เคยไหม…มั่นใจมากๆ ว่าหุ้นตัวนี้ดี ชอบมาก แต่ซื้อไปแล้วราคาลงพรวด ติดดอยเฉย
เคยไหม…เจอว่าบริษัทที่ตัวเองไม่ชอบ (และไม่ได้ซื้อ) นั้นทำกำไรสูงขึ้นเรื่อยๆ พาเอาราคาหุ้นสูงตามไปด้วย
ทั้งๆ ที่หาข้อมูลมาก็เยอะ ไม่ได้ลอกการบ้านใครเลย ทำไมถึงยังเจอความน่าผิดหวังเช่นนี้
อย่าเพิ่งน้อยใจกันไป วันนี้ซีรีส์ “#พอร์ตพังเพราะแพ้ภัยตัวเอง” จะขอนำเสนอโรค Confirmation Bias…อีกหนึ่งโรคที่เข้ามาปั่นป่วนระบบการคัดกรองข้อมูลของคุณ ทำให้คุณ ‘ฟังความข้างเดียว’
หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดีกับคำว่า Bias ซึ่งแปลว่าความลำเอียง โรคนี้ก็เกี่ยวเนื่องกับความลำเอียงนั่นแหละ เพิ่มเติมคือเป็นความลำเอียงที่เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนยืนยันสิ่งที่เราคิด ว่ามันต้องไม่มีทางเป็นอื่นไปได้แน่ๆ
แท้จริงแล้วเราไม่ได้โดนคนอื่นปั่นหัวเสมอไป หากแต่เป็นตัวเราเองนี่แหละที่หลอกใจตัวเอง
โรค Confirmation Bias กำลังบดบังคุณจากข้อมูลดีๆ!
ทฤษฎี Behavioural Finance ได้ระบุไว้ว่าคนเราสามารถเกิดความเอนเอียงทางความคิด (Cognitive Bias) ได้หลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือการเอนเอียงขณะพิจารณาข้อมูล ซึ่ง Confirmation Bias เป็นตัวอย่างของโรคที่เกี่ยวข้องกับหมวดนี้
มนุษย์เรานั้นพอปักใจเชื่ออะไรแล้ว ยากที่จะล้มล้างความเชื่อนั้น
สิ่งนี้เป็นที่เข้าใจได้ เพราะสมองของเราถูกตั้งระบบมาให้ประมวลผลข้อมูลที่ยืนยันตัวเองอย่างง่ายดาย ยิ่งข้อมูลนั้นเรียบง่ายเท่าไรก็ยิ่งเข้าใจง่าย ปักใจเชื่อโดยเร็ว
เราจึงมักจะรับฟังในสิ่งที่เราเห็นด้วย และแอบต่อต้านมุมมองที่เราไม่เห็นด้วย
หลายๆ ครั้งเรามักจะเผลอโน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่งโดยไม่รู้ตัว บางครั้งเราเชื่อว่ามันดี แต่บางทีก็เชื่อว่ามันแย่
…และเราก็ไม่คิดที่จะหักล้างความเชื่อนั้น ตรงกันข้าม เรากลับหาเหตุผลมาสนับสนุนความคิดของเราเพิ่ม
มีงานวิจัยออกมาว่าเพียงแค่เราถามคำถามอะไรที่สนับสนุนความคิดของเรา แนวโน้มอาการ Confirmation Bias กำเริบก็จะสูงขึ้นทันที
ในด้านการลงทุน การที่เราจะตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์อะไรนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีข้อมูลหลากประเภท หลักๆ เลยก็คือข้อมูลที่สนับสนุนการตัดสินใจของเรา และข้อมูลที่ต่อต้านการตัดสินใจของเรา
ทว่าการให้ความสำคัญกับข้อมูลทั้งสองประเภทนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นระบบพิจารณาข้อมูลในอุดมคติก็ว่าได้ เพราะในชีวิตจริงนั้นเรามักจะเผลอปิดกั้นตัวเองจากข้อมูลที่สวนทางกับความคิดของเรา
ตัวอย่างก็เช่น สมมติว่าเราได้ยินข่าวดีเกี่ยวกับหุ้นตัวหนึ่ง เราเลยมั่นใจว่าแนวโน้มของหุ้นจะต้องเป็นบวกแน่ๆ น่าถือครองมากๆ ทีนี้ สิ่งที่อาจเกิดขึ้นคือเราจะเสาะหาข้อมูลหรือข่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับหุ้นตัวนี้ แต่จะเป็นในเชิงสนับสนุนความคิดเบื้องต้นของเรา ว่า มีเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้หุ้นตัวนี้น่าซื้อ
