ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการปรากฏตัวของ Grab ช่วยให้ประสบการณ์การเดินทางของหลายๆ คนดีขึ้น ช่วยให้ระบบขนส่งของเรามีความไฮเทคยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ก็ตรงตามเป้าหมายที่บริษัทวางไว้ นั่นก็คือ “Driving Southeast Asia forward.”

แต่! ต่อจากนี้แค่บริการเรียกรถ (Ride-Hailing) ซึ่งมีทั้ง GrabTaxi, GrabCar, GrabBike อาจน้อยเกินไป เพราะการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้สูงขึ้นมาก หลายคนน่าจะเคยเห็นบริการอื่นๆ นอกจากบริการด้านการเดินทาง อย่าง GrabPay, GrabFood กันมาบ้างแล้ว

จากบริการเรียกรถธรรมดาๆ Grab มาถึงจุดนี้ได้ยังไง? ต้องย้อนไปจุดเริ่มต้นก่อน

Grab นั้นก่อตั้งขึ้นในมาเลเซีย เมื่อปี 2012 โดย 2 ศิษย์เก่าจาก Harvard Business School โดย Grab นั้นมุ่งเน้นทำตลาดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งที่ผ่านมาก็เติบโตอย่างรวดเร็วเพราะแถบนี้ยังไม่มีระบบการคมนาคมที่พัฒนามากนัก และระบบแท็กซี่ดั้งเดิมก็…เอิ่ม นั่นแหละ (//ไม่พูดมากเจ็บคอ)

จำนวนรอบโดยสารของ Grab ได้แตะระดับ 1 พันล้านรอบเมื่อตุลาคมปีที่แล้ว และแตะระดับ 2 พันล้านรอบเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ช่วง 9 แรกในปี 2018 นั้น Grab มีจำนวนรอบโดยสารเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 3.7 ล้านรอบ

Grab ทำธุรกิจในหลายประเทศ ทั้งไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม อินโนนีเซีย พม่า และกัมพูชา มีพนักงานประมาณ 3,000 คนซึ่งมาจาก 40 ประเทศ แถมยังมีวิศวกรคอมพิวเตอร์ซึ่งเคยทำงานที่ Google และ Facebook ด้วย!! ไม่ธรรมดาจริงๆ

มีอะไรไม่ธรรมดาอีกไหม? มี ! ก่อนหน้านั้นก็กวาดเงินทุนไปมากกว่า $5 พันล้าน (~1.6 แสนล้านบาท) และตอนนี้ก็เป็นบริษัท Unicorn ที่ใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปแล้ว ด้วยมูลค่าบริษัทที่ $1 หมื่นล้าน (~3 แสนล้านบาท) ซึ่งมากกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของการเข้าแก๊ง Unicorn ตั้ง 10 เท่า!

ทาง Softbank Group นักลงทุนรายใหญ่ของ Grab มองว่า Grab ถือเป็นกำลังสำคัญสำหรับธุรกิจแอปฯ ให้บริการรถยนต์ร่วม เสริมทัพไปกับ Uber ของสหรัฐฯ, Didi Chuxing ของจีน และ Ola ของอินเดีย ซึ่งทั้งหมดนั้นอยู่ในพอร์ตโฟลิโอของ Softbank นั่นเอง

ข่าวใหญ่ที่เป็นประเด็นฮือฮาอยู่พักนึงในปีนี้คือตอนที่ Grab เข้าซื้อกิจการ Uber ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังแข่งขันกันมาอย่างดุเดือดเป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งกลยุทธ์นี้เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ Grab เป็นอย่างมาก

แต่อย่าเพิ่งเฉลิมฉลองไป เพราะแม้ว่าจะมีข่าวดีรายล้อม แต่ Grab ก็เจอแรงกดดันมากมายในหลายประเทศและจากหลายหน่วยงาน

