Sunk-Cost-02

ต้นทุนจม (Sunk Cost) คือ ต้นทุนที่เราจ่ายไปแล้วในอดีต และไม่ว่าปัจจุบันหรืออนาคตเหตุการณ์จะเปลี่ยนไปอย่างไร ก็ไม่สามารถเรียกต้นทุนส่วนนั้นคืนมาได้

เรื่อง Sunk Cost นี้สำคัญมากในการลงทุน เพราะการลงทุนคือการ “มองไปข้างหน้า” ว่าควรเดินหน้าต่อไปหรือไม่ หรือ ควรลงทุนเพิ่มอีกหรือไม่ แต่คนจำนวนมาก มักติดสินใจเดิืนหน้า หรือลงทุนเพิ่ม เพียงเพราะว่า “เสียดาย” Sunk Cost ที่ได้ลงไปแล้ว

เรื่อง Sunk Cost นี้ บางท่านเรียกว่า “Concorde Effect” เพราะมีที่มาจากกรณีศึกษาจริงของการสร้างเครื่องบิน Concorde ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศสที่สุดท้ายไปไม่รอดเพราะไม่คุ้มทุนทั้งผู้ผลิตและผู้ให้บริการ แถมรัฐบาลทั้ง 2 ชาติเจ็บหนัก ก็เพราะตัดสินใจเดินหน้าต่อไปเรื่อย ๆ (ก่อนที่จะมายอมรับความจริงเอาตอนที่เจ๊ง) ด้วยเหตุที่ว่าได้ลงทุนไปเยอะแล้ว

ส่วนในชีวิตประจำวันทั่วๆ ไป เราสามารถพบเรื่องราวมากมายที่หมิ่นเหม่จะหลอกให้เราติดอยู่ในต้นทุนจม อาทิ

► ตั๋วหนังที่เราซื้อมาแล้ว เป็นต้นทุนจม เพราะไม่ว่าเราจะดูหรือไม่ได้ดู เราก็ขอเงินคืนไม่ได้

บางคนซื้อตั๋วมา แล้วก่อนหนังฉายเกิดมีธุระเร่งด่วนที่สำคัญกว่า แต่นึกเสียดายค่าตั๋ว ทิ้งธุระ เข้าไปดูหนัง แบบนี้แทนที่จะยอมเสียค่าตั๋วอย่างเดียว กลับต้องเสียงานสำคัญ ซึ่งเกิดความเสียหายมากกว่าราคาตั๋วหนังซะอีก

► ค่าก่อสร้างโรงงานส่วนที่ได้จ่ายไปแล้ว เป็นต้นทุนจม เพราะไม่ว่าโรงงานจะสร้างต่อจนเสร็จได้หรือไม่ เราก็ขอคืนเงินส่วนที่จ่ายไปแล้วไม่ได้

บางคนเริ่มก่อสร้างไปแล้ว เกิดพบว่าอุตสาหกรรมมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาก ทำต่อไปมีโอกาสเจ๊งสูง แต่นึกเสียดายค่าก่อสร้าง ใส่เงินลงไปเรื่อยๆ แบบนี้แทนที่จะเสียแค่ส่วนที่จ่ายไปแล้ว หยุดสร้าง กลับต้องเสียหายทั้งหมด

► เงินที่เราลงไปแล้วในเกมส์ไพ่โปกเกอร์ (มองเป็น Game of calculated-risk & reward) เป็นต้นทุนจม เพราะไม่ว่าโอกาสในการชนะหรือแพ้ในตานี้จะเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อเปิดไพ่ออกมามากขึ้นๆ จนครบ 5 ใบ เราก็เรียกเงินส่วนที่ลงไปแล้วคืนมาไม่ได้

บางคนจั่วได้ไพ่ตั้งต้นดูดี จึงลงเงินไปเยอะ แต่พอเปิดไพ่มากขึ้นแล้วสถานการณ์แย่ลง โอกาสชนะลดฮวบ แต่กลับยังลงเงินตามผู้เล่นคนอื่นไปอีก เพราะเสียดายเงินที่ลงไปแล้ว แบบนี้แทนที่จะยอมเสียแค่ส่วนที่ลงไปตอนแรก คือหมอบ กลับต้องเสียเงินมากขึ้น บางคนถึงกับเทหมดหน้าตัก แล้วก็หมดตัว

► ต้นทุนหุ้นที่เราซื้อมานานแล้ว เป็นต้นทุนจม เพราะไม่ว่าเราจะเคยซื้อมันที่กี่บาท ก็ไม่ช่วยให้ฐานะของกิจการและความมั่งคั่งของเราในอนาคตดีขึ้นได้

บางคน ซื้อหุ้นมาราคาสูง ต่อมาสภาพแวดล้อมทางการแข่งขันเปลี่ยนไปในทางร้าย ราคาหุ้นตกลงเรื่อยๆ แต่ผู้ถือหุ้นยังไม่ลืมภาพต้นทุนสูงๆ ที่เคยซื้อ จึงทนถือไว้ แบบนี้แทนที่จะขาดทุนน้อย ด้วยการรีบขายไป เพราะรู้ตัวแล้วว่ามาผิดทาง แต่กลับปล่อยให้ขาดทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกินเยียวยา

 

สรุปก็คือว่า ประโยชน์หลักๆ ที่เราได้รับจากต้นทุนจม คือ ประสบการณ์ ที่ช่วยสอนให้เราไม่ทำผิดซ้ำ และ เหตุผลหลักๆ ที่เรายังยึดติดกับต้นทุนจม คือ “ความเสียดาย”

 

ที่ดีสุดคือ คิดให้ดีก่อนลงมือทำ แต่ถ้าทำไปแล้วมันเกิดผิดแผน ก็ต้องรีบปรับตัว มองไปข้างหน้า อย่าให้ความเสียดาย มาทำให้  “เสียหาย” เลยครับ 🙂

 

———–

อ้างอิงนิยาม: http://en.wikipedia.org/wiki/Sunk_costs

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีศึกษาเครื่องบิน Concorde: http://www.insight-bp.co.uk/2011/04/the-sunk-cost-fallacy และ http://www.skepdic.com/sunkcost.html