สวัสดีครับ ตอนนี้เป็นตอนแถมท้ายสุดสุดท้ายของบทความชุดนี้ครับ ในเรื่องของ LTF และ RMF เกี่ยวกับคำถามที่ถามบ่อยๆในเพจ @TAXBugnoms ดังนั้นผมขอสรุปจบครบถ้วนมารวบยอดตอบปัญหาในบทความเดียวกันไปเลยครับ แต่ก่อนจะอ่านบทความนี้ แนะนำให้อ่านทั้ง 4 บทความให้จบก่อนนะครับ เพราะมิฉะนั้น คุณจะคุยกับเค้า… ไม่รู้เรื่อง แฮ่!
มาดูกันครับว่าคำถามที่ผมคัดมานั้น มีกี่คำถาม และมีอะไรบ้าง..
1. ซื้อ LTF และ RMF รวมกันได้สูงสุด 15% ของเงินได้ และไม่เกิน 500,000 บาทหรือ แยกกันระหว่าง LTF และ RMF
ตอบ : เงื่อนไขแยกกัน LTF สูงสุด 15% ไม่เกิน 500,000 บาท ส่วน RMF ก็สูงสุด 15% ไม่เกิน 500,000 บาท แต่ RMF เมื่อนำไปรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข., ประกันแบบบำนาญ, กองทุนการออมแห่งชาติ ทั้ง 4 ตัวนี้รวมกันต้องไม่เกิน 500,000 บาทด้วยครับ
2. ซื้อ LTF และ RMF ต้องเป็นกองเดียวกันตลอดไหม หรือว่าซื้อกองไหนก็ได้
ตอบ : กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ซื้อกองเดียวครับ ดังนั้นซื้อกี่กองก็ได้
3. ลงทุนใน LTF หรือ RMF ดีไหม? ถ้าไม่ได้ต้องการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี
ตอบ : ไม่ควร เพราะจะมีปัญหาเรื่องเงื่อนไขการซื้อและการขาย แนะนำให้ลงทุนกองทุนรวมปกติดีกว่าครับ
4. ถ้าหากถือ RMF ไว้จนครบกำหนดแล้ว สามารถขายคืนกองทุน RMF แค่เพียงบางส่วนได้ไหม
ตอบ : การขายคืนบางส่วนหรือการขายคืนทั้งจำนวน ถือว่าเป็นการขาย และถ้ามีการซื้อกอง RMF ใหม่ ก็จะถือว่าเริ่มต้นใหม่ครับ
5. แนะนำกองทุน LTF และ RMF สำหรับมือใหม่ด้วยนะครับ
ตอบ : แนะนำไม่ได้ครับ แนวทางแต่ละคนไม่เหมือนกันครับ 🙂
6. ไม่เข้าใจเรื่อง LTF แบบใหม่ คำว่า “เงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี” คืออะไร?
ตอบ : คำว่า “เงินได้พึงประเมินซึงได้รับที่ต้องเสียภาษีเงินได้” คือ เงินที่เราได้รับจริงๆโดยที่ไม่รวมเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นภาษีที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณ และเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นบางรายการที่สามารถนำมารวมคำนวณเพื่อเป็นฐานในการซื้อกองทุน LTF, RMF หรือประกันแบบบำนาญได้เพิ่มขึ้น ครับ ถ้าอ่านตรงนี้ไม่เข้าใจ แนะนำให้อ่านบทความนี้ครับ เงื่อนไขใหม่ LTF, RMF และประกันแบบบำนาญกับคำว่า “เงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ หรือเอาสั้นๆง่ายๆก็ รายได้ตามปกติของเรานี่แหละครับ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเพิ่มเติมหรอกครับผม แฮร่
7. ซื้อ LTF และ RMF ไว้ แล้วทำการสับเปลี่ยนตลอดปี แต่ไม่ได้ขายคืน จะมีผลอะไรบ้างครับ ????
ตอบ : การสับเปลี่ยน LTF หรือ RMF ไม่ถือเป็นการขายหน่วยลงทุน (และไม่ถือเป็นการซื้อด้วยครับ) ดังนั้นสามารถสับเปลี่ยนได้ตามใจเลยครับ แต่ต้องสับเปลี่ยนไปกองทุนประเภทเดียวกันเท่านั้นนะครับ
8. หากซื้อและขาย LTF และ RMF ในปีภาษีเดียวกัน จะเป็นยังไงบ้าง?
ตอบ : กรณี LTF ไม่สามารถทำได้เพราะมีเงื่อนไขการซื้อขายแบบ เข้าก่อนออกก่อน (FIFO) ดังนั้นหากมีการซื้อและขายเมื่อไร จะถือว่าเป็นการขายกองทุนที่ซื้อมาก่อนทันที ซึ่งจะมีปัญหาในการคำนวณภาษีครับแต่ RMF จะดูแค่ยอดซื้อขายหน่วยลงทุนสุทธิในปีเท่านั้นครับ
9. LTF ที่เปลี่ยนเป็น 7 ปีปฏิทิน มีผลย้อนหลังไหม?
ตอบ : เปลี่ยนเป็น 7 ปีปฎิทิน มีผลสาหรับการซื้อตั้งแต่วันที่่ 1 มกราคม 2559 – 31 ธันวาคม 2562 เท่านั้นครับ
10. ถ้าเกิดทำผิดเงื่อนไขขึ้นมาจริงๆ เราควรทำอย่างไรดี?
ตอบ : แนะนำว่ายื่นเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขให้ไวที่สุดครับ ทางออกที่ดีที่สุดของการวางแผนภาษี คือการใช้สิทธิประโยชน์อย่างถูกกฎหมายครับ
เป็นยังไงบ้างครับ สำหรับบทความชุด LTF และ RMF ที่ผมเขียนให้กับทาง Finnomena ทั้ง 5 ตอนนี้ หวังว่าคงทำให้เข้าใจเรื่องหลักการวางแผนภาษีด้วยสินทรัพย์ทั้งสองตัวนี้ไม่มากก็น้อยนะครับ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าครับ และหากใครมีปัญหาสามารถสอบถามได้ที่เพจ @TAXBugnoms หรือกดแอดเฟรนด์ Line official account ได้ที่นี่ครับ https://line.me/R/ti/p/%40TAXBugnoms