มนุษย์เราไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล
ในหลายๆ สถานการณ์เรามักจะใช้อารมณ์เข้ามาตัดสินใจ
และในหลายๆ ครั้ง อารมณ์เหล่านั้นมักจะทำให้เราไขว้เขว ตัดสินใจผิดพลาดไป
กับการลงทุนก็เช่นกัน แม้เปลือกนอกจะประดับประดาไปด้วยตัวเลขที่ดูมีเหตุผลมากมาย กลับกลายเป็นว่าหลายต่อหลายครั้งเราโดนอารมณ์ครอบงำ ทำให้นึกเจ็บใจเมื่อย้อนนึกถึงการตัดสินใจในอดีต
เราจึงอยากนำเสนอซีรีส์ ‘#พอร์ตพังเพราะแพ้ภัยตัวเอง’ เพื่อให้มนุษย์เราเข้าใจช่องโหว่อันเกิดจากจิตใจที่เปราะบาง เพื่อที่จะได้รู้ทันและรับมือกับโรคทางใจที่อาจทำให้เรา ‘อกหัก’ จากการลงทุนได้เสมอหากอาการกำเริบ
สำหรับตอนแรกเราอยากแนะนำให้รู้จักโรค Sunk Cost Fallacy
ใครที่คุ้นเคยกับแวดวงเศรษฐศาสตร์อาจจะคุ้นหูกับคำว่า Sunk Cost
Sunk Cost แปลเป็นไทยว่า ‘ต้นทุนจม’ คือมูลค่าที่เราเสียไปแล้วไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้ ไม่ว่าสถานการณ์ปัจจุบันจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม
และตัว Sunk Cost นี่แหละที่มักจะเล่นกับกระบวนการการตัดสินใจของเรา
เมื่อซื้ออาหารจานใหญ่ มูลค่าของอาหารทำให้เราเสียดายหากจะต้องกินเหลือ แม้ว่าท้องจะอิ่มจนอึดอัด
เมื่อซื้อตั๋วดูภาพยนตร์ที่ดูไปได้ครึ่งเรื่องแล้วไม่สนุกเท่าที่ควร มูลค่าของตั๋วทำให้เราเสียดายหากจะต้องเดินออกจากโรง
เมื่อธุรกิจที่สร้างด้วยทุนซึ่งออมมาจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเองเริ่มส่อเค้าไม่รอด เราจะไม่อยากทิ้งมัน
และนี่ก็คือโรค Sunk Cost Fallacy อันเกิดมาจากความเสียดายหากเราต้องทิ้งสิ่งที่เราจ่ายไป แม้ว่าการยื้อไว้จะทำให้เราต้องทรมานก็ตาม
โรค Sunk Cost Fallacy กำลังโจมตีพอร์ตการลงทุนของคุณ!
ในอาการเบื้องต้นนั้นเราจะเริ่มกระสับกระส่ายเมื่อเห็นว่ามูลค่าของสินทรัพย์ที่เราถือนั้นลดลงจากที่เราซื้อ และแม้ว่ามูลค่าจะลดลงเรื่อยๆ แต่เราก็ยังมีความคิดที่ว่าเราอุตส่าห์ซื้อหุ้นตัวนี้ไปตั้งแพง จะไม่ยอมขายขาดทุนแน่ๆ
ลดลงไป 5%…เอาน่ะ เดี๋ยวมันก็ขึ้น
ลงลงไป 10%…ยังก่อน ขายตอนนี้ขาดทุนตั้งสิบเปอร์เซ็นต์เชียวนะ
ลดลงไป 15%…20%…40%…
ถ้าขายตอนนี้ก็ไม่คุ้มสิ เราซื้อมาตั้งแพงนะ อย่างน้อยถือหุ้นไว้ให้อุ่นใจดีกว่า จะได้รู้สึกว่าเงินที่จ่ายไปนั้นไม่เสียเปล่า
นี่คือภาพลวงตาที่โรค Sunk Cost Fallacy สร้างขึ้นมาเพื่อบังเราไม่ให้เห็นสถานการณ์ที่แท้จริง…ว่าพอร์ตการลงทุนของเรากำลังถูกกัดกินทีละนิด
