ว่ากันว่าอะไรก็ตามที่ได้มาอย่างง่ายๆ นั้นมักมีความเสี่ยงที่คาดไม่ถึงซ้อนเร้นอยู่
Credit Default Swap หรือ CDS ก็เป็นหนึ่งในนั้น
หลายคนคงจะจำได้ว่าในปี 2007 เคยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ สถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกามากมายต้องเผชิญกับปัญหาสภาพคล่อง และต้องใช้เวลากว่าจะกอบกู้เศรษฐกิจโดยรวมให้กลับมาแข็งแรงได้ แต่หลายคน – โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่และผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวงการการเงิน – อาจยังไม่ทราบถึงสาเหตุเบื้องลึกเบื้องหลังวิกฤตครั้งนี้ หรืออาจจะจำได้แค่ว่ามันเกิดจาก Subprime อย่างเดียว เราเลยอยากจะมาเล่าให้ฟังถึงปัจจัยเสริมอย่าง CDS ที่ช่วยเป็นแรงดันสร้างระเบิดทางเศรษฐกิจเช่นกัน
ก่อนอื่นเราขอแนะนำให้รู้จักพระเอก (หรือตัวร้าย?) ในบทความนี้ก่อน – Credit Default Swap หรือ CDS
ไม่ต้องแปลกใจหากไม่คุ้นหู เพราะสิ่งนี้คือเครื่องมือทางการเงินในรูปแบบของตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายกันในหมู่สถาบันการเงินเสียเป็นส่วนใหญ่ มูลค่าของตราสารอนุพันธ์นั้นจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับมูลค่าสินทรัพย์ที่ใช้อ้างอิง ในกรณีของ CDS คือตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ซึ่งออกโดยสถาบันอย่างรัฐบาล ธนาคาร หรือบริษัทนั่นเอง
หากจำลองสถานการณ์เล่นๆ ว่าเราซื้อตราสารหนี้ A (มูลค่า 100 ล้านบาท) นั่นก็แปลว่าเราเอาเงินให้เจ้าของตราสาร A (หรือก็คือลูกหนี้) ยืม 100 ล้านบาท โดยเราจะได้ดอกเบี้ย 10% (10 ล้านบาท) ต่อปี ตลอดช่วงระยะเวลาการถือ 10 ปี และจะได้รับ 100 ล้านบาทคืนเมื่อตราสาร A ครบอายุ 10 ปีแล้ว
ความหักมุมเกิดขึ้นเมื่อตราสาร A นั้นอาจเกิด Default หรือก็คืออยู่ในสภาวะไม่สามารถจ่ายเงินคืนให้เราได้ ทั้งนี้อาจจะมีสาเหตุมาจากการล้มละลาย เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางลบเช่นถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือในการจ่ายเงินคืน (Credit) หรือมีการเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงินคืนในทางที่แย่ลง ปัจจัยด้านลบเหล่านี้ส่งผลให้ตราสาร A มีความเสี่ยงสูง และอะไรก็ตามที่มีความเสี่ยงสูง ก็มักจะให้ผลตอบแทนสูงเช่นกัน เพราะอย่างนี้เราเลยยังขอถือไว้นะ
ถึงอย่างนั้นก็เถอะ เราเองก็กังวลว่าจะเกิดเหตุร้ายจึงต้องหาเกราะกำบังเพื่อรับรองความปลอดภัยให้ตัวเอง CDS ที่ออกโดยสถาบันการเงิน B (ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับสถาบัน A เลย) ก็จะเข้ามามีบทบาทตรงนี้โดยทำหน้าที่เสมือนประกันให้เรารู้สึกอุ่นใจ โดย B สัญญาว่าหากวันดีคืนดี A เบี้ยว ตัว B นี่แหละจะรับผิดชอบด้วยการจ่ายเงิน 100 ล้านบาทให้เราแทน โดยที่เราจะต้องจ่ายราคาเป็น ‘เบี้ยประกัน’ จำนวน 3% (3 ล้านบาทต่อปี) ให้ B เรื่อยๆ นั่นหมายความว่าผลตอบแทนสุทธิต่องวดจากตราสาร A ของเราจะน้อยลง เหลือ 7 ล้านบาทต่อปี เพราะต้องหักส่วนหนึ่งไปจ่ายค่าเบี้ยประกันนั่นเอง
