ผจก. กองทุนเน้นเลือกหุ้นที่มีธุรกิจสอดคล้องกับนโนบายการสนับสนุนของภาครัฐ โดยหุ้นขนาดเล็กเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากความกังวลด้านกฎระเบียบที่รัฐบาลจีนมุ่งเป้าไปยังหุ้นขนาดใหญ่
สำหรับการปรับตัวลงของตลาด ผจก. กองทุนคาดว่าไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของ earning growth บริษัทในตลาด โดยพอร์ตการลงทุนของกองทุนมีระดับ estimated EPS growth 20-30% ในระยะ 3-5 ปี โดยยังเน้นหุ้น themes : technology upgrade, consumer, healthcare, clean energy
—
🇨🇳 บลจ. อเบอร์ดีน (Aberdeen)
➢ กองทุน ABAPAC และ ABCG ไม่มีกองทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนใน Evergrande
➢ มุมมองบลจ.
บลจ. มองว่า การปรับโครงสร้างหนี้ของ Evergrande เป็นตัวแปรหลักในการขับเคลื่อนความเชื่อมั่นของตลาดในวงกว้าง นักลงทุนจะมีปฏิกิริยาตอบสนองในทางที่ดี หากการปรับโครงสร้างใหม่เป็นไปอย่างมีระเบียบและแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ตั้งแต่เนิ่นๆ
ความเป็นไปได้มากสุดคือ การปรับโครงสร้างบริษัทให้เกิดระเบียบในหลายๆ ด้าน เพราะ Evergrande เป็นบริษัทขนาดใหญ่ในจีน ดังนั้นรัฐบาลจีนน่าจะต้องการหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจแพร่กระจายเป็นวงกว้างจากการจัดการที่ไม่เป็นระเบียบ
—
🇨🇳 บลจ. พรินซิเพิล (PRINCIPAL)
➢ ไม่มีกองทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนใน Evergrande
ที่มา: https://www.principal.th/th/China-Equity-Market-and-PRINCIPAL-CHEQ-Portfolio-Update
—
🇨🇳 บลจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LHFUND)
➢ ไม่มีกองทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนใน Evergrande
ที่มา: https://www.facebook.com/LHFundAM/photos/a.1088253337899808/4504915736233534/
—
🇨🇳 บลจ. แอสเซท พลัส (Asset Plus)
➢ ไม่มีกองทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนใน Evergrande
ที่มา: https://www.facebook.com/aspfund/photos/a.129242758837501/382966546798453/
——————-
- Facebook: https://finno.me/the-opp-fb
- Youtube: https://finno.me/youtube-channel