แทนที่จะเป็น “มีเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้หุ้นตัวนี้ไม่น่าซื้อ”
เราถูก Confirmation Bias ครอบงำ มองข้ามข้อมูลอะไรก็ตามที่ต่อต้านความคิดด้านบวกของเรา เราอาจจะมองข้ามความจริงที่ราคาขึ้นมาเยอะเกินไปแล้ว เผลอเข้าซื้อในจุดที่ราคาอยู่สูงพอดี ซึ่งจุดนี้ก็สามารถพาเราไปสู่ “ดอย” ได้เลย
นอกจากความคิดด้านบวกของเรา โรค Confirmation Bias ยังสามารถสนับสนุนความคิดด้านลบของเราด้วยนะ
เช่นเดียวกันกับกรณีแรก หากเราไปได้ยินข่าวร้ายเกี่ยวกับหุ้นตัวหนึ่ง ก็เป็นไปได้สูงที่เราจะยึดติดกับความคิดด้านลบ เวลาหาข้อมูลก็จะปิดกั้นความดีงามของหุ้นนั้นๆ แล้วโฟกัสแค่จุดแย่ ซึ่งการกระทำนี้อาจทำให้เราพลาดโอกาสในการซื้อและถือครองหุ้นดีๆ
โรค Confirmation Bias ไม่ได้โน้มน้าวเราแค่ความคิดบวกหรือลบ แต่รวมถึงคุณลักษณะบางอย่างที่เราสนใจ เช่น เราชอบหุ้นปันผล โรคนี้ก็จะสั่งให้เราพิจารณาหุ้นแค่เฉพาะปันผลเท่านั้น ไม่ให้น้ำหนักกับปัจจัยอื่นๆ เท่าที่ควร
เราจึงเห็นได้ว่าทั้งหมดทั้งมวลที่โรค Confirmation Bias ส่งผลกับเรานี้ ทำให้เราไม่สามารถวิเคราห์ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากพอ เพราะข้อมูลของเราไม่หลากหลายนั่นเอง
วิธีป้องกันไม่ให้โรค Confirmation Bias มากระทบการตัดสินใจลงทุน
Charles Darwin เคยบอกไว้ว่าเมื่อเขาเจอแนวคิดที่ขัดแย้งกับตน เขาจะต้องทำการจดแนวคิดนั้นไว้ภายใน 30 นาที ไม่เช่นนั้นเขาจะเริ่มต่อต้านแนวคิดตรงข้ามราวกับร่างกายต่อต้านการปลูกถ่ายอวัยวะใหม่
Warren Buffett เคยป้องกันอาการ Confirmation Bias ไม่ให้แผลงฤทธิ์ด้วยการเชิญ Doug Kass ผู้จัดการ Hedge Fund ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของเขาให้มาร่วมงานประชุมประจำปีของ Berkshire Hathaway
ซึ่งถือเป็นเรื่องที่แปลกใหม่มากเพราะปกติแล้วการประชุมประเภทนี้มักจะไม่ต้องการให้มีความขัดแย้งใดๆ แต่ Buffett กลับเห็นว่าการกระทำนี้น่าจะช่วยให้การประชุมดูมีเนื้อหนังมากขึ้น และสามารถช่วยเปิดมุมมองให้กว้างขึ้น
การที่เราจะป้องกันได้ เราต้องตระหนักรู้ว่าโรค Confirmation Bias นั้นมีอยู่จริง และสามารถทำอะไรเรา
ยอมรับว่าข้อบกพร่องนี้อาจทำให้เราเผลอตัดข้อมูลต่อต้านออกจากการประมวลผลได้ เราแนะนำว่าควรเปิดใจให้กว้างต่อข้อมูลที่ขัดแย้งกับความคิด อย่าเพิ่งไปต่อต้าน ให้ลองรับฟังเหตุผลของอีกฝั่งว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ไตร่ตรองให้ดีแล้วนำมาชั่งน้ำหนักกับความคิดของเรา การทำแบบนี้จะช่วยให้มองเห็นภาพที่กว้างขึ้น ไม่โน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่งมากจนเกินไป
โอกาสที่เราจะได้ถือสินทรัพย์ดีๆ ก็มีมากขึ้นด้วย : )
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน
https://www.forbes.com/sites/rogerdooley/2013/05/07/buffett-confirmation-bias/