การลงทุนใน Amazon และ Tesla ในวันที่ยังไม่มีใครรู้จักกลับกลายเป็นรางวัลที่สร้างชื่อให้กับ Baillie Gifford โด่งดังไปทั่วโลก James Anderson ผู้จัดการกองทุนและผู้ก่อตั้งกลยุทธ์การลงทุน Long Term Global Growth Strategy เป็นผู้ตัดสินใจลงทุนครั้งประวัติศาสตร์นี้
การตัดสินใจลงทุนใน Amazon เมื่อปี 2004 ต้องใช้เวลาอีกทศวรรษกว่าจะประสบผลสำเร็จ และแน่นอนว่าความอดทนก็มอบรางวัลชิ้นโต เพราะ Amazon ได้เติบโตขึ้นมาเป็น E-commerce ที่ประสบความสำเร็จที่สุด พร้อมสร้างปรากฏการณ์มากมายนับไม่ถ้วน
มุมมองและการบริหารที่ยอดเยี่ยมส่งให้ James Anderson ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้จัดการกองทุนที่ประสบความสำเร็จแห่งยุค ท่ามกลางกระแสความยากลำบากของกองทุนเชิงรุก (Active) ที่ต้องตอบโจทย์ทั้งสร้างผลตอบแทนให้เหนือกว่าดัชนีและค่าธรรมเนียม
James Anderson ยังบริหาร Scottish Mortgage Investment Trust ตั้งแต่ปี 2000 ซึ่งสร้างผลตอบแทนจนถึงวันนี้ได้กว่า 1,500% สูงกว่าดัชนีอ้างอิง FTSE All-World ที่มีผลตอบแทนเพียง 277%
ปรัชญาการลงทุนของ James Anderson ที่แฝงอยู่ภายใต้การลงทุนใน Amazon คือการมีมุมมองที่ดีต่ออนาคตอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งพัฒนาแบบยกกำลังของเทคโนโลยีจะผลักดันให้เกิดนวัตกรรม และผลตอบแทนส่วนใหญ่ของตลาดหุ้นมาจากหุ้นเพียงไม่กี่ตัว ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ได้ถูกพิสูจน์ว่าถูกต้องอีกครั้งกับการลงทุน Tesla ตั้งแต่ช่วงที่โลกไม่เชื่อว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามาในชีวิตประจำวันได้
แต่ James Anderson กำลังจะเกษียณในเดือนเมษายนปีหน้า ด้วยผลงานตลอดสองทศวรรษที่โดดเด่นและขนาดสินทรัพย์ที่ใหญ่ขึ้นมาก จึงก่อเกิดคำถามว่า Baillie Gifford จะยังคงผลงานและมุมมองอันเฉียบคมอย่างที่เป็นมาได้หรือไม่?
“นักลงทุนที่แท้จริง จะมีมุมมองระดับทศวรรษมิใช่ไตรมาส” ปรัชญานี้ถูกแขวนอยู่หน้าประตูสำนักงานในเมือง Edinburgh ที่ซึ่งมีบรรยากาศเหมือนห้องสมุดมากกว่าจะเป็นชั้นซื้อขายหุ้นแสนวุ่นวาย
ปี 2004 James Anderson รื้อระบบการลงทุนของ Baillie Gifford ด้วยการยกเลิกตำแหน่ง CIO และคณะกรรมการลงทุนแบบ Top-down โดยภารกิจสำคัญเป็นการลงทุนแบบระยะยาวอย่างแท้จริง เน้นมุมมองระดับโลก และไม่เคลื่อนไหวตามดัชนีตลาดหุ้น
Baillie Gifford เปลี่ยนกรอบเวลาการลงทุนจาก 2-3 ปี เป็น 5-10 ปี เน้นการมองถึงโอกาสการเติบโตของบริษัทมากขึ้น ไม่ให้น้ำหนักกับปัจจัยรบกวนระยะสั้นต่อผลประกอบการและการประเมินมูลค่า
Hendrik Bessembinder ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยรัฐ Arizona ผู้พบว่า “มีเพียง 4% ของหุ้นในตลาดเท่านั้น ที่สร้างความมั่งคั่งสุทธิทั้งหมด” เป็นผู้สร้างอิทธิพลสำคัญต่อปรัชญาการลงทุน ทำให้ผู้จัดการกองทุน ต้องค้นหาหุ้นเหล่านั้นให้เจอ ส่วนที่เหลือปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผลตอบแทนแบบทบต้น
ท่ามกลางกระแสการลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ Baillie Gifford เริ่มเปลี่ยนความสนใจจากหุ้นสหรัฐฯ มาสู่หุ้นจีนมากขึ้น Tom Slater ผู้บริหารกองทุนร่วมกับ James Anderson ตั้งแต่ปี 2015 และกำลังก้าวขึ้นมาแทน James Anderson ภายหลังการเกษียณ กล่าวว่า จากประสบการณ์การลงทุนใน Tencent พบว่า เขาต้องเพิ่มความเชื่อมั่นในบริษัทมากขึ้น แม้บางอย่างจะดูเป็นไปไม่ได้ แต่ในประเทศจีนมันคือเรื่องที่เป็นไปได้
เมื่อครั้งได้พบกับ Wang Xing ผู้ก่อตั้ง Meituan แอปพลิเคชั่นส่งอาหารชื่อดังของจีน ที่เคยวาดภาพที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ ว่าบริษัทจะสามารถส่งอาหารกว่าสิบล้านรายการต่อวัน แต่สุดท้ายบริษัทก็ประสบความสำเร็จ ก้าวข้ามเป้าหมายนั้นไปเรียบร้อยแล้ว
ปัจจุบันความเสี่ยงด้านการเมืองระหว่างประเทศและการตรวจสอบของรัฐ เป็นปัจจัยที่รบกวนการลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีจีน แต่ Tom Slater กลับมองว่าความเสี่ยงการเมืองระหว่างประเทศเป็นปัญหาทุกที่ ไม่เฉพาะแค่ประเทศจีน ขณะเดียวกันก็ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าแนวทางการพัฒนาแบบตะวันตก จะเป็นเพียงแนวทางเดียวของโลก หรือเป็นแนวทางที่ดีที่สุด
การลงทุนใน Meituan, ByteDance และ Alibaba ตั้งแต่วันที่ยังเป็นแค่บริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ (Private Company) ในรูปแบบ Venture Capital และสร้างผลตอบแทนนับจาก IPO กว่า 319% พิสูจน์รากฐานปรัชญาของ James Anderson ได้เป็นอย่างดี กลายเป็นความนิยมจนมีเงินลงทุนไหลเข้ามาจำนวนมหาศาล และนำไปสู่คำถามว่า “เมื่อไรที่ Baillie Gifford จะเปิดรับเงินลงทุนใหม่?”