เริ่มกันที่บ้านเกิดอย่างมาเลเซียเลย

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. รัฐบาลมาเลเซียได้ออกกฎให้คนขับ Grab ต้องมีมาตรฐานเดียวกันกับคนขับแท็กซี่ทั่วไป ซึ่งทางการก็ระบุว่ากฎหมายนี้ต้องการส่งเสริมให้ผู้ขับรถมีความเป็นมืออาชีพ ถึงอย่างนั้นก็มีเสียงตอบโต้มาว่าอันที่จริงแล้วมาตรการนี้มีเพื่อปกป้องคนขับแท็กซี่ท้องถิ่นต่างหาก อิโธ่

กฏหมายนี้มีผลบังคับใช้ในอีก 1 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่างๆ เช่น คนขับ Grab ต้องสอบเอาใบอนุญาตเฉพาะสำหรับคนขับรถสาธารณะ ส่วนรถที่อายุเกิน 3 ปีก็ต้องได้รับการตรวจสอบทุกๆ ปี สิ่งเหล่านี้เพิ่มต้นทุนใ้ห้คนขับ Grab สุดๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่กฏหมายใหม่นี้คนขับ Grab หลายคนก็ได้ออกมาบ่นว่าแล้วแบบนี้ใครจะไปขับ เรื่องมากชะมัด ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าหากกฎนี้มีผลบังคับใ้ช้จริงๆ เมื่อไรอาจจะได้เห็นจำนวนคนขับรถ Grab ในมาเลเซียลดลง

มาต่อกันที่ประเทศใกล้เคียงอย่างสิงคโปร์

เมื่อเดือน ก.ค. หน่วยงานอย่างคณะกรรมการด้านการแข่งขันและผู้บริโภคก็มองว่าการควบรวมธุรกิจกันของ Grab และ Uber เมื่อเดือนมีนาคมทำให้ระดับการแข่งขันของอุตสาหกรรมลดลง โดยส่วนแบ่งตลาดของ Grab ในสิงคโปร์ได้เพิ่มขึ้นเป็น 80% !! หน่วยงานนี้ออกมาตรการควบคุมด้วยการอนุญาตให้คนขับ Grab ทำงานกับหลายบริษัทได้ ไม่จำเป็นต้องจบที่ Grab ที่เดียว และออกกฏสั่งให้บริษัทเก็บค่าบริการในระดับเดียวกันกับช่วงเวลาก่อนเกิดการควบรวม ซึ่งทางคณะกรรมการได้อ้างเสียงบ่นของทั้งคนขับและผู้ใช้บริการเกี่ยวกับราคาที่เพิ่มขึ้นถึง 10-15% ผลลัพธ์ล่าสุดก็คือหน่วยงานได้ลงโทษด้วยการเรียกค่าปรับรวมทั้งหมด $9.5 ล้าน (~300 ล้านบาท)

Grab ก็ไม่ได้อยู่เฉย ออกมาปฏิเสธว่าการแข่งขันไม่ได้ลดลงเลยเหอะ เพราะยังไง Grab ก็ต้องแข่งกันแย่งลูกค้ากับบริษัทให้บริการคมนาคมอื่นๆ อยู่ดี และการที่ห้ามไม่ให้คนขับผูกสัญญากับ Grab ที่เดียวก็ไม่แฟร์เอาซะเลยเพราะบริษัทอื่นๆ เค้าก็ผูกสัญญากับคนขับตัวเองเหมือนกันไม่ใช่หรือ?

ไปดูความท้าทายของ Grab ในเวียดนามบ้าง

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. มีการทดลองให้บริการมอเตอร์ไซค์ของ Go-Viet (บริการในเครือ Go-Jek ของอินโดนีเซีย) ในโฮจิมินห์ ซิตี้ เป็นครั้งแรก ซึ่งคนขับก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นพนักงานเก่าของ Uber ที่เคยยกธงขาวในเวียดนามน่ะเอง โดยเวียดนามนั้นถือว่าเป็นหนึ่งในจุดหมายที่ Go-Jek อยากจะขยับขยายไปหา นอกเหนือจากนั้นก็มีไทย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ โดย Go-Jek ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนกว่า $500 ล้าน (~1.6 หมื่นล้านบาท)

