“เงิน 1 ล้านบาทจากการทำงาน และ เงิน 1 ล้านบาทจากการถูกหวย มีค่าไม่เท่ากัน”

ฟังดูเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่หารู้ไม่ว่านั่นคือสิ่งที่หลายๆ คนคิดโดยไม่รู้ตัว

สิ่งนี้เป็นผลพวงจากการทำงานของสมองเรา และสามารถอธิบายได้ด้วยจิตวิทยา ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ามีความเชื่อมโยงกับการลงทุนมาก เพราะเป็นสิ่งที่สามารถส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของเราได้

วันนี้อยากจะขอนำเสนอแนวคิดจิตวิทยาข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดในชีวิตการใช้เงินและการลงทุนของเรา เพียงแต่ในหลายๆ ครั้งเรามักจะไม่รู้ตัว หรืออาจจะไม่เคยรู้เลยว่ามีกลไกนี้อยู่ในสมองของเราด้วย กลไกที่อยากนำเสนอวันนี้คือ ‘บัญชีในใจ’ หรือ ‘Mental Accounting’ นั่นเอง

บัญชีในใจ คือแนวคิดด้านพฤติกรรมทางการเงินชนิดหนึ่งที่ดลบรรดาลให้สมองเราทำการแยกแยะอะไรก็ตามที่เป็นสิ่งเดียวกัน ซึ่งในแง่ของการเงินก็คงไม่พ้น ‘เงิน’ นี่แหละที่เรามักจะให้ค่าไม่เท่ากัน ทั้งที่จริงๆ แล้วเงินก็คือเงิน หนึ่งบาทก็คือหนึ่งบาท ค่าย่อมเท่ากันหมด จริงไหม

แล้วอะไรทำให้เรามองว่าเงินแต่ละก้อนมีค่าไม่เท่ากันล่ะ? นั่นเป็นเพราะเราแบ่งเงินออกเป็นหมวดๆ แยกไปตามเป้าหมาย แหล่งเงินได้ จุดประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งการแบ่งหมวดอย่างนี้ส่งผลให้เรามีพฤติกรรมการบริหารเงินที่ไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย

ยกตัวอย่างง่ายๆ ในแง่ของการใช้เงินละกัน หากเป็นเงินจำนวน 1 ล้านบาทที่เราได้มาจากการทำงานอย่างหนัก ทุกบาททุกสตางค์คือหยาดเหงื่อ เราจะรู้สึกว่าเงินนั้นมีค่ามาก กว่าจะได้มามันไม่ใช่ง่ายๆ นะ ฉะนั้นเราจะรู้สึกถนอมเงินก้อนนี้มาก ไม่กล้าเอาไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

ในขณะเดียวกัน จู่ๆ เราถูกหวย! ได้เงินมา 1 ล้านบาทเหมือนกัน ทีนี้เกิดอะไรขึ้น? เราจะมองเงินก้อนนี้ว่าได้มาเพราะโชคลาภ ไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรเลย การที่เราได้เงินมาอย่างง่ายดายแบบนี้ทำให้เราไม่เห็นค่าของมันเท่าที่ควร เราจึงกล้าที่จะใช้เงินก้อนนี้ไปกับสิ่งฟุ่มเฟือยมากกว่า

เห็นไหมว่าทั้งๆ มีมูลค่า 1 ล้านบาทเหมือนกัน แต่เรากลับให้ค่ามันไม่เท่ากัน พฤติกรรมการใช้เงินสองก้อนนี้ไม่เหมือนกันเสียอย่างนั้น

ทีนี้มาลองดูบทบาทของบัญชีในใจในแง่ของการลงทุนและการซื้อสินทรัพย์เพื่อเก็งกำไรบ้าง

ทุกอย่างย่อมมีข้อดีและข้อเสียในตัว… บัญชีในใจเองก็เช่นกัน หลายคนมองว่าสิ่งนี้คืออคติทางการเงินที่ทำให้เราตัดสินใจอย่างไม่มีเหตุผล ซึ่งอาจนำไปสู่ความผิดพลาดได้หลายครั้งไป คงจะเริ่มสงสัยกันแล้วว่าถ้าอย่างนั้นข้อดีของมันคืออะไรล่ะ… เราจะขออุบไว้ก่อน ตอนนี้อยากจะขยายความเกี่ยวกับสิ่งที่ควรพึงระวังก่อน

อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าบัญชีในใจสั่งให้เรามองเงินต่างกันไป ในแง่ของการลงทุนก็หนีไม่พ้นพฤติกรรมนี้เช่นกัน เรามักจะให้ค่ากับเงินทุนที่เราใช้ซื้อหุ้น เพราะส่วนใหญ่แล้วเราจะมองว่าเราใช้ทั้งเวลาและความสามารถเพื่อที่จะให้ได้มันมา เราจึงรู้สึกหวงแหนมันมากและไม่อยากให้เสียหายแม้แต่นิดเดียว ในขณะเดียวกัน เมื่อเราซื้อขายเก็งกำไรหุ้นระยะสั้นได้สักพักแล้วได้กำไรอย่างรวดเร็ว สมองของเราก็จะแยกส่วนที่เป็นกำไรออกมาจากต้นทุน เราจะเห็นว่ากำไรนั้นคือเงินที่ได้มาอย่างง่ายดายฉับไว มีค่าไม่เท่ากับเงินทุน เราอาจจะนำเงินจากกำไรนี้ไปซื้อหุ้นตัวใหม่อย่างไม่ระมัดระวังเท่าไร ไม่ไตร่ตรองเท่าที่ควร เพราะเห็นว่ากำไรนั้นเป็นผลพลอยได้นั่นเอง

อีกกรณีนึงที่น่าจะเป็นกันหลายคนคือ เรามักจะเผลอโฟกัสหุ้นในพอร์ตแยกเป็นตัวๆ เช่น ดูกำไรขาดทุนเป็นรายตัว จุดนี้จะบังตาไม่ให้เราเห็นภาพรวมของพอร์ตว่าแท้จริงแล้วกำไรหรือขาดทุน บางทีเราอาจจะมัวเจ็บใจอยู่กับหุ้นที่ขาดทุนอยู่ตัวเดียวในพอร์ตทั้งๆ ที่พอร์ตรวมได้กำไร หรือเราอาจจะมัวหลงระเริงอยู่กับกำไรจากหุ้นตัวสองตัว ทั้งที่แท้จริงแล้วพอร์ตกำลังติดลบ ก็เป็นได้

ได้รู้สิ่งที่ควรพึงระวังกันไปแล้ว เรามาดูกันบ้างว่าเราจะใช้ประโยชน์จากบัญชีในใจอย่างไร

หลักๆ เลยก็คือแนวคิดการแยกบัญชี จัดระเบียบเงินเป็นก้อนๆ สำหรับจุดมุ่งหมายที่ต่างกันไปในชีวิตของเรา เพราะถ้าหากเรามองเงินเป็นก้อนเดียวก็อาจจะเป็นการยากเกินไปที่จะบริหารจัดการให้บรรลุครบทุกเป้าหมายในชีวิตของเรา

ในทางปฏิบัติ เราอาจจะแยกพอร์ตการลงทุนออกจากกัน โดยที่พอร์ตหนึ่งใช้เพื่อการซื้อขายหุ้นเก็งกำไรระยะสั้น กะว่าจะเอาเงินก้อนไปเที่ยว ไปซื้อของ ไปใช้จ่ายอะไรก็ตามแต่ ส่วนอีกพอร์ตหนึ่งใช้เพื่อการลงทุนเพิ่มพูนมูลค่าเงินเพื่อเป้าหมายระยะยาวในอนาคต เช่น การเกษียณ การซื้อบ้าน หรือเพื่อสร้างมรดก เป็นต้น

บัญชีไหนที่เราอยากได้ผลตอบแทนเยอะๆ ในระยะสั้นแล้วกล้าเสี่ยงกับมัน เราก็จะออมในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงหน่อย แต่บัญชีไหนที่เรามีเวลาออมนานๆ และต้องการผลตอบแทนที่มั่นคงสม่ำเสมอ (เช่น บัญชีเพื่อการเกษียณ) เราก็อาจจะออมในสินทรัพย์ที่ไม่หวือหวามากและสามารถเติบโตได้ในระยะยาว จะเห็นได้ว่าการแยกหมวดเงินแบบนี้ทำให้เรากำหนดกลยุทธ์การลงทุนได้ชัดเจนขึ้น

สรุปก็คือ หากนำแนวคิดบัญชีในใจมาใช้อย่างถูกวิธี ก็จะสามารถช่วยให้เราบริหารจัดการเงินลงทุนได้สะดวกชัดแจ้งยิ่งขึ้น สามารถเลือกกลยุทธ์และความเสี่ยงให้เหมาะสมกับเป้าหมายต่างๆ ที่เราวางไว้ ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ยังต้องคอยจับตาดูตัวเองให้ดีว่าเผลอมีอคติในทางที่ไม่ควรหรือเปล่า เพื่อให้เรารอดพ้นจากพฤติกรรมที่จะทำให้เราเสียทรัพย์มากเกินควร

ลองเอาไปปรับใช้กันดูนะคะ สุดท้ายนี้ก็ขอสวัสดีปีใหม่ทุกท่าน ขอให้เป็นปีที่โชคดีกับการลงทุนค่ะ

ที่มาบทความ: https://www.posttoday.com/economy/financial/534456

 

TSF2024