สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน อาจทำให้แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed เดือน มี.ค. ซับซ้อนมากขึ้น
วิกฤติยูเครนได้ผลักดันราคาน้ำมันและแก๊สโซลีน จากความกังวลว่าการที่รัสเซียบุกรุกยูเครน รวมถึงการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร อาจนำไปสู่ซัพพลายที่ขาดแคลน ซึ่งนั่นจะส่งผลกระทบต่อชาวอเมริกันจำนวนมาก
นอกจากจะเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ในน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รัสเซียยังเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีและแพลเลเดียมรายใหญ่ รวมถึงยังเป็นผู้ส่งออกรายสำคัญในนิกเกิล อะลูมิเนียม และโลหะอื่นๆ
Moody’s Analytics กล่าวว่า ประเด็นสำคัญคือน้ำมัน โดยราคาน้ำมันน่าจะขึ้นมาอีก $10 หรือ $15 ต่อบาร์เรล หรือคิดเป็นประมาณ 0.5% ของอัตราเงินเฟ้อ นั่นจะไปเพิ่มความซับซ้อนของ Fed ที่กำลังพยายามกลับไปสู่ระดับการจ้างงานเต็มที่ และควบคุมเงินเฟ้อที่ตอนนี้อยู่ที่ระดับ 7.5% แล้ว
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเห็นตรงกันว่า ราคาน้ำมันจะตัวขับเคลื่อนนโยบายของ Fed โดยราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นจะเป็นตัวเร่งเงินเฟ้อในช่วงแรก และค่อยๆ นำมาสู่ภาวะเงินเฟ้อที่ลดลง (Disinflationary) หากราคาน้ำมันยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง และไปชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจ
ก่อนหน้านี้ตลาดคาดว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 25 bps ในเดือน มี.ค. แต่วิกฤตยูเครนทำให้นักวิเคราะห์บางส่วนรวมถึง Citi ปรับขึ้นคาดการณ์ว่า Fed จะมีมุมมองที่เข้มงวดมากขึ้น และขึ้นดอกเบี้ยที่ 50 bps ในเดือน มี.ค.
แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed เริ่มไม่ค่อยชัดเจน เพราะบางส่วนมองว่าความกังวลในการเติบโตที่ช้าลงอาจทำให้ Fed ลดความเร็วในการขึ้นดอกเบี้ย แต่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่า Fed อาจดำเนินนโยบายเข้มงวดมากกว่าเดิมเพื่อรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อ
Bruce Kasman จาก JPMorgan’s ชี้ให้เห็นว่า Fed ไม่เคยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเวลาที่ราคาน้ำมันกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งแน่นอนว่ามันจะเพิ่มแรงกดดันให้แก่ Fed โดยอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเองจะกลายเป็นปัญหาระยะกลางมากขึ้น
Bruce Kasman ยังกล่าวอีกว่า การดำเนินนโยบายเข้มงวดในเวลาที่อุปทานกำลังขาดแคลนอย่างหนัก จะยิ่งไปขยายผลกระทบด้านลบของฝั่งอุปทานต่อการเติบโต ซึ่งตลาดไม่ได้เห็นสิ่งนี้มาตั้งแต่สมัย Paul Volcker อดีตประธาน Fed ปี 1979-1987
——————-
- Facebook: https://finno.me/the-opp-fb
- Youtube: https://finno.me/youtube-channel