Run-Away-Bear-TIF-02

หุ้นไทยตกติดต่อกันหลายวัน เค้าว่ากันว่าแย่ แล้วมันแย่จริงมั้ย ? ลองมาแกะกราฟแกะข้อมูลสำคัญบางตัวดูกันดีกว่า จะได้รู้ชัดขึ้น

1. กำไรของหุ้นโดยรวม ๆ ใน SET Index

กำไรของกิจการ (Earning) เป็นตัวสะท้อนแนวโน้มของราคาหุ้นในระยะยาว ถ้าหุ้นไหนมีกำไรเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ก็พอจะแทงหวยได้ว่า ราคาหุ้นนั้นควรจะไต่ระดับขึ้นไปได้เรื่อย ๆ ตราบใดที่กำไรยังโตอยู่ … ซึ่งเจ้ากำไรที่ว่านั้น เราวัดกันในหน่วย “กำไรต่อหุ้น” … และในระดับตลาดโดยรวม จริง ๆ แล้วเราก็สามารถติดตามดูกำไรต่อหน่วยของดัชนีได้เช่นกัน โดยการเอาราคาดัชนีมาหารด้วย P/E Ratio ของดัชนี

[Index / (Price/Earning ratio)] และเมื่อ Price ก็คือ Index จึงตัดกันไปมาจนได้ค่า Earning ในที่สุด

screenshot.457

จากข้อมูลล่าสุด (11 ธ.ค. 58) จะเห็นว่า กำไรต่อหน่วยของ SET Index สาละวันเตี้ยลงเรื่อยมา นับตั้งแต่จุดสูงสุดเมื่อกลางปี 2013 ที่ระดับ 90 กว่า ๆ มาเหลือ 80 กว่า ๆ ในปี 2014 และล่าสุดหล่นพรวดลงมาเหลือ 57.18 ในช่วงปลายปี 2015 นี้ … แสดงให้เห็นว่า ผลประกอบการหุ้นไทยโดยรวมนั้น แย่ลงเรื่อย ๆ 

2. ความถูกแพงของดัชนีเมื่อวัดในรูปของ P/E Ratio

P/E Ratio หรือ Price per Earning Ratio เป็นตัวชี้วัดความถูกแพงของราคาหลักทรัพย์ที่ได้รับความนิยมสูง เนื่องจากความง่ายในการทำความเข้าใจ … ตัวเลขสูงกว่า ก็คือแพงกว่า และตัวเลขต่ำกว่า ก็คือถูกกว่า … แต่ในความง่ายนั้น ก็มีความยากซ่อนอยู่คือ ความถูกแพงนั้นค่อนข้าง Subjective คือสองคนยลตามช่อง บางคนว่า P/E 15 เท่าคือแพง แต่บางคนก็ว่าถูกพอใช้ได้แล้ว ดังนั้นการดูค่า P/E นั้น จึงไม่สามารถดูแต่ตัวเลขที่โชว์ขึ้นมาแล้วฟันธงไปเลยได้ ต้อง “เปรียบเทียบ” กับอะไรสักอย่างเสียก่อน แล้วค่อยฟันธง เช่น ถ้าเป็น P/E ของหุ้นรายตัว ก็ต้องเทียบกับตัวมันเองในอดีตก่อน ว่าที่ผ่านมาเคยอยู่แถวไหน และยังควรเทียบกับเพื่อน ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันด้วย ว่าหุ้นเรานั้นมัน “แตกแถว” ไปจากเพื่อน ๆ จนผิดสังเกตหรือเปล่า … SET Index โดยภาพรวมก็เช่นกัน สามารถเอาตัวเลข P/E จากอดีตจนถึงปัจจุบันมาช่วยให้ข้อมูลได้ว่า ตอนนี้มันถูกหรือแพง

 

screenshot.453

จากข้อมูลล่าสุด ก็จะเห็นว่า P/E Ratio ของ SET Index อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ นับจากพ้นยุควิกฤติแฮมเบอร์ในช่วงปี 2008-2009 เป็นต้นมา … P/E Ratio ที่ 22-23 เท่าในตอนนี้ จึงสามารถพูดได้ว่า “แพพพงงง มากกกก” เมื่อเทียบกับตัวมันเองในอดีต (ในยามวิกฤติช่วงปี 2008-2009 กำไรของหุ้นร่วงหนักมากก แต่ดัชนีร่วงตามไม่ทัน จึงทำให้ P/E ตอนนี้กระโดดขึ้นไปแบบพิสดาร ซึ่งไม่ควรเอามาเทียบกับตลาดในสถานการณ์ที่่ “ยังไม่วิกฤติ”)

3. แนวโน้มของดัชนีในกรอบเวลาต่าง ๆ

นักลงทุนในตลาดนั้นมาจากร้อยพ่อพันแม่ มีเงินหน้าตักไม่เท่ากัน มีจุดประสงค์ในการลงทุนต่างกัน ทำให้มีรูปแบบการลงทุนสั้นยาว ต่างกันไป การวิเคราะห์แนวโน้มของดัชนี จึงอาจจะเน้นไปที่กรอบเวลาลงทุนที่เราเองสนใจก็ได้ แต่ในที่นี้จะยกมาให้เห็นทั้ง 3 กรอบเวลา คือสั้น (หลายวัน) กลาง (หลายสัปดาห์) และ ยาว (หลายเดือน/เป็นปี ๆ) โดยใช้เครื่องมือ Moving Average Convergence Divergence หรือ MACD มาช่วยจับการเปลี่ยนทิศทางของแนวโน้ม  [ศึกษาเพิ่มเติมแบบถึงกึ๋น เกี่ยวกับ MACD ได้ที่นี่]

