Analysis: เจาะพอร์ต กบข. ครึ่งปีแรกกำไร 3.68% กองทุนข้าราชการลงทุนหุ้นเด่น-ดัง ระดับโลกเพียบ

กบข. กองทุนที่เป็นความหวังของข้าราชการไทย ปัจจุบัน มีสมาชิกประมาณ 1.18 ล้านคน มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิประมาณ 1.12 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ 31 ส.ค. 2564) เปิดเผยผลประกอบการครึ่งแรกปี 2564 โดยแผนหลัก (GFP) ที่เป็นแผนการลงทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีสินทรัพย์ 4.24 แสนล้านบาท สร้างผลตอบแทนได้ 3.68%

กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยผลตอบแทนการลงทุนแผนหลักในช่วงครึ่งปีแรกในวันนี้ (7 ก.ย.) กองทุนสามารถสร้างผลตอบแทนได้ 3.68% สะท้อนกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงโดยเน้นลงทุนสินทรัพย์เติบโต (Growth assets) คาดครึ่งปีหลังเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง

ดร. ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า ผลการลงทุนของ กบข. ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 (ม.ค. – มิ.ย. 2564) กบข. สามารถสร้างผลตอบแทนแผนหลัก (ก่อนหักค่าใช้จ่าย) สูงถึง 3.68% โดยสินทรัพย์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงสุด 3 อันดับ ประกอบด้วย สินค้าโภคภัณฑ์ 26.2%  ตราสารทุนโลกตลาดพัฒนาแล้ว 13.1% และตราสารทุนไทย 9.0% สะท้อนการวางกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นลงทุนสินทรัพย์เติบโต ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา 

เมื่อดูจากสัดส่วนการลงทุน (ณ มิถุนายน 2564) พบว่ากองทุน กบข. ให้น้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์หลัก คือ

  • ตราสารหนี้ภาคเอกชนไทย 23.69%
  • ตราสารหนี้ภาครัฐไทย 22.35%
  • ตราสารทุนโลกตลาดพัฒนาแล้ว 10.18%
  • ตราสารทุนโลกตลาดเกิดใหม่ 4.80%
  • ตราสารทุนไทย 4.72%
  • อื่นๆ 34.26%

ขณะที่ สัดส่วนการถือครองหลักทรัพย์ตราสารทุน หรือหุ้น ในพอร์ตของ กบข. พบว่ามีรายชื่อหุ้นเป็นที่รู้จักในระดับโลกจำนวนมาก 

  • ตราสารทุนไทย 3 อันดับหลักทรัพย์ ที่มีสัดส่วนการถือครองสูงสุด ได้แก่ PTT, AOT และ ADVANC
  • ตราสารทุนโลกพัฒนาแล้ว 3 อันดับหลักทรัพย์ ที่มีสัดส่วนการถือครองสูงสุด ได้แก่ ALIBABA, FACEBOOK และ MICROSOFT
  • ตราสารทุนโลกตลาดเกิดใหม่ 3 อันดับหลักทรัพย์ ที่มีสัดส่วนการถือครองสูงสุด ได้แก่ TSMC, SAMSUNG และ TENCENT

สำหรับแนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 กบข. มองว่า เศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงต้องจับตามองคือ แผนการบริหารจัดการสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ (Tapering) แนวโน้มการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด และทิศทางของ yield พันธบัตรระยะยาวอายุ 10 ปี ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดทุนและตลาดเงินทั่วโลก นอกจากนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ทำให้ความสำคัญของกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงมีความจำเป็นอย่างมาก กบข. จึงวางกลยุทธ์การลงทุนโดยปรับลดระยะเวลาการถือครองพันธบัตรเพื่อป้องกันความเสี่ยง และปรับลดอัตราการป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับมุมมองเงินบาทที่อ่อนค่าลง

ทั้งนี้คาดการณ์ว่าในไตรมาส 4 ปีนี้ ตัวเลขการส่งออกของไทยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า อาจส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นมาได้ ผนวกกับเป็นช่วงที่ไทยจะมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนได้มากขึ้น และในปี 2565 นักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับเข้ามาในประเทศได้ ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น และเศรษฐกิจจะกลับมาขับเคลื่อนได้อีกครั้ง

อ้างอิง: กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

——————-

👍 อย่าลืมกดไลก์ Page The Opportunity เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสด้านการลงทุน
TSF2024