7 พฤติกรรมทางจิตวิทยาในโลกการลงทุน

วันนี้แอดมินจะพามาทำความรู้จักกับ “7 พฤติกรรมทางจิตวิทยาในโลกการลงทุน” ซึ่งสามารถสร้างผลลัพธ์ให้กับเราได้ทั้งทางบวกและทางลบ ดังนั้น ถ้าเรารู้จักพฤติกรรมเหล่านี้ดีพอจะช่วยให้เราสังเกตตัวเองได้ว่ากำลังมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงกับการลงทุนหรือไม่

1. กลัวความเสี่ยง (Snake Bite Effect)

ทฤษฎีนี้ใช้อธิบายพฤติกรรม ‘กลัวความเสี่ยง’ ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากการขาดทุนอย่างหนัก เปรียบเหมือนการถูก ‘งูฉก’ (Snake Bite) ในพงหญ้า ก็จะทำให้เราไม่กล้าเดินเข้าไปใกล้ ๆ พงหญ้าอีกต่อไป

2. กล้าเสี่ยงเมื่อมีกำไร (House Money Effect)

House Money หมายถึง เงินของเจ้ามือ ซึ่งมักถูกใช้ในบริบทที่เกี่ยวข้องกับการพนันหรือคาสิโน โดยนักลงทุนจะมีแนวโน้มลงทุนแบบเสี่ยงมากขึ้นหลังจากได้กำไร เพราะเหมือนกับนำเงินของคนอื่นมาลงทุน

3. พยายามเอาคืน (Trying to Break Even Effect)

การพยายามเอาคืนหลังจากขาดทุนอย่างหนัก จะทำให้นักลงทุนพยายามที่จะเพิ่มความเสี่ยง เพื่อผลตอบแทนที่มากขึ้นแต่ผลที่ได้กลับตรงกันข้าม เนื่องจากทำการซื้อขายด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล จิตวิทยาข้อนี้เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของบ่อนการพนัน

4. ต้นทุนจม (Sunk Cost Effect)

เมื่อนักลงทุนขาดทุนมาก ๆ จะไม่ยอมขาย ซึ่งตรงกับจิตวิทยาเรื่องการหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด (ข้อถัดไป) โดยเมื่อนักลงทุนเริ่มขาดทุน ความเจ็บปวดจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเมื่อขาดทุนมากขึ้นและนานขึ้น ความเจ็บปวดจะลดลง ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ทนถือส่วนที่ขาดทุนได้อย่างยาวนาน

5. หลีกเลี่ยงความเจ็บปวด (Disposition Effect)

จิตวิทยาข้อนี้อธิบายการขาดทุนของใครหลายคนได้เป็นอย่างดี โดยธรรมชาติ ผู้คนจะหลีกเลี่ยงการกระทำที่ก่อให้เกิด ‘ความเสียใจ’ และแสวงหาการกระทำที่ทำให้เกิด ‘ความภูมิใจ’ (Regret and Pride) ดังนั้น นักลงทุนส่วนใหญ่จะขายสินทรัพย์ที่ได้กำไรทิ้งเพื่อสร้างความภูมิใจ และถือตัวขาดทุนไว้เพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด

6. ปรากฏการณ์หุ้นขึ้นเดือนมกราคม (January Effect)

ทฤษฎีที่ตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นในเดือนมกราคม เนื่องจากนักลงทุนจะขายทำกำไรจากการลงทุนช่วงสิ้นปีก่อนหยุดยาว และช่วงเดือนมกราคมจะกลับเข้ามาลงทุนใหม่อีกครั้งในสินทรัพย์ที่ราคายังไม่แพง คำอธิบายที่เป็นไปได้อีกทางหนึ่งคือ นักลงทุนซื้อคืนภาษีช่วงต้นปี หรืออาจจะนำเงินโบนัสช่วงสิ้นปีมาลงทุนในช่วงเดือนถัดไป

7. การเปลี่ยนแปลงที่เริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ (Snowball Effect)

ผลกระทบที่เริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ จนกลายเป็นผลกระทบขนาดใหญ่ เปรียบเสมือนลูกบอลหิมะที่กลิ้งจากยอดเขา จากลูกบอลเล็ก ๆ เมื่อเคลื่อนตัวลงมาทั้งความสูงและการรวมตัวของหิมะที่เพิ่มขึ้น ทำให้สามารถกลืนทุกสิ่งทุกอย่างให้รวมอยู่ในลูกบอลหิมะลูกเดียวที่มีขนาดมหึมา และสร้างหายนะได้ (ในโลกการลงทุนอาจหมายถึงสร้างผลกำไรก็ได้เช่นกัน)

บทความโดย คุณานันต์ TechToro

TSF2024