เบี้ยประกันนี้มีชื่อว่า CDS Spread โดยคิดคำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินที่เราให้ A ยืมไป ยิ่งตัวเลขนี้สูง ก็ยิ่งบ่งบอกได้ว่า A มีความเสี่ยงเบี้ยวหนี้
ซึ่งช่องโหว่มันอยู่ตรงนี้ เพราะคนบางกลุ่มได้มองเห็นโอกาสทำเงินแบบง่ายๆ แล้วน่ะสิ
ในเมื่อราคา CDS อิงอยู่กับคุณภาพของ A ดังนั้นการซื้อขายช่วงต่อสัญญา CDS จึงสามารถดำเนินไปในเชิงของ ‘การพนัน’ ว่าเครดิตของ A จะดีหรือแย่ลง ถ้า C (สถาบันที่ไม่ได้มีตราสาร A อยู่ในมือด้วยซ้ำ) มองเห็นว่าในอนาคตแนวโน้ม A จะต้องแย่ลงแน่ๆ ก็จะรีบชิงซื้อ CDS จาก B ไว้ก่อน (ต้องรีบเพราะถ้าซื้อพรุ่งนี้อาจจะแพงขึ้น) C ต้องจ่าย 3 ล้านบาทให้ B ทุกปี อย่างมากก็ 30 ล้านหากครบ 10 ปี ถ้าหากระหว่างทาง A ผิดนัดชำระหนี้จริงๆ C ก็จะได้รับค่าประกัน 100 ล้าน (เทียบกับ 3 ล้านที่จ่ายทุกปีแล้วถือว่าคุ้มมาก) ในทางกลับกัน ถ้า A ยังอยู่ดี ฝ่ายที่รับเงินสบายๆ 3 ล้านทุกปีก็คือ B…สรุปคือต่างฝ่ายต่างวางเงินพนันกัน โดยฝ่าย C พนันว่า A จะล่ม ส่วน B พนันตรงกันข้าม
อีกกรณีหนึ่งก็คือตัวเรานั้น (ในฐานะสถาบันการเงินที่ถือตราสาร A และซื้อ CDS จาก B) ก็สามารถเก็งกำไรได้เช่นกัน หากเราประเมินสถานการณ์ว่า A ไม่น่าจะแย่อย่างที่คนอื่นคิด เราก็สามารถออก CDS ให้สถาบันอื่นมาซื้อต่อด้วย CDS Spread ที่สูงกว่า ขายกันเป็นทอดๆ โดยที่เราก็ได้กำไรส่วนต่าง
สาเหตุที่ระบบการซื้อขายดูมั่วๆ ลอยๆ ตามใจฉันนั้น เป็นเพราะการซื้อขาย CDS ไม่ได้ทำกันอย่างเป็นทางการ ไม่มีองค์กรใดคอยควบคุมดูแลกฏเกณฑ์จริงๆ จังๆ เป็นการตกลงซื้อขายกันแบบส่วนตัวมากกว่า (Over-The-Counter) ถึงขนาดที่ว่าแม้คนขายสัญญาอย่าง B จะไม่ได้มีสินทรัพย์ถึง 100 ล้านบาท ก็ยังสามารถขาย CDS มูลค่า 100 ล้านบาทได้ หรือคนซื้อ CDS อย่าง C ไม่ได้มีตราสาร A ด้วยซ้ำ ก็ยังซื้อ CDS ได้
แล้ว CDS มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤตเศรษฐกิจปี 2007 อย่างไร
คงต้องย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 2000 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สหรัฐฯ ทำการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มสภาพคล่องในประเทศด้วยการลดดอกเบี้ย เป็นผลให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งหลายคนก็นำไปซื้อที่อยู่อาศัย จึงทำให้ราคาอสังหาฯ สูงขึ้นเรื่อยๆ
เท่านั้นไม่พอ สินเชื่อยังขยับขยายไปยังกลุ่มคนที่มีประวัติการเงินไม่ดีนัก หรือกลุ่ม Subprime ทีนี้ ธนาคารก็มีการทำตราสาร Collateralized Debt Obligations (CDOs) หรือก็คือการนำหนี้จากสินเชื่อไป ‘มัดรวมกัน’ เป็นหลักทรัพย์แล้วขายต่อให้ผู้ลงทุนรายอื่นเพื่อที่ตัวเองก็จะได้เงินไปปล่อยกู้เพิ่ม ซึ่งหลักทรัพย์จะถูกแบ่งเป็นระดับๆ แล้วระดับของ Subprime นี่แหละที่ให้ผลตอบแทนสูง เพราะกลุ่มนี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงกว่าคนประวัติดี (Prime) เนื่องจากความเสี่ยงในการผิดหนี้นั้นสูงกว่า
