“ความเสี่ยง” เป็นเรื่องที่อยู่คู่กับชีวิตผู้คนตลอดเวลา แม้แต่อยู่ในบ้านก็ยังมีความเสี่ยง เช่น เดินตกบันได ลื่นหกล้มในห้องน้ำ ซึ่งล้วนแล้วแต่นำความสูญเสียและสร้างความเสียหายต่อร่างกายและทรัพย์สินโดยไม่คาดคิด
เช่นเดียวกับชีวิตหลังเกษียณ เป็นช่วงเวลาที่อาจยาวนานถึง 1 ใน 3 ของชีวิตหรือมากกว่า และอาจเผชิญกับภัยคุกคามที่ส่งผลให้การดำเนินชีวิตหลังเกษียณไม่มีความสุขและไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งหากรู้ล่วงหน้าได้ก่อนว่าจะมีเหตุการณ์ใดที่นำไปสู่ความเสียหายในอนาคต ก็สามารถหาทางลดความเสี่ยงหรือป้องกันได้ ทำให้ไม่เกิดความสูญเสียต่อร่างกาย ทรัพย์สิน รวมทั้งจิตใจ
จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) พบว่า ความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตหลังเกษียณของคนไทย มีดังนี้
1. ความเสี่ยงจากการมีอายุยืน (Longevity Risk)
เป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่สุด อาจเรียกว่าเป็น Risk multiplier คือความเสี่ยงที่ทำให้ความเสี่ยงข้ออื่น ๆ เพิ่มสูงยิ่งขึ้นด้วย ลองคิดดูว่าหากอายุสั้น เช่น มีชีวิตอยู่ได้เพียง 1 – 2 ปีหลังจากเกษียณ และถึงแม้ตลาดหุ้นจะเป็นขาลงยาวนานแค่ไหน หรืออัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลัก ก็ไม่ส่งผลกระทบกับชีวิตเพราะอายุสั้น ตรงกันข้ามถ้ามีอายุยืนยาวจะส่งผลกระทบอย่างมาก
2. ความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Risk)
เป็นความเสี่ยงที่พูดถึงทั่วไปในประเทศไทย คงไม่ต้องลงรายละเอียดว่าคืออะไร ส่งผลต่อชีวิตหลังเกษียณอย่างไร แต่ขอฝากไว้เพียงว่าการวางแผนเกษียณที่ไม่ได้คำนึงถึง “เงินเฟ้อ” ถือว่าไม่ใช่แผนเกษียณที่เหมาะสมที่ควรจะเป็น พึงระลึกไว้ทุกครั้งที่คิดเรื่องการวางแผนเกษียณว่าต้องคิดเรื่อง “ผลกระทบจากเงินเฟ้อ” ด้วย
3. ความเสี่ยงจากการถอนเงินมากเกินไป (Excess Withdrawal Risk)
ความเสี่ยงจากการถอนเงินออกมาใช้มากเกินไป จนส่งผลให้เงินเก็บเพื่อเกษียณหมดลงก่อนเวลาอันควร หรืออาจจะเรียกว่า “เงินหมดก่อนตาย” ก็ได้ ในสหรัฐอเมริกามีคำที่เรียกว่า Safe Withdrawal Rate หมายถึง อัตราการถอนเงินที่ปลอดภัยที่จะทำให้เงินสามารถสร้างรายได้ให้ได้นานเท่าที่ต้องการ เป็นเรื่องที่มีการศึกษากันอย่างจริงจังในสหรัฐอเมริกา
4. ความเสี่ยงจากค่ารักษาพยาบาล (Health Expense Risk)
เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดา ก่อนที่จะตายอาจต้องผ่านด่านเจ็บป่วยก่อน ซึ่งก็ตามมาด้วยค่ารักษาพยาบาล และไม่มีใครบอกได้ว่าจะเจ็บป่วยมากน้อยและยาวนานแค่ไหน แต่จากสถิติพบว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของค่ารักษาพยาบาล หรือเรียกว่าอัตราเงินเฟ้อของค่ารักษาพยาบาลในประเทศไทยสูงถึง 8 – 9%
5. ความเสี่ยงจากสภาวะพึ่งพิง นอนติดเตียง (Long-Term Care Risk)
เป็นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงสุดท้ายของชีวิต เนื่องจากการเจ็บป่วยหนักจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้และอาจถึงขนาดต้องนอนติดเตียง แน่นอนว่าย่อมนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายมหาศาล เป็นภาระของคนในครอบครัว ความเสี่ยงข้อนี้ถูกพูดถึงบ่อยในสหรัฐอเมริกา เพราะจากสถิติพบว่าคนที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปี มีโอกาสตกอยู่ในสภาวะนี้สูงถึง 70%
6. ความเสี่ยงที่เกิดจากความสามารถในการคิดวิเคราะห์ลดลง (Declining Cognitive Abilities Risk)
ความเสื่อมของร่างกายและจิตใจเป็นธรรมดาของสังขาร แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจสร้างความเสียหายและคาดไม่ถึง มีงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาที่แสดงให้เห็นว่าเมื่ออายุมากขึ้น ความรู้ความสามารถจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะความสามารถในการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ
7. ความเสี่ยงจากการถูกล่อลวงทางการเงิน (Financial Elder Abuse Risk)
ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ที่ลดลงจากความเสื่อมถอยของร่างกายและจิตใจ ไม่เพียงเท่านี้ยังมีความเสี่ยงที่มักจะเกิดกับผู้สูงวัย คือ การถูกหลอกลวงทางการเงิน ซึ่งพบเห็นตามข่าวอยู่เป็นระยะ ๆ ดังนั้น การเป็นผู้สูงวัยที่มีเงินก้อน เป็นความเสี่ยงที่อาจจะถูกล่อลวงได้ เป็นกลุ่มบุคคลเป้าหมายของ 18 มงกุฎ ทั้งจากบุคคลภายนอก ไม่เว้นแม้แต่บุคคลในครอบครัว
บทความโดย คุณานันต์ TechToro