Analysis: ลอกแผน GPIF กองทุนบำนาญใหญ่ที่สุดในโลก โต 25% ในหนึ่งปี เน้นกลยุทธ์ หุ้น-ตราสารหนี้ 50:50 ล่าสุด เทขายบอนด์สหรัฐฯ ซื้อบอนด์ยุโรป

กองทุนบำเหน็จบำนาญรัฐบาลญี่ปุ่น (GPIF) ซึ่งเป็นกองทุนบำนาญที่ใหญ่ที่สุดในโลก รายงานผลตอบแทนกองทุนปี 2020 (สิ้นสุด มี.ค. 2021) ปรากฏว่าสามารถสร้างผลตอบแทนได้ถึง 25.15% ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมทั้งหมด 1.7 ล้านล้านดอลลาร์

ตามนโยบายบริหารกองทุน ที่ลงทุนในสินทรัพย์ 4 ประเภท ด้วยน้ำหนักเท่ากันคือ อย่างละ 25% ได้แก่ ตราสารหนี้ในประเทศ, ตราสารหนี้ต่างประเทศ, หุ้นในประเทศ และ หุ้นต่างประเทศ

ในรอบปีบัญชีที่ผ่านมา GPIF สามารถสร้างผลตอบแทนบวกได้ 25.15% แบ่งเป็นผลตอบแทนรายสินทรัพย์คือ

  • ตราสารหนี้ในประเทศ ผลตอบแทน -0.68%
  • ตราสารหนี้ต่างประเทศ ผลตอบแทน  +7.06%
  • หุ้นในประเทศ ผลตอบแทน +41.55%
  • หุ้นต่างประเทศ ผลตอบแทน +59%

🇯🇵  ตราสารหนี้สหรัฐฯ หมดความน่าสนใจ!? ลดสัดส่วนตราสารหนี้สหรัฐฯ จาก 47% เหลือ 35% หันไปลงทุนตราสารหนี้ยุโรปเพิ่ม

ในรายงานผลการดำเนินงาน GPIF ได้ลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้สหรัฐฯ ของปีงบประมาณที่แล้ว หลังทั่วโลกมีการเทขายสินทรัพย์ที่ปลอดภัยที่สุดในโลกอย่างตราสารหนี้รัฐบาล

ข้อมูลจาก Bloomberg ชี้ว่า GPIF กองทุนบำนาญที่ใหญ่ที่สุดในโลก ลดน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้สหรัฐฯ จากสัดส่วนการลงทุน 47% ในวันที่ 30 มี.ค. เหลือเพียง 35% ของการถือครองตราสารหนี้ต่างประเทศทั้งหมด 

กองทุนเริ่มปรับพอร์ตการลงทุนมาเกิน 1 ปีแล้ว โดยแผนการลงทุนใหม่ได้ลดการพึ่งพาตราสารหนี้ของรัฐบาลญี่ปุ่นลง แล้วไปลงทุนในหุ้นรวมถึงตราสารหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้น

Bloomberg วิเคราะห์ว่าการปรับเปลี่ยนส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มการลงทุนในตราสารหนี้รัฐบาลในประเทศกลุ่มยุโรป มากกว่าที่จะเทขายตราสารหนี้ตลาดที่ราคาต่ำลง

ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมทั้งหมด 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ ของ GPIF ทำให้ความเห็นหรือปรับการลงทุนเพียงเล็กน้อยของ GPIF สะท้อนผ่านตลาดโลก

นักกลยุทธ์บางส่วนมองว่า การปรับลดสัดส่วนดังกล่าวเกิดจากผลตอบแทนที่ไม่ค่อยดีนักของตราสารหนี้สหรัฐฯ ในขณะที่บางส่วนมองว่านี่เป็นเพียงเรื่องบังเอิญจากการลดความเสี่ยงลงเพื่อให้สอดคล้องกับดัชนีโลกมากขึ้น

🇯🇵  GPIF บริหารพอร์ตตราสารหนี้ ผลตอบแทนชนะตลาดในปีที่แล้ว 

การถือครองตราสารหนี้สหรัฐฯ ของ GPIF พุ่งสูงขึ้นในปีก่อนหน้า โดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะสั้น สิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการวางแผนการลงทุนครั้งใหม่ โดยการเพิ่มการถือครองตราสารหนี้สหรัฐฯ ดังกล่าว เป็นการถือครองชั่วคราวแทนการถือเงินสด ก่อนที่กองทุนจะจัดสรรการลงทุนแบบถาวร