นอกจาก Go-Jek แล้ว อุตสาหกรรมนี้ยังมีผู้เล่นเพิ่มเข้ามามากมาย ไม่ว่าจะเป็น Aber จากเวียดนาม หรือ Ryde จากสิงคโปร์ ทำให้การแข่งขันนั้นสูงยิ่งขึ้นกว่าเดิม นักวิเคราะห์ได้ระบุว่าช่วงนี้ธุรกิจให้บริการเรียกรถกำลังเผชิญความท้าทายพอสมควร ต้องลงทุนให้คุ้มค่ากว่าเดิมเพื่อให้เกิดการเติบโตที่ดีกว่า ด้วยระดับค่าจ้างตอนนี้ทำให้บริษัทเติบโตได้ยากจริงๆ

ด้วยเหตุนี้แหละ Grab จึงต้องขยับขยายธุรกิจไปยังโอกาสใหม่ๆ

โดย Grab เริ่มขยายไปทำธุรกิจอื่นๆ (diversification) ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา เช่น บริการจ่ายเงินออนไลน์อย่าง GrabPay ซึ่งครอบคลุมการใช้จ่ายนอกเหนือไปจากค่าแท็กซี่ และ GrabFresh บริการขนส่งอาหารที่จับมือกับบริษัทสัญชาติอินโดนีเซียอย่าง HappyFresh ที่มีรายการสินค้ากว่า 100,000 รายการ

ใช่แล้ว…Grab กำลังจะกลายร่างเป็น “สุดยอดแอปฯ” ที่เราสามารถใช้งานในทุกๆ วัน ไม่ใช่แค่ไว้เรียกหาเวลาต้องการเดินทางเท่านั้น

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. บริษัทได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะขยับขยายไปให้บริการด้านไลฟ์สไตล์ ซึ่งได้พาร์ตเนอร์กับบริษัทอื่นๆ โดย Grab จะไฟเขียวให้บริษัทที่เป็นพาร์ตเนอร์เข้าถึงฐานข้อมูลผู้ใช้ของตัวเอง ภายใต้กลยุทธ์ใหม่นั่นก็คือ Open Platform ถึงอย่างนั้นประเด็นนี้เป็นอะไรที่ Grab ต้องควบคุมให้ดี ระหว่างความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ กับ การแสวงหาผลประโยชน์ของบริษัท เพราะถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน คงจบไม่สวยแน่

นอกจากด้านไลฟ์สไตล์แล้ว Grab ยังได้พาร์ตเนอร์กับ Toyota Motor ซึ่งลงทุน $1 พันล้าน (~3 หมื่นล้านบาท) ใน Grab เมื่อเดือนมิ.ย. เพื่อพัฒนารถยนต์ที่สามารถใช้เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ได้ เห็นได้เลยว่าแม้จะขยายไปทำธุรกิจที่หลากหลาย แต่ Grab ก็ยังคงลงทุนในเทคโนโลยี โดยทีมงานหลักๆ ของ Grab นั้นทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) มหา’ลัยระดับท็อปของเอเชียและของโลก ที่ที่ Grab ใช้เป็นห้องทดลองเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

เห็นได้ชัดเลยว่า Grab กำลังเดินตามรอย Alibaba และ Tencent ด้วยการสร้างระบบนิเวศของตัวเอง ด้วยความช่วยเหลือจากพาร์ตเนอร์ท้องถิ่น พิสูจน์ให้เราเห็นว่า Grab พร้อมรับมือกับแรงกดดันด้านการแข่งขัน เพราะแทนที่จะยอมแพ้ ความท้าทายเหล่านี้กระตุ้นให้ Grab ยิ่งต้องพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา

ดูจากศักยภาพการพัฒนาแล้ว ต้องมาดูกันว่าในอนาคต Grab จะมีอะไรมาเซอร์ไพรส์เราอีก 🙂

Sources:
https://www.sanook.com/money/599741/

https://asia.nikkei.com/Business/Company-in-focus/Grab-aims-to-stay-on-top-with-evolution-into-everyday-superapp
https://www.reuters.com/article/us-uber-grab-singapore/singapore-fines-grab-and-uber-imposes-measures-to-open-up-market-idUSKCN1M406J

ที่มาบทความ: https://thezepiaworld.com/2018/10/13/grab/

TSF2024