ทาง Stuart Dunbar หนึ่งในทีมงานของ Baillie Gifford กล่าวว่า หากไม่สามารถนำเงินไปลงทุนในไอเดียการลงทุนที่ดีที่สุดก็จะปิดรับเงินลงทุนใหม่ แต่ตอนนี้ยังห่างไกลจากสิ่งนั้นเพราะยังมีไอเดียลงทุนที่ดีมากมาย
ส่วนอัตราเงินเฟ้อแม้จะสร้างแรงกดดันต่อหุ้นกลุ่มเติบโต แต่ Tom Slater กลับมองว่ามีโอกาสลงทุนหุ้นเติบโตมากมาย โดยชี้ว่ายังมีอีกหลายภาคส่วนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสิ่งนี้ เช่น พลังงานสะอาด เทคโนโลยีตัดต่อยีนส์ ไบโอเทคโนโลยี หุ่นยนต์ส่งอาหาร ซึ่ง Baillie Gifford ก็ไม่พลาดการลงทุนในกลุ่มเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น Moderna ผู้ผลิตวัคซีนชื่อดัง, Northvolt บริษัทพัฒนาแบตเตอรี และ Illumina ที่หันมาพัฒนาการตัดต่อยีนส์
Baillie Gifford มีความเป็นอิสระสูงโดยมีหุ้นส่วน 47 คน ซึ่งก็คือพนักงานระดับสูงขององค์กร ไม่มีผู้ถือหุ้นจากภายนอกที่ต้องการเงินปันผลหรือตั้งเป้าการเติบโต วัฒนธรรมการเป็นหุ้นส่วนนับเป็นอีกสิ่งที่ Baillie Gifford ทำได้อย่างโดดเด่น ส่งเสริมให้มีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของธุรกิจและผลักดันให้ทำทุกสิ่งอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการตัดสินใจด้วยมุมมองระยะยาว และขจัดสิ่งรบกวนระยะสั้น การเข้าเป็นหุ้นส่วนต้องได้รับการโหวตประจำปีของหุ้นส่วนเดิม และต้องได้รับคะแนน 2 ใน 3
พนักงานส่วนใหญ่ของบริษัทผ่านการคัดเลือกผ่านหลักสูตรที่มีการแข่งขันสูง และได้รับการฝึกอบรมในองค์กร ด้วยการหมุนเวียนไปยังหลากหลายแผนก มีเพียง 10 จาก 2,721 คน เท่านั้นที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่ทีมการลงทุนในปี 2020 โดยบริษัทต้องการผู้ที่มีความใฝ่รู้และจินตนาการ และดูเหมือนว่าความรู้ด้านการเงินและเศรษฐศาสตร์แทบจะไม่สำคัญ
ที่ผ่านมา Baillie Gifford แทบจะไม่มีความเสี่ยงให้ตำหนิมากนัก แต่ James Anderson กลับมองว่าความเสี่ยงใหญ่ที่สุดของบริษัท มาจากปัจจัยภายใน โดย Baillie Gifford จะต้องรักษาความสนใจอย่างมากอยู่กับการลงทุน และทบทวนทุกสิ่งที่รู้เกี่ยวกับการลงทุน
ในประเทศไทยมีกองทุนรวมที่ลงทุนผ่านกองทุนของ Baillie Gifford มากมาย ซึ่ง FINNOMENA Investment Team แนะนำศึกษากองทุน ONE-UGG-RA เพิ่มเติมสำหรับหุ้นเติบโตทั่วโลก หรือหากแบ่งภูมิภาคที่น่าสนใจ จะมีกองทุน KF-US สำหรับหุ้นเติบโตสหรัฐฯ กองทุน ASP-EUG สำหรับหุ้นเติบโตภูมิภาคยุโรป และกองทุน M-EM สำหรับหุ้นเติบโตภูมิภาคตลาดเกิดใหม่
ที่มาบทความ: https://www.facebook.com/finnomenaopportunity/posts/187632543309691
คำเตือน
ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุนโดยเฉพาะนโยบายกองทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุน โดยสามารถขอข้อมูลจากผู้แนะนำก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FINNOMENAPORT”