ในปีงบประมาณที่แล้ว GPIF มีผลตอบแทนจากตราสารหนี้ต่างประเทศอยู่ที่ 7.1% เมื่อเทียบกับดัชนี FTSE Russell’s World Government Bond ซึ่งมีผลตอบแทนอยู่ที่ 5.4% นี่แสดงถึงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบ 4 ปี เมื่อเทียบกับดัชนีชี้วัด

🇯🇵  GPIF ลดน้ำหนัก ตราสารหนี้สหรัฐฯ เพิ่มน้ำหนักตราสารหนี้ยุโรป

สัดส่วนการลงทุนของ GPIF ในตราสารหนี้ฝรั่งเศส, อิตาลี, เยอรมัน และสหราชอาณาจักร ล้วนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1.7% ในช่วง 12 เดือน จนถึงมีนาคม โดยมูลค่ารวมในการซื้อหลักทรัพย์เหล่านี้อยู่ที่ 5.72 ล้านล้านเยน (52,000 ล้านดอลลาร์) หลังจากปรับความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนและผลตอบแทนพันธบัตร

ขณะที่สัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้สหรัฐฯ ลดลง แต่  GPIF ได้เพิ่มการลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลกในปีงบประมาณที่แล้วอยู่ที่ 1.1 ล้านล้านเยน (10,000 ล้านดอลลาร์) หลังจากปรับความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนและผลตอบแทนพันธบัตร ทำให้มีการลงทุนสะสมทั้งหมดอยู่ที่ 17.5 ล้านล้านเยน (160,000 ล้านดอลลาร์)

แผนการลงทุน 5 ปี ของ GPIF ที่เริ่มขึ้นเมื่อ เมษายน 2020 มีจุดมุ่งหมายที่จะแบ่งสัดส่วนการลงทุน ระหว่างตราสารทุน และตราสารหนี้ ให้เท่ากัน รวมถึงแบ่งการลงทุนในประเทศ และต่างประเทศ ให้เท่ากันในแต่ละสินทรัพย์ ก่อนหน้านี้มีการถือพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ 35% ของการลงทุนทั้งหมด

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถือว่าคุ้มค่า โดยผลตอบแทนของทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ในปีงบประมาณที่ผ่านมาสามารถเอาชนะดัชนีชี้วัดเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี

มีการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในตราสารหนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี เคลื่อนไหวกรอบแคบช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณของกองทุน ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมา 100 BPS อยู่ที่ 1.7% ในช่วงครึ่งหลังของปีงบประมาณ

 🇯🇵  เมื่อ GPIF ขยับ กองทุนขนาดเล็กของญี่ปุ่นต้องทำตาม

กองทุนขนาดเล็กของญี่ปุ่นซึ่งมักลงทุนตาม GPIF กำลังพิจารณาการเปลี่ยนแปลงล่าสุดอย่างละเอียดถี่ถ้วน

Ayako Sera นักกลยุทธ์การตลาดจาก ธนาคาร Sumitomo Mitsui Trust ในโตเกียว กล่าวว่า GPIF มีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจลงทุนของกองบำนาญอื่นๆ ในญี่ปุ่น และสิ่งที่ GPIF ทำส่งผลกระทบต่อตลาด

Ayako Sera มองว่าความน่าสนใจในการลงทุนตราสารหนี้สหรัฐฯ ลดลง เพราะระดับผลตอบแทนปัจจุบันไม่สามารถชดเชยความเสี่ยงที่นักลงทุนจะได้รับจากอัตราแลกเปลี่ยน

ข้อมูลจากกระทรวงการคลัง ชี้ว่า ตั้งแต่เริ่มปีงบประมาณเมื่อวันที่ 1 เมษายน นักลงทุนญี่ปุ่นได้ขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รวมแล้วกว่า 24,000 ล้านดอลลาร์ โดยก่อนหน้านั้น 12 เดือน มีการขายออกไปกว่า 35,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเยอะสุดในรอบ 3 ปี

ที่มา: Bloomberg และ GPIF

——————-
👍 อย่าลืมกดไลก์ Page The Opportunity เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสด้านการลงทุน
TSF2024