คำว่า “Cut Loss” นั้นเป็นศัพท์คุ้นหูในแวดวงการลงทุนโดยเฉพาะเหล่าเทรดเดอร์ที่เน้นซื้อขายระยะสั้น เป็นสิ่งสำคัญที่สามารถช่วยให้เราไม่ขาดทุนมากเกินไป แต่ขณะเดียวกันก็อาจทำให้เราเสียโอกาสในการได้รับผลประโยชน์ในอนาคตเช่นกัน วันนี้ทาง FINNOMENA เลยขอเสนอคำว่า Cut Loss ให้มือใหม่เข้าใจกันมากขึ้น เพื่อที่นักลงทุนจะได้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการบริหารพอร์ตของตัวเอง

Cut Loss คืออะไร?

Cut Loss คือการที่นักลงทุนตัดสินใจขายสินทรัพย์ (ในที่นี้สมมติว่าเป็นหุ้น) เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองขาดทุนมากขึ้นไปอีก โดยการ Cut Loss นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อมูลค่าหุ้นที่นักลงทุนถือได้ลดลงไปถึงจุดที่เขาตั้งมั่นไว้แล้วว่าจะไม่ยอมเสียไปมากกว่านี้ นักลงทุนแต่ละคนก็จะมีจุด Cut Loss ที่ต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่ารับความเสี่ยงได้แค่ไหน บางคนอาจจะตั้งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ขาดทุน หรือบางคนอาจจะตัดสินใจขายเมื่อราคาหลุดแนวรับของกราฟเทคนิค

สาเหตุที่เราต้อง Cut Loss

ในบางสถานการณ์นั้นเราจำเป็นต้อง Cut Loss เพื่อจำกัดปริมาณการขาดทุน เพราะหากแนวโน้มเป็นขาลง ถ้าปล่อยไว้ พอร์ตอาจเสียหายยับเยิน หรืออาจใช้เวลานานหลายปีกว่าจะคืนทุน ซึ่งเวลาที่เสียไปนี้จริงๆ แล้วเราสามารถนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์หรือหุ้นตัวอื่นที่ให้ผลตอบแทนได้ดีกว่า

แต่ Cut Loss ก็อาจทำให้เราเจ็บใจ

แน่นอนว่าบางทีโชคชะตาก็เล่นตลก เพราะเมื่อ Cut Loss ปุ๊บหลายคนอาจเจอเหตุการณ์ที่ว่าราคาหุ้นเด้งขึ้นมา กลายเป็นว่าหากเราไม่รีบ Cut Loss เราก็อาจจะได้กำไรไปแล้ว ซึ่งนี่เป็นเรื่องเข้าใจได้เพราะในระยะสั้นนั้นเป็นการยากที่จะคาดเดาทิศทางราคาหุ้น หากวิเคราะห์ไม่ขาด เราอาจพลาดโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่ดี เพราะเห็นว่าราคาลงชั่วคราวเท่านั้นเอง

เมื่อไรที่เราควร Cut Loss?

ตรงนี้ขึ้นอยู่กับแผนการลงทุนของแต่ละคนและสภาพแวดล้อมการลงทุน หากใครชอบลงทุนระยะสั้น อาจเป็นการดีที่จะตั้งจุด Cut Loss ไว้เร็วหน่อย เพราะจะได้ดำเนินการสับเปลี่ยนไปซื้อหุ้นตัวอื่นอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันหากใครชอบลงทุนระยะยาว อาจจะตั้งจุด Cut Loss ไว้ช้าหน่อย เพราะการผันผวนของราคาในระยะยาวนั้นมีน้อยกว่าระยะสั้น โอกาสที่ราคาจะร่วงลงไปเยอะๆ แล้วไม่กลับขึ้นมาจึงมีน้อยกว่า

นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมการลงทุนก็มีส่วนช่วยในการตัดสินใจ เพราะแม้ว่าเราจะศึกษาหุ้นมาอย่างดี บางทีหากเกิดเหตุการณ์หรือวิกฤตไม่คาดฝันก็อาจทำให้พื้นฐานและแนวโน้มเปลี่ยนแปลงได้ ฉะนั้นเราจึงต้องคอยติดตามความเคลื่อนไหวของหุ้นที่เราถือให้ดีๆ เพื่อที่เราจะได้ตัดสินใจแผนขั้นต่อไปได้

Cut Loss คือส่วนหนึ่งของ Stop Loss

อันที่จริงแล้ว Cut Loss เป็นส่วนหนึ่งของคำว่า Stop Loss (ซึ่งหลายๆ คนอาจจะนึกว่าความหมายเหมือน Cut Loss)

Stop Loss คือการขายสินทรัพย์เมื่อเห็นว่ากำไรเริ่มลดลง แต่ในที่นี้คือนักลงทุนไม่จำเป็นต้องขาดทุนเสมอไป เพราะการ Stop Loss เป็นการหยุดความเสี่ยงของการที่กำไรลดลง จึงหมายความว่า ณ จุดที่ขายนั้นนักลงทุนยังคงทำกำไรอยู่ เพียงแต่ได้กำไรน้อยลงเท่านั้นเอง ในขณะที่ Cut Loss คือกรณีที่นักลงทุนขาดทุนไปแล้ว แต่ไม่อยากขาดทุนเพิ่มเลยรีบขายสินทรัพย์ออกไปก่อน

วิธีป้องกันไม่ให้ต้อง Cut Loss

หากเราไม่อยากเผชิญสถานการณ์ขายหุ้นทิ้งด้วยความเจ็บใจ การป้องกันที่ต้นเหตุจึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นการใช้เวลาศึกษาพื้นฐาน ทำความเข้าใจแนวโน้มของหุ้นนั้นถือเป็นวิธีที่ดีในการคัดเลือกหุ้นก่อนตัดสินใจซื้อ หากเลือกหุ้นที่ประวัติดี พื้นฐานดี มีแนวโน้มสดใส โอกาสที่เราจะต้อง Cut Loss ก็น้อยลงตามไปด้วย

แต่หากต้อง Cut Loss ก็อย่าเศร้านาน

Cut Loss เปรียบเสมือนการยอมรับว่าคนเราสามารถผิดพลาดกันได้ ไม่มีใครถูกตลอดเวลา ดังนั้นอย่าเสียใจนาน เอาเวลาและทุนที่เหลือไปศึกษาดูทางเลือกการลงทุนใหม่ๆ ดีกว่า ที่สำคัญคือเราควรจะได้ผลตอบแทนจากสินทรัพย์ตัวใหม่ในระดับที่เท่าทุนเก่าเป็นอย่างน้อย ดังนั้น ถ้าราคาตัวใหม่ขึ้นก็อย่าเผลอขายก่อนจะได้ทุนเดิมคืนกลับมาล่ะ

โชคดีกับการลงทุนทุกท่านค่ะ

ต้นฉบับบทความ: โพสต์ทูเดย์