8-for-success-02

ทำงานมาสิบปีกว่า ทั้งบริหารเงินลงทุนให้องค์กรใหญ่ และบริหารเงินลงทุนของตัวเอง พอจะเก็บเล็กผสมน้อยข้อคิดต่าง ๆ ออกมาเป็นหลักการ 8 ข้อให้กับชาวมนุษย์เงินเดือนได้ลองไปปรับใช้กับตัวเองได้ ลองดูกันว่า 8 ข้อนั้นคืออะไร ซึ่งขอบอกเลยว่า ไม่ชิว แต่ดีต่อชีวิตในระยะยาว

1. ทำงานประจำให้ก้าวหน้า – ตั้งใจทำงาน ให้มีผลงาน ให้ตำแหน่งก้าวหน้า จะได้มีเงินเดือนเพิ่มขึ้น มีเงินเหลือมาเติมเงินลงทุนมากได้มากขึ้นในอัตราที่สูงขึ้น … ที่สำคัญคือ ต้องมองการทำงานเป็นการพัฒนาตัวเองและสร้างประโยชน์ให้องค์กรไปพร้อมกัน

บางคนคิดว่าลงทุนอย่างเดียวล้วน ๆ จะไปได้เร็วกว่า ซึ่งในภาวะที่ตลาดพุ่งสุด ๆ มันก็อาจจะใช่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันไม่ใช่อย่างนั้นตลอดไป จะมีช่วงที่ตลาดซึมยาวให้เห็นกันอยู่เสมอในประวัติศาสตร์การเงินโลก ถ้าใครไม่มีรายได้อื่นในช่วงนั้น ชีวิตจะทุกข์มาก ครั้นจะกลับมาทำงานประจำ ก็ต่อติดยาก … การบินด้วยสองเครื่องยนต์ ย่อมมั่นคงและไปได้ไกลกว่ามีเครื่องยนต์เดียวแน่นอน ถึงคราวซวย เครื่องไหนดับไป ชีวิตก็ยังประคองตัวให้เดินหน้าต่อไปได้

แถมการทำงานประจำให้ตัวเองก้าวหน้า ยังเป็นการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) โดยรวมของประเทศชาติได้ด้วย ตัวเราเจริญ ประเทศก็เจริญ ธุรกิจก็กำไรดีขึ้น หุ้นก็ขึ้น … ลองคิดดูว่า ประเทศที่คนทำงานประจำไม่สนใจงาน มัวแต่สนใจเรื่องลงทุน แล้วตัวธุรกิจจริง ๆ จะเติบโตได้อย่างไร สุดท้ายเป็นการตัดอนาคตทั้งตัวเอง ประเทศชาติ และธุรกิจที่เราลงทุน

2. แสวงหาคุณวุฒิเพิ่มเติม – นอกจากปริญญาตามปกติแล้ว การสอบคุณวุฒิต่าง ๆ ในสายอาชีพยังช่วยต่อยอดงานประจำให้เดินหน้าได้เร็วขึ้นอีกระดับ เพราะเป็นส่วนเสริมให้เราเหนือกว่าคนที่มีวุฒิปริญญาตามปกติทั่วไป … ถ้าเป็นในสายการเงินการลงทุน การอดทนฝ่าฟันสอบคุณวุฒิ CFA หรือ CISA ก็จะช่วยเปิดโอกาสในสายงานได้อีกมาก แถมยังได้ความรู้เพิ่มเติมเป็นเรื่องเป็นราวระหว่างทางที่เตรียมตัวสอบด้วย … นอกจากนั้นยังมีการสอบใบอนุญาตต่าง ๆ เช่น การเป็นนักวิเคราะห์ การเป็นผู้ติดต่อกันนักลงทุน ซึ่งในบางตำแหน่งงาน ถ้าไม่มีใบอนุญาตบางประเภท ถึงกับห้ามทำงานกันเลยทีเดียว

คุณวุฒิหลายอย่าง เหนื่อยวูบเดียวในการได้มา แต่ใช้หากินได้ตลอดชีวิต … คุ้มสุด ๆ

3. แบ่งเงินมาลงทุนเพิ่ม – จากข้อ 1 . ถ้าเราก้าวหน้าในงานประจำ มีเงินเดือนเพิ่มขึ้น เราก็แบ่งเงินมาลงทุนได้มากขึ้น เงินเดือน 30,000 แบ่งมาลงทุน 75% ก็ได้แค่ 22,500 เงินเดือน 150,000 แบ่งมาลงทุน 30% ก็ได้ 45,000 แล้ว ทีเหลือก็สามารถใช้จ่ายยกระดับคุณภาพชีวิตได้ … แต่จริง ๆ แล้วอยากให้แบ่งเงินมาลงทุนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เท่าที่จะไม่บั่นทอนคุณภาพชีวิต (เช่น ป่วย แต่เงินอยู่ในหุ้นทั้งหมด ถอนมาจ่ายค่าหมอไม่ทัน … ต้องจ่ายค่าเทอมลูก แต่ซื้อหุ้นกู้ไว้เต็มเหนี่ยว กว่าจะได้เงินคืนก็อีกหลายปี … แบบนี้ มีเงินก็เหมือนไม่มี เพราะถึงคราวต้องใช้กลับใช้ไม่ได้)

