นาทีนี้หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับชื่อของแอป TikTok (หรือ Douyin ในประเทศจีน) แอปที่ชูจุดเด่นด้วยการให้ผู้ใช้สามารถอัดคลิปวิดีโอสั้นๆ 15 วินาทีของตัวเองแล้วแชร์ให้ผู้ใช้คนอื่นๆ ในแพลตฟอร์มเห็น

ตอนแรกที่เห็นแอปนี้เราก็ไม่คิดว่ามันจะไปได้ไกลสักเท่าไร แต่กลับกลายเป็นว่าตอนนี้บริษัทเจ้าของ TikTok อย่าง ByteDance สตาร์ตอัพของจีน มีมูลค่ากิจการอยู่ที่ $75 พันล้าน (~2.46 ล้านล้านบาท) กลายเป็นสตาร์ตอัพที่มีมูลค่าสูงสุดในโลก เอาชนะ Uber แชมป์เก่าซึ่งมีมูลค่ากิจการอยู่ที่ $72 พันล้าน (~2.36 ล้านล้านบาท)

บริษัทสตาร์ตอัพที่มีมูลค่ากิจการสูงกว่า $1 พันล้านเหล่านี้ เราเรียกพวกเขาว่า “ยูนิคอร์น” ทั่วโลกเรามียูนิคอร์นทั้งหมด 287 บริษัท หากนับจากช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จีนมี 83 บริษัท เป็นรองเพียงสหรัฐฯ ที่มี 135 บริษัท

สำหรับ ByteDance นั้น หลังจากเปิดตัวในจีนเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 2016 บริษัทก็ได้กลายเป็นยูนิคอร์นครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน ปี 2017 ซึ่งตอนนั้นมูลค่ากิจการอยู่ที่ $11 พันล้าน (แล้วดูตอนนี้!) ByteDance ทำธุรกิจแอปพลิเคชั่นต่างๆ ตัวอย่างเช่น Toutiao (คอนเทนต์) News Republic (ข่าวสาร) TikTok, Xigua Video, Vigo Video (วิดีโอ) แต่ที่ดูเหมือนจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่สุดก็คือ TikTok นี่แหละ ที่ช่วยให้บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็ว

กลยุทธ์แรกเริ่มของ TikTok คือการซื้อกิจการแอปตัดต่อใส่เสียงเพลงให้วิดีโออย่าง Musical.ly ซึ่งเป็นแอปของจีนที่เน้นทำตลาดในสหรัฐฯ จึงก่อกำเนิดเป็นแอปที่มีลูกเล่นแปลกใหม่ด้วยการให้ผู้ใช้อัดคลิปวิดีโอสั้นๆ ตกแต่งเติมเสียงได้ตามต้องการ และแชร์ออกไปให้ผู้ใช้คนอื่นๆ เห็น โดยส่วนใหญ่เป็นคลิปที่ผู้ใช้เต้นหรือขยับปากลิปซิงค์ทำท่าทางไปตามเพลง นอกจากนี้บริษัทยังใช้ Influencer มาช่วยในการโปรโมตด้วย โดยคัดเลือกกลุ่มคนที่ดูดีมีฐานะ มีสไตล์ มาช่วยทำคอนเทนต์ลงใน TikTok ซึ่งบริษัทก็จ่ายเงินให้คนเหล่านี้ค่อนข้างเยอะเลยทีเดียวเมื่อเทียบกับแอปอื่นๆ ยิ่งคนดังเหล่านี้มาเล่นก็ยิ่งทำให้กระแสมาแรงขึ้นไปอีก ใครเล่าจะไม่อยากติดตามคลิปวิดีโอของไอดอลคนโปรด?

TikTok ได้รับความนิยมมาก ถึงขนาดที่ว่าช่วงครึ่งแรกของปี 2018 เป็นแอปที่ได้รับยอดดาวน์โหลดสูงสุดใน App Store และช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จำนวนผู้ใช้แอปทั่วโลกของ TikTok อยู่ที่ระดับ 500 ล้านคนต่อเดือนแล้ว ลักษณะของผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นอายุประมาณเลข 2 โดยมี 80% ของผู้ใช้เป็นคนจีน ส่วนที่เหลืออีก 20% หรือนับเป็นอีกจำนวน 100 ล้านคนคือผู้ใช้ที่กระจัดกระจายไปทั่วทุกมุมโลก ส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศแถบตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหลาย จะว่าไปแล้วอีกหนึ่งสาเหตุที่ความนิยมของ TikTok เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นอาจมาจากความน่าสนใจของแอปที่ดึงดูดผู้ใช้ประเทศอื่นๆ นอกเหนือไปจากจีนด้วย ซึ่งต่อจากนี้ ByteDance น่าจะสามารถลุยตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น หลังได้รับเงินทุนกว่า $3 พันล้าน (~1 แสนล้านบาท) จาก SoftBank