ดูตามกรอบเวลาระยะสั้น คือหนึ่งแท่งเทียนแสดงข้อมูลในระยะเวลา 1 วัน (Daily Time frame) จะเห็นว่า SET Index ร่วงไม่เป็นท่า เป็นแนวโน้มขาลงมาตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน (โดยให้สังเกตที่หัวลูกศร MACD ชี้ลง)

 

screenshot.454

• ดูตามกรอบเวลาระยะกลาง คือหนึ่งแท่งเทียนแสดงข้อมูลในระยะเวลา 1 สัปดาห์ (Weekly Time frame) จะเห็นว่า SET Index ก็ผลิตแท่งเทียนไหว้เจ้า (สีแดงยาว ๆ) มาได้ 3 สัปดาห์ติดกันแล้ว ทำให้แนวโน้มระยะกลางเป็นขาลงด้วย

screenshot.455

• ดูตามกรอบเวลาระยะยาว คือหนึ่งแท่งเทียนแสดงข้อมูลในระยะเวลา 1 เดือน (Monthly Time frame) เท่ากับว่า แค่ 12 แท่งก็แสดงข้อมูลได้เต็ม 1 ปีแล้ว ซึ่งน่าตกใจว่า แนวโน้มของ SET Index เมื่อมองกันในกรอบเวลานี้ เป็นขาลง (ดูที่หัวลูกศรชี้ลง) มาตั้งแต่ปลายปี 2014 นู่นแล้ว

screenshot.456

เมื่อนำทั้ง 3 ข้อมูล 5 กราฟมาพิจารณาประกอบกัน จึงพอจะเห็นภาพว่า

  1. ผลประกอบการที่เป็นเนื้อหนังของธุรกิจจริง ๆ ของหุ้นใน SET Index แย่ลงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา
  2. แต่ P/E Ratio กลับวิ่งสวนทางขึ้นไปอยู่ในระดับสูงมากเป็นประวัติการณ์
  3. แนวโน้มของตลาดหุ้นทุกกรอบเวลา สั้น กลาง ยาว เป็นขาลงแบบพร้อมหน้า เท่ากับว่า นักลงทุนเกือบทุกกลุ่ม ทั้งที่เทรดสั้น ถือเล่นรอบ และลงทุนยาว ต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่า “ตลาดไม่ดี” ซึ่งเท่ากับว่า “ขายหุ้นดีกว่าถือหุ้น”

ก็พอจะสรุปได้ว่า ช่วงนี้ ใครที่ลดสัดส่วนการถือสินทรัพย์ประเภทหุ้นลงได้ ก็จะเป็นการดี จะเสี่ยงน้อยลง มีโอกาสรักษาความมั่งคั่งไว้ได้มากกว่าคนที่มียังมีหุ้นเยอะ … และที่สำคัญ ใครที่เห็นสัญญาณการเปลี่ยนแนวโน้มของตลาด จากลงเป็นขึ้น (เช่น ดูจาก MACD Indicator) ได้ทันท่วงที และ “กล้าปรับพอร์ต” ตามข้อมูลที่ได้รับ ตอนนี้เขากำลังยิ้ม เพราะมีเงินเต็มมือ แค่รอเวลาดี ๆ ให้กลับเข้ามาซื้อใหม่เท่านั้น อย่างคนที่เล่นสั้น ถ้าดูตาม MACD เขาจะขายล้างพอร์ตไปนานแล้วตั้งแต่กลางเดือนก่อน เช่นเดียวกับคนที่เล่นรอบ หรือลงทุนยาว ถ้าดูตาม MACD เขาก็จะขายหุ้นออกไปนานแล้วเช่นกัน

คือเมื่อเจอตลาดหมี เป็นแนวโน้มขาลง ก็ควรมอบตัวให้ไว คือรีบขายของออกมา อย่าไปอมไว้ให้ขาดทุนหนักขึ้นเรื่อย ๆ

ส่วนจังหวะที่น่ากลับเข้าซื้อนั้น ยังบอกไม่ได้ และยังไม่มีใครรู้ เมื่อเหตุปัจจัยกลับมาเกื้อหนุน ราคาหุ้นโดยรวมเริ่มฟื้นตัว เมื่อไรก็เมื่อนั้นนั่นแหละ อย่าพยายามฝืน(ทำว่า)รู้ในสิ่งที่จริง ๆ แล้วไม่มีใครรู้  … ตามดูไปอย่างใกล้ชิด แล้วปรับตัวให้ทัน จะดีที่สุดครับ

หมายเหตุ:
• สัญญาณจาก MACD ในที่นี้ เกิดจาก Parameter ชุดหนึ่ง ซึ่งของแต่ละคนก็อาจตั้งค่าต่างกันไป จึงอาจแสดงผลไม่เหมือนกันก็ได้ และยังมีเครื่องมืออีกหลายอย่างที่ช่วยตรวจจับการเปลี่ยนแนวโน้มของราคาหุ้น/ดัชนี เจ้า MACD แค่เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ได้รับความนิยมเท่านั้นเอง เนื่องจากใช้ง่าย เข้าใจกลไกง่าย และให้สัญญาณค่อนข้างแม่นยำโดยเฉพาะเวลาที่ตลาดขึ้นแรงหรือลงแรง
• กราฟทั้งหมดจากบริการ Aspen