การต่อยอดฐานะด้วยการเติมเงินใหม่ เป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดในการสร้างเงินลงทุนให้เติบโต … สมมติ เรามีเงินต้น 1,000,000 บาท และตั้งเป้าจะทำให้เงินเพิ่มขึ้นเป็น 1,300,000 บาท ในเวลาหนึ่งปี ถ้าหวังดอกผลจากเงินต้นล้วน ๆ จะต้องลุ้นให้ได้ผลตอบแทนสูงถึง 30% ซึ่งถ้าไม่ทุ่มเงินลงทุนไปในหุ้น ความหวังก็แทบจะไม่มี (ลงทุนในหุ้นกู้ได้อย่างมากก็ 5-6 % ต่อปี ยิ่งเงินฝากไม่ต้องไปคิด) และก็ไม่ใช่ว่า ทุ่มลงไปแล้วจะได้กำไรเสมอ โอกาสขาดทุนก็มีอยู่ … แต่เป้าหมายส่วนเพิ่ม 300,000 บาทที่เท่ากันนั้น หากเราเปลี่ยนเป็นการเติมเงินใหม่ จะใช้เงินแค่เดือนละ 25,000 บาท ซึ่งสำหรับคนเงินเดือน 5 หลักปลาย ๆ หรือ 6 หลักต้น ๆ เป็นสิ่งที่ควรจะทำได้อยู่แล้ว (ใครบอกว่า 25,000 เยอะจัง ทำไม่ได้หรอก เงินเดือนตอนนี้ไม่กี่หมื่นเอง ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีข้อ 1 และ 2 เป็นพื้นฐานไว้)

4. หาความรู้เรื่องลงทุนขั้นสูงขึ้น – การลงทุนที่ง่ายใคร ๆ ก็เข้าใจ ใคร ๆ ก็ทำได้ มักให้ผลตอบแทนต่ำ เช่น เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ กองทุนตราสารหนี้ แต่การลงทุนที่ซับซ้อนกว่า ที่ต้องใช้ความรู้วิชาการเป็นพื้นฐานด้วย ก็มักให้ผลตอบแทน (ที่คาดหวัง) สูงขึ้น เช่น การลงทุนในหุ้น ก็จะต้องเข้าใจภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ภาวะธุรกิจของหุ้นนั้น ๆ การประเมินมูลค่า การพิจารณาเปรียบเทียบความถูกแพง การดูแนวโน้มของตลาด หรือการลงทุนในอนุพันธ์ ก็จะต้องเข้าใจกลไกการทวีคูณของผลกำไรขาดทุน (Gearing) และยังต้องเข้าใจปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งโขยงของสินทรัพย์อ้างอิง (Underlying asset)

5. สนใจที่การได้กำไร มากกว่าการได้ของถูก – ในกรณีที่เราพอมีความรู้เรื่องการประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ และการเปรียบเทียบมูลค่าหลักทรัพย์กับหลักทรัพย์อื่น ๆ หรือตลาดโดยรวมมาบ้างแล้ว … หลายครั้งเรามักตัดสินใจลงทุนโดยการพิจารณาที่ความถูกหรือแพงของราคาหลักทรัพย์ในขณะนั้น โดยถือหลักว่า ถ้าถูกอยู่ คือดี น่าซื้อ และ ถ้าแพงไป คือ ไม่ดี น่าขาย หรือไม่น่าสนใจในตอนนี้  การคิดแบบนี้ก็ถูกอยู่บ้าง แต่ในความเป็นจริง เรากลับพบว่า สิ่งที่ิคิดว่าถูก มันกลับถูกลงไปได้อีก (ขาดทุนซ้ำซาก) หรือไม่ก็ถูกอยู่อย่างนั้น ไม่เคยขยับขึ้นมาแพงซักที (เงินจม) และในอีกด้านหนึ่ง สิ่งที่คิดว่าแพง ราคามันกลับขยับขึ้นไปเรื่อย ๆ (แพงแล้วยังแพงได้อีก) นั่นก็เพราะว่า ความถูกแพงนั้น เป็นเรื่อง “สองคนยลตามช่อง” แต่ละคนนิยามความถูกแพงไม่เท่ากัน การเอาความถูกแพง (ตามนิยามของเราเอง) เข้าว่า จึงเป็นการตัดสินใจแบบเอียงเข้าตัวเอง

การลงทุนที่ดีนั้น ต้องลงทุนแล้วได้กำไร ต่อให้ไม่ได้กำไรมหาศาลในเวลาอันสั้น ก็ต้องเห็นผลค่อย ๆ เพิ่มพูนตามเวลาที่ผ่านไป และการทำให้ได้เช่นนั้น เราต้องเข้าใจแนวโน้มของธุรกิจ ของยอดขาย ของกำไร ซึ่งจะส่งผลต่อไปถึงแนวโน้มของราคาหุ้นในที่สุด นั่นหมายความว่า ต่อให้เราเพิ่งมาเห็นธุรกิจที่ราคาหุ้นเริ่มจะแพงแล้ว แต่แนวโน้มยังมีความเติบโต มันก็มีโอกาสที่ราคาจะไปต่อได้ ซึ่งน่าลงทุนกว่าธุรกิจที่ซึม ๆ ราคาหุ้นถูกมาก แต่ไม่เห็นอนาคต

อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่า ให้ดูที่แนวโน้มธุรกิจและแนวโน้มราคาเพียงอย่างเดียว ความถูกแพงก็สำคัญเช่นกัน แค่ไม่ใช่ First Priority … การเข้าลงทุนในธุรกิจที่แนวโน้มยังดี ก็ดีแล้ว แต่การเข้าลงทุนในธุรกิจที่แนวโน้มดี แถมยังเป็นช่วงที่ราคายังไม่แพง นี่คือดีที่สุด

เหนืออื่นใด ฐานะความมั่งคั่งของเราจะขยับเพิ่มขึ้นได้ ก็เพราะราคาหลักทรัพย์ที่เราถืออยู่นั้นมันขยับขึ้น ต่อให้เรามั่นใจว่าในความคิดเราแค่ไหน แต่ถ้าเวลาผ่านไปเนิ่นนานแล้ว การลงทุนยังไม่ให้กำไรเป็นกอบเป็นกำเสียที เท่ากับการลงทุนนั้นผิดพลาด แม้จะไม่ขาดทุน แต่เสียโอกาสมากมายในการเอาเงินไปลงทุนในอย่างอื่นที่ดีกว่า … อย่าให้ ‘ซื้อถูกไว้ก่อน เดี๋ยวดีเอง’ เป็นข้ออ้างของการไม่เข้าใจแนวโน้มของสิ่งต่าง ๆ

6. เป็นคนฝีมือดี ดีกว่าเป็นคนโชคดี – ถ้าเราคิดดีคิดครบก่อนลงทุน ต่อให้บางครั้งโชคไม่เข้าข้าง ต้องเจอขาดทุนบ้าง แต่ในระยะยาวแล้ว ‘หลักค่าเฉลี่ย’ จะแสดงผลของมันออกมาแน่นอน คือเมื่อรวม ๆ กันในระยะยาว เราจะไปได้ดี … ในทางกลับกัน ถ้าเราไม่ทำงานหนัก ไม่หาข้อมูล แล้วลุ้นเอาง่าย ๆ ต่อให้บางครั้งโชคเข้าข้าง ได้กำไรงาม แต่ในระยะยาวแล้ว กำไรขาดทุนมันก็จะถัว ๆ กันไปตามหลักค่าเฉลี่ย ไม่ได้ไปไหนไกล

ดีที่สุดคือฝีมือดีและโชคช่วย แต่ในเมือเราควบคุมโชคไม่ได้ เราจึงต้องทำสิ่งที่เรากำหนดได้เองให้ดีที่สุด คือสร้างฝีมือให้ดี

7. ถ้าจะทำต้องให้สุด และให้ใหญ่ – เวลาในช่วงชีวิตของคนเรามีจำกัด ถ้าตกลงใจจะทำอะไรแล้ว ต้องทำให้สุดตัว ไปให้สุดทาง เรื่องเจ๋ง ๆ หลายอย่างถ้าจะทำให้สำเร็จ มันต้องการความพยายามขั้นสุด ไม่ใช่แค่ขั้นกว่า และถ้าเราเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราทำนั้นดี ก็ต้องคิดหาทางขยับขยายให้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ผู้คนวงกว้างในสังคมได้รับประโยชน์มากขึ้น เช่น สินค้าที่ดี บริการที่ดี ข้อมูลที่ดี

ของดี แต่ทำกันเล็ก ๆ ชิว ๆ มันก็น่าเสียดาย เช่น ทำเล็ก ๆ มีคนได้ใช้สินค้า/บริการ/ข้อมูล แค่ 100 คน แต่ถ้าทำใหญ่ ๆ ก็ได้ใช้กันทั้งประเทศ เป็นต้น … อย่าให้ ‘อยากทำแค่เล็ก ๆ’ เป็นข้ออ้างสุดคลาสิกของการฝันใหญ่แต่ไปไม่ถึง

8. มีเป้าหมายเป็นผลของงาน ไม่ใช่ตัวเงิน – ถ้าผลงานดี เดี๋ยวเงินมาเอง แต่ถ้าข้ามขั้นไปหมกมุ่นอยู่กับการคิดว่า ทำแล้วจะได้เงินแค่ไหนนะ ได้เงินแล้วจะเอาไปใช้อะไรดีนะ มันจะเสียสมาธิในการทำงานให้ดี ออกแนวฝันเฟื่อง งานยังไม่เกิด เงินจะมาได้ไง ดังนั้น อย่าข้ามขั้น

ส่วนใครจะมีข้อ 9 10 11 … มาช่วยเสริมต่อท้ายในคอมเม้นท์ก็ไม่ขัดข้องและยินดีมากครับ 🙂