เริ่มรู้สึกคุ้นๆ กับระบบเจ้าหนี้ลูกหนี้แล้วใช่ไหม… นั่นแหละ สัญญา CDS ก็รับประกัน CDO ระดับ Subprime เหมือนกัน เนื่องด้วยตอนนั้นเศรษฐกิจดี ไม่มีใครฉุกนึกว่าจะมีการเบี้ยวหนี้ ราคาบ้านก็สูงขึ้นเรื่อยๆ สภาวะตลาดที่ดูเป็นขาขึ้นอย่างนี้ทำให้สัญญา CDS ถูกซื้อขายเก็งกำไรอย่างคล่องมือ มูลค่าไต่ขึ้นจนสูงยิ่งกว่ามูลค่าหนี้จริงๆ เสียอีก
เรื่องเริ่มจะพลิกเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed เห็นแนวโน้มเงินเฟ้ออันเกิดจากสภาพคล่องที่ล้นเหลือ จึงออกมาตรการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดอสังหาฯ ซบเซาลง ดอกเบี้ยสินเชื่อของ Subprime ก็สูงขึ้น
ราคาบ้านลง + ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น => ลูกหนี้ Subprime ไม่มีเงินจ่ายคืน = หนี้เสีย => ธนาคารไม่มีเงินไปจ่ายผู้ถือCDO แล้วแบบนี้ใครจะไปซื้อ CDO ประเภทนี้เพิ่ม => ไม่มีเงินในส่วนนี้ไหลเข้าธนาคาร ธนาคารจึงต้องจำกัดการปล่อยสินเชื่อ (Credit Crunch) เศรษฐกิจก็ถอยลงไป…
ลำพังแค่หนี้เสียปกติก็ว่าแย่แล้ว นี่ยังมี CDS ทบเข้าไปอีก สถาบันใดก็ตามที่ออก CDS ต้องเผชิญกับหนี้เงินจำนวนมหาศาล มากกว่าเงินที่ตัวเองมีอยู่ จึงเกิดปัญหาสภาพคล่องส่งต่อเป็นลูกโซ่ไปเรื่อยๆ เพราะแต่ละสถาบันต่างก็เป็นผู้ออก CDS ให้อีกที่หนึ่ง แถมที่หนึ่งก็ออกตั้งหลายสัญญา ปัญหาทับถมเหล่านี้ทำให้บางสถาบันต้องล้มละลาย ส่วนสถาบันที่รอดก็ต้องควบรวมกับสถาบันอื่นหรือไม่ก็พึ่งรัฐบาลช่วยพยุงให้กลับมามีสภาพคล่องที่แข็งแรงอีกครั้ง
สรุปแล้ว CDS…?
CDS นั้นเป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีประโยชน์ เพราะช่วยในการลดความเสี่ยงการผิดชำระหนี้ แต่เมื่อนำมาใช้อย่างผิดจุดประสงค์ บวกกับความโลภเงินที่ได้มาแบบง่ายๆ นั้นก็เป็นชนวนที่ทำให้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่
ปัจจุบันนี้ ระบบการซื้อขาย CDS ดีขึ้นกว่าเมื่อสมัยก่อนเกิดวิกฤต เพราะมีความเป็นมาตรฐานมากขึ้น มีการควบคุมดูแลไม่ให้เกิดสัญญาซ้อนกันหลายๆ ตลบ* ส่วนในประเทศไทยนั้นเราก็มีหน่วยงานอย่าง ก.ล.ต. คอยดูแลตรวจตราอยู่ จึงพอจะมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่า CDS ไม่น่าจะก่อปัญหาร้ายแรงขนาดครั้งก่อน แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ควรใช้เหตุการณ์ในปี 2007 เป็นบทเรียนที่ย้ำเตือนให้เราไม่ประมาทกับผลตอบแทนที่ได้มาอย่างง่ายดาย ทำความเข้าใจกับความเสี่ยงและสภาพคล่องของตัวเองก่อนจะตัดสินใจข้องเกี่ยวกับธุรกรรมต่างๆ ไม่เช่นนั้นเราอาจจะเสียมากกว่าที่ควรเสียก็เป็นได้
ป.ล. ใครอยากเห็นภาพ CDS กับวิกฤตปี 2007 ชัดขึ้น ลองไปหาภาพยนตร์เรื่อง The Big Short มาดูได้นะ
*อ้างอิงจาก https://investmentmagazine.com.au/2017/12/credit-default-swaps-too-attractive-to-ignore-cheyne/
———————————–
ติดตามบทความดีๆจาก FINNOMENA ทาง LINE โดยกดลิงค์ข้างล่างนี้
http://line.me/ti/p/%40FINNOMENA
หรือค้นหาไอดี @FINNOMENA [มีเครื่องหมาย @ ด้วยครับ]