หลายคนอาจจะเคยถูกปลูกฝังให้มองโลกในแง่ร้ายไว้ก่อน ระแวงไว้ให้มากๆ จะได้ปลอดภัย
จิตใจของเราก็เช่นกัน มันมีข้อบกพร่องคล้ายๆ กันคือกลัวความเสียหาย
การระแวงไว้ก่อนเป็นเรื่องดีก็จริง แต่ในหลายๆ ครั้งความกลัวนี้ก็ทำให้การตัดสินใจลงทุนของเราผิดพลาด
มันอาจจะทำให้เราขาดทุนยาวนาน หรือพลาดโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดี
ในซีรีส์ “#พอร์ตพังเพราะแพ้ภัยตัวเอง” ตอนนี้ เราเลยอยากมาแนะนำให้รู้จักกับโรค Loss Aversion อันเป็นอีกหนึ่งโรคยอดฮิตที่เกิดขึ้นกับนักลงทุนหลายๆ คน
เพราะเราควรจะรู้ทันความอ่อนไหวต่อความเสียหายของตัวเอง ก่อนที่มันจะกำเริบแล้วทำให้เรากลัวมากขึ้นกว่าเดิม
โรค Loss Aversion กำลังสะกดจิตให้คุณคิดแต่เรื่องขาดทุน!
หลายคนน่าจะเคยเล่นเกมที่ให้คุณเลือกระหว่าง 1) ได้รับเงิน 100 บาทแน่ๆ กับ 2) อาจได้เงิน 200 บาท แต่ก็อาจไม่ได้อะไรเลย
…คนส่วนมากตอบข้อหนึ่ง เพราะอย่างน้อยก็ได้เงินแน่ๆ ทั้งที่ตัวเลือกหลังก็ไม่ได้ทำให้เราเสียหายอะไร และอาจทำให้เราได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เราโดน ‘การเสียโอกาสได้ 100 บาท’ ครอบงำ
อีกเกมนึงคือเกมที่คล้ายๆ กัน แค่เปลี่ยนประโยคเป็น 1) เสียเงิน 100 บาทแน่ๆ กับ 2) อาจเสียเงิน 200 บาท แต่ก็อาจจะไม่เสียเลย
…อีกครั้ง หลายคนจะเลือกข้อหนึ่ง เพราะเห็นว่าเสียน้อยดีกว่าเสียมาก ทั้งที่อีกตัวเลือกนึงมีโอกาสรักษาเงินต้นได้แท้ๆ แต่เราก็ให้ความสำคัญกับ ‘การเสียเงิน 200 บาท’ จนมองไม่เห็นโอกาสนั้น
ใช่แล้ว…โรคนี้ส่งผลให้เราหวงเงินต้นมาก ต้องหาวิธีปกป้องเงินต้นไม่ให้เสี่ยงต่อการเสียหายเยอะ
เคยมีงานวิจัยบอกว่า คนเราให้ค่าความทุกข์มากกว่าความสุข
หากแปลเป็นภาษาการลงทุน ก็ต้องบอกว่าเราให้น้ำหนักความสนใจกับโอกาสการขาดทุนมากกว่าโอกาสทำกำไร โดยเราจะมองเห็นว่าพลังอำนาจของการขาดทุนนั้นมีมากกว่าการทำกำไรถึงสองเท่า!