อาการนี้อาจรุนแรงถึงขั้นเสียหายจำนวนมาก เช่น เราอาจจะซื้อหุ้นในจุดที่ราคาสูงมากเกินไป ก่อนที่มันจะร่วงแล้วไม่กลับมามีราคาเท่าตอนที่เราซื้ออีกนานหลายปี (เรียกง่ายๆ ว่าติดดอยนั่นเอง)
การที่โรค Sunk Cost Fallacy กำเริบ ทำให้เราไม่รีบถอนตัวตอนที่ยังเสียหายไม่มาก เพราะรู้สึกเสียดายมูลค่าที่เราลงทุน เราถูกโรคนี้บังตาว่าสถานการณ์พอร์ตการลงทุนของเรากำลังแย่ลงเรื่อยๆ จนในที่สุดเราก็จะขาดทุนมากมาย นอกจากนี้การที่เรายึดติดกับการตัดสินใจในอดีตยังทำให้เราไม่มีกะจิตกะใจไปวางแผนเพื่ออนาคตอีกด้วย
ลองจินตนาการว่าถ้าเราลงทุนหุ้นในดัชนี NASDAQ ช่วงปี 1999-2000 ต้องรอกี่ปีกันกว่าตลาดจะกลับมายังจุดเดิม
วิธีป้องกันพอร์ตการลงทุนจากโรค Sunk Cost Fallacy
ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคนี้มาจากสถานการณ์ที่ไม่เป็นไปดังหวัง ในแง่มุมของการลงทุนก็คงหนีไม่พ้นการที่ราคาหุ้นลดต่ำลงไม่ตรงตามที่เราคาดไว้ว่ามันควรจะสูงขึ้น การคาดการณ์ที่ผิดพลาดนี้อาจเป็นผลมาจากการที่เราไม่ได้ศึกษาข้อมูลมามากพอ ทำให้เราวิเคราะห์ผิดพลาดไป หนักหน่อยคือการที่เราโลภจนไม่สนใจที่จะค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม วิธีป้องกันเบื้องต้นจึงเป็นการวิเคราะห์ ศึกษา หาข้อมูลและทำความเข้าใจสินทรัพย์ที่เราตั้งใจจะถือ รวมถึงสภาวะตลาดให้ดี ความรู้เหล่านี้มีส่วนช่วยให้เราวางแผนการลงทุนได้ดีขึ้น และทำให้การตัดสินใจของเราไม่ผิดพลาดโดยง่าย
ทว่าถึงอย่างนั้น อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ หากสถานการณ์เปลี่ยนแล้วส่งผลให้แผนของเราผิดพลาดไม่ตรงตามที่คาดไว้ เราก็ควรรู้วิธีป้องกันตัวเองไม่ให้เสียหายร้ายแรง
เนื่องจากโรคนี้กระตุ้นต่อมเสียดายในตัวเรา เราจึงต้องป้องกันด้วยการมีวินัยทางการลงทุนที่เข้มงวด ข้อแนะนำของเราคือให้ลองถามตัวเองว่ารับความเสียหายได้เท่าไร แล้วขายเมื่อราคาหล่นลงไปถึงจุดที่เรากำหนดไว้ (Cut Loss) เช่น บางคนอาจจะตั้งกฎว่าหากราคาหุ้นลดลง 5% ก็จะขายเสีย ถือว่าตัดเนื้อร้ายทิ้งก่อนที่มันจะเริ่มลุกลาม เพื่อที่ตัวเราจะได้เดินหน้าวางแผนขั้นต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แบ่งเวลาไปศึกษาทางเลือกอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนได้ดีกว่า คำนึงถึงต้นทุนและผลตอบแทนข้างหน้า ดีกว่าปล่อยให้ความเสียดายในอดีตฆ่าพอร์ตการลงทุนของเราช้าๆ นะ