3 ขั้นตอนตรวจเช็กสุขภาพการเงินง่าย ๆ ด้วยตัวเอง

เข้าใกล้ช่วงสิ้นปีแล้ว หลายคนอยากสำรวจว่า 1 ปีที่ผ่านมา ตนเองมีอะไรบกพร่อง ต้องเสริม ต้องปรับ หรือแก้ไขในจุดไหนบ้าง วันนี้แอดมินขอนำเสนอการ “ตรวจเช็กสุขภาพการเงิน”

“สุขภาพการเงิน” (Money Fitness) คือ สภาวะทางการเงินที่เหมาะสมแก่การดำรงชีวิต เพียงพอ และเป็นพื้นฐานสู่ความมั่งคั่งได้ นอกจากนี้ ยังเป็นรากฐานความมั่นคงทางการเงินในอนาคตอีกด้วย โดยแอดมินสรุปวิธี “ตรวจสุขภาพการเงิน” แบบง่าย ๆ มาให้แล้ว ไปดูกันเลย!

1. เรามีทรัพย์สมบัติอะไรอยู่บ้าง?

ทรัพย์สินที่มีอยู่ปัจจุบัน = สินทรัพย์ – หนี้สิน

สินทรัพย์

  1. สินทรัพย์สภาพคล่อง ได้แก่ เงินสด และ บัญชีออมทรัพย์ 
  2. สินทรัพย์เพื่อการลงทุน ได้แก่ เงินฝากประจำ สลากออมทรัพย์ มูลค่าพอร์ตโดยรวม 
  3. สินทรัพย์ส่วนตัว ได้แก่ บ้าน รถยนต์ ของมีค่าต่าง ๆ (ผ่อนหมดแล้ว เราเป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์)

หนี้สิน

  1. หนี้สินระยะสั้น ได้แก่ หนี้บัตรเครดิต หนี้ผ่อนสินค้า หนี้บัตรเงินสดอื่น ๆ ซึ่งมีอายุไม่เกิน 1 ปี
  2. หนี้สินระยะยาว ได้แก่ หนี้เงินกู้บ้าน หนี้เงินผ่อนรถยนต์ ซึ่งมีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง เมื่อรวมสินทรัพย์ และ หนี้สินทั้งหมดแล้วของนาย A  มีสินทรัพย์ 10,000,000 บาท หนี้สิน 5,000,000 บาท

ทรัพย์สินที่มีอยู่ปัจจุบัน = 10,000,000 – 5,000,000 = 5,000,000 บาท

“ทรัพย์สินที่ควรมี” สามารถคำนวณได้ดังนี้ อายุ x รายได้ต่อปี x 10%

จากตัวอย่าง นาย A มีอายุ 30 ปี มีเงินเดือน 50,000 บาท (x 12 = 600,000 บาทต่อปี)

ทรัพย์สินที่นาย A ควรมี = 30 x 600,000 x 10/100 = 1,800,000 บาท

จากทรัพย์สินที่มีอยู่ปัจจุบัน เทียบกับ ทรัพย์สินที่ควรมี (5,000,000 : 1,800,000)

หมายความนาย A มีทรัพย์สิน มากกว่า ทรัพย์สินที่ควรมี

ดังนั้นจึงถือว่านาย A มีสุขภาพการเงินโดยรวมแข็งแรง

2. มีหนี้ต่อเดือน มากเกินไปอยู่หรือไม่?

ภาระหนี้สินต่อเดือน = รายได้ต่อเดือน x ⅓

หรือห้ามมีมากเกินกว่า ⅓ (เศษหนึ่งส่วนสาม) ของรายได้ต่อเดือน เช่น หากนาย A มีรายได้ 50,000 บาทต่อเดือน ภาระหนี้สินต่อเดือนที่เขาห้ามมีเกินกว่านั้นคือ ประมาณ 16,666 บาท ซึ่งถ้าหากมีมากกว่านั้น ก็จะต้องเพิ่มรายได้ หรือ ลดค่าใช้จ่ายลงเพื่อสุขภาพการเงินที่ดี

3. มีเงินออมเผื่อฉุกเฉิน เพียงพอหรือยัง?

เงิมออมเผื่อฉุกเฉิน = รายจ่ายประจำต่อเดือน x 6

จากตัวอย่าง ถ้านาย A มีรายจ่ายประจำต่อเดือน เดือนละ 25,000 บาท เงินออมเผื่อฉุกเฉินที่เขาควรมี คือ 25,000 x 6 = 150,000 บาท เพื่อที่เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันใด ๆ ขึ้น เขาก็สามารถดำรงชีวิตได้อยู่เป็นเวลา 6 เดือน

บทความโดย คุณานันต์ TechToro

Reference:

TSF2024