พอถูกถามว่าทำไมถึงติดใจแอปนี้กัน ผู้ใช้ก็มีมุมมองว่า TikTok เป็นแอปชวนให้ใช้อย่างเพลิดเพลิน สามารถดูวิดีโอต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่เบื่อเพราะเจอแต่วิดีโอที่ชอบ นอกจากนี้ยังรู้สึกว่าการถ่ายคลิปวิดีโอและแชร์ออกไปเป็นเรื่องง่ายดาย สามารถตัดแต่งวิดีโอได้ตามใจชอบ ด้วยข้อดีของ TikTok ที่เหนือกว่าแพลตฟอร์มวิดีโออื่นๆ (เช่น YouTube) อย่างการที่แอปถูกออกแบบมาเพื่อใช้บนมือถือโดยเฉพาะ ผู้ใช้สามารถเลื่อนดูจากคลิปหนึ่งไปสู่คลิปหนึ่งได้ง่ายดายเพียงแค่เลื่อนนิ้ว แถมวิดีโอยังเป็นแบบเล่นอัตโนมัติ ไม่ต้องกดปุ่มเพลย์ ยิ่งช่วยให้ติดงอมแงมไปอีก

เบื้องหลังฟังก์ชั่นแสนสะดวกสบายและตอบโจทย์ผู้ใช้ของ TikTok นั้นคือการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับความชอบของผู้ใช้ จึงทำให้แอปสามารถ personalize ประสบการณ์ด้วยการคัดเลือกวิดีโอชนิดที่ผู้ใช้ชอบมานำเสนอ ใครชอบดูคลิปหมาแมว วันๆ ก็จะเจอแต่คลิปหมาแมวเวียนมาเสิร์ฟแบบไม่อั้น ซึ่งเทคโนโลยีนี้ถูกสรรค์สร้างโดยทีมนักวิศวกรซอฟต์แวร์และทีมนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก

รายได้ของ TikTok ในปี 2017 อยู่ที่ $2.5 พันล้าน (~8 หมื่นล้านบาท) และคาดว่าในปี 2018 จะเพิ่มเป็น $7.2 พันล้าน (~2.4 แสนล้าน) อย่างน้อย โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากโฆษณา ซึ่งกลยุทธ์การโฆษณาก็เรียกได้ว่าใช้ประโยชน์จากความเป็น TikTok ได้เต็มที่ด้วยการให้เหล่า Influencer ไทด์อินสินค้าในวิดีโอที่พวกเขาอัดซะเลย แต่ละบริษัทต่างอยากเข้ามาจับจองพื้นที่โฆษณาในแอป เนื่องจากฐานผู้ใช้ของ TikTok มีความเฉพาะกลุ่มมาก (วัยรุ่นอายุประมาณ 20~) แถมยังเป็นกลุ่มลูกค้าที่น่าดึงดูดสำหรับหลายๆ บริษัท เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อและมีอำนาจในการตัดสินใจค่อนข้างสูง พอมีรายได้แล้ว ByteDance ก็นำส่วนใหญ่กลับไปลงทุนขยายฐานผู้ใช้ให้กับแอปต่อไป

ถามว่า ByteDance มีแอปเจ๋งๆ และผู้ใช้มากมายขนาดนี้ บริษัทเทคฯ แนวหน้าของจีนอย่าง Baidu, Alibaba และ Tencent (แก๊ง BAT) มีมาจีบๆ บ้างมั้ย? ความจริงก็คือมีมายื่นข้อเสนอเหมือนกัน แต่ ByteDance ก็ปฏิเสธไปเพราะอยากเติบโตเองมากกว่า

ทีนี้ พอไม่ร่วมมือด้วย แอป TikTok ก็กลายเป็นคู่แข่งของยักษ์ใหญ่เหล่านี้ ผลก็คือตัวแอปโดนตัดการเข้าถึงจากแอปของบริษัทเหล่านี้ที่มีผู้ใช้ชาวจีนมหาศาล เช่น แอป WeChat และ QQ ของ Tencent ว่าง่ายๆ ก็คือจะไม่สามารถดูคลิปที่มาจาก TikTok ได้บนแอปเหล่านี้น่ะเอง เหตุที่ต้องทำแบบนี้เพราะ Tencent เองก็มีแอปวิดีโอคล้ายๆ TikTok (ชื่อ Kuaishou) แต่จำนวนผู้ใช้น้อยกว่า TikTok แล้ว

ต้องรอดูกันว่าอนาคตของ TikTok จะเป็นอย่างไร? จะมีบริษัทไหนสามารถโค่นแชมป์ TikTok ได้รึเปล่า? แล้วถ้าหากกลุ่มผู้ใช้ TikTok แก่ขึ้น พวกเขายังจะใช้แอปหรือไม่? ที่แน่ๆ คือตอนนี้ TikTok ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าแม้จะเป็นแอปของบริษัทที่มาจากเอเชีย แม้จะไม่ได้มาจากกลุ่ม BAT แต่ก็สามารถก้าวขึ้นเป็นยูนิคอร์นอันดับหนึ่งได้เหมือนกัน

Sources:
https://asia.nikkei.com/Business/Companies/TikTok-operator-ByteDance-passes-Uber-as-No.1-
https://asia.nikkei.com/Business/Companies/SoftBank-s-Vision-Fund-buys-into-operator-of-Chinese-video-app-TikTok

https://bytedance.com/products/
https://www.blognone.com/node/103875
https://www.marketingoops.com/news/biz-news/tiktok-world-most-valuation-startup/

ที่มาบทความ: https://thezepiaworld.com/2018/12/21/tiktok/