แปลเป็นตัวเลขง่ายๆ ก็คือ เรามักจะรู้สึกเจ็บปวดกับการขาดทุน 10,000 บาท มากกว่ารู้สึกดีใจกับกำไร 10,000 บาท
และการที่เราจะรู้สึกโอเคกับผลขาดทุน 10,000 บาทนั้น เราต้องทำกำไรให้ได้อย่างน้อย 20,000 บาทถึงจะทดแทนกันได้
ทั้งๆ ที่จำนวนเงินก็เท่ากัน แต่เรากลับให้น้ำหนักความรู้สึกกับมันไม่เท่ากันเสียอย่างนั้น การที่เรามัวแต่โฟกัสกับความเสียหาย มันทำให้เราไม่ได้นึกถึงวิธีอื่นๆ ที่จะช่วยให้เราได้ผลกำไร
ในแวดวงการลงทุน เราก็สามารถพบเจอปรากฏการณ์นี้อย่างแพร่หลาย
โดยเราจะสามารถเห็นได้ว่าในระยะยาวนั้นตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดตราสารหนี้ นั่นเป็นเพราะคนมองเห็นว่าในตลาดหุ้นนั้นมีความเสี่ยงสูญเสียเงินต้นในช่วงสั้นๆ มากกว่า จึงต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าเพื่อมาชดเชยกัน
นักลงทุนเองก็มักจะเจอสถานการณ์น่าปวดใจซึ่งถูกซ้ำเติมด้วยโรค Loss Aversion อีกที เช่น ความกลัวขาดทุนส่งผลให้นักลงทุนไม่กล้าตัดขายหุ้นที่ขาดทุนไปแล้ว โดยเชื่อว่าตัวเองยังไม่ขาดทุนตราบใดที่ยังไม่ขายออกไปเป็น Realized Loss และเชื่อว่าโอกาสคืนทุนจากหุ้นตัวนี้มีมากกว่าการไปทำผลตอบแทนจากหุ้นตัวใหม่ๆ การตัดสินใจแบบนี้จึงทำให้เราพลาดโอกาสในการลงทุนสินทรัพย์ตัวอื่นๆ ที่อาจจะให้ผลตอบแทนได้ดีกว่า
ในขณะเดียวกัน โรค Loss Aversion ยังเล่นงานจิตใจของเราให้รู้สึกทุกข์ แม้ว่าเราจะไม่ได้ขาดทุนอะไรเลย! ในกรณีนี้คือการที่เรามีหุ้นในความสนใจอยู่สองตัว เราเลือกที่จะซื้อตัวนึง แถมยังได้กำไรตั้ง 10,000 บาทแน่ะ! แต่เรากลับไม่มีความสุขซะงั้น เพราะเราไปเจอว่าหุ้นที่เราไม่ได้ซื้อก็เพิ่มมูลค่าขึ้นมา 10,000 บาทเหมือนกัน! เรามัวแต่เสียดายที่ไม่ได้ลงทุนในหุ้นตัวนั้น แทนที่จะดีใจกับเงิน 10,000 จากหุ้นที่ตัวเองถือ
นอกจากนี้ โรค Loss Aversion นี้ยังเป็นสาเหตุทำให้หลายคนไม่กล้าลงทุนในหุ้น เพราะเห็นว่ามีความเสี่ยงต่อการขาดทุนสูงกว่าการนำไปฝากธนาคาร หรือซื้อตราสารหนี้ จึงทำให้พลาดโอกาสการได้รับผลตอบแทนดีๆ ไปอย่างน่าเสียดาย
วิธีรับมือกับโรค Loss Aversion
แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย กับการเปลี่ยนมุมมองทัศนคติไปโฟกัสกับโอกาสทำผลตอบแทน แต่ก็ไม่ใช่อะไรที่เป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว แค่อาจจะต้องฝึกสักหน่อย เพราะพลังทำลายล้างของแง่ลบนั้นแรงกว่าแง่บวกมาก! เราจึงต้องพยายามมองหาโอกาสดีๆ ท่ามกลางสถานการณ์ต่างๆ
เราจึงควรประเมินปัจจัยหลายๆ อย่างเพื่อไม่ให้เกิดความลำเอียง ทุกครั้งที่เราต้องทำการตัดสินใจ พยายามไตร่ตรองให้ดีว่าความเสี่ยงคืออะไร เรากลัวอะไร ทำไมเราถึงลังเลที่จะก้าวต่อไป แล้วถ้าเราตัดสินใจแบบนี้ ผลลัพธ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้จะเป็นอะไรบ้าง
หากเราสามารถประเมินสถานการณ์ได้หลายๆ ทาง ก็จะทำให้เราพอเห็นภาพรวมมากขึ้นว่ามีอะไรที่สามารถเกิดขึ้นได้บ้าง
และสิ่งนี้ก็น่าจะเป็นตัวช่วยให้เรารู้สึกมั่นใจกับการตัดสินใจมากขึ้น
ที่สำคัญคือเราต้องฝึกจิตใจให้เข้มแข็ง อย่านึกเสียดายสิ่งที่เราเสียไป เอาจิตใจไปมุ่งมั่นสร้างผลตอบแทนที่ดีกัน!