ทำความรู้จัก Beyond Meat: สตาร์ตอัพโปรตีนทางเลือกที่ทำสถิติราคา IPO พุ่งแรงสุดแห่งปี

“เพราะโปรตีนไม่ได้มีแค่ในเนื้อสัตว์”

หลายคนที่ชินกับการทานเนื้อคงไม่ค่อยจะเข้าใจเท่าไร ว่าถ้าไม่ทานเนื้อสัตว์แล้วจะได้รับโปรตีนอย่างไร อันที่จริงแล้ว นอกจากในเนื้อสัตว์ เรายังสามารถหาโปรตีนได้จากพืชเช่นกัน

บริษัท Beyond Meat ฟู้ดเทคสตาร์ตอัพสัญชาติอเมริกัน ท้าทายความเชื่อเดิมๆ ด้วยไลน์สินค้า “เนื้อที่ไม่ได้ทำจากเนื้อ แต่ทำจากพืชล้วนๆ!” ไม่ว่าจะเป็นสเต็ก ไส้กรอก หรือเนื้อบด ทุกอย่างสามารถแทนที่เนื้อสัตว์ในเมนูต่างๆ ได้ โดยที่ยังคงหน้าตาได้เหมือนเนื้อสัตว์จริงๆ แล้วเผลอๆ อาจจะรสชาติใกล้เคียงมากๆ ด้วย

ทำความรู้จัก Beyond Meat: สตาร์ตอัพโปรตีนทางเลือกที่ทำสถิติราคา IPO พุ่งแรงสุดแห่งปี

สินค้าต่างๆ ของ Beyond Meat มีทั้งสเต็ก ไส้กรอก และเนื้อบด (Source: Livekindly)

ไม่แปลกหากเราจะฉงนใจว่ามันมีอะไรแบบนี้ด้วยเหรอ ในประเทศไทย ธุรกิจประเภทนี้อาจจะยังไม่เป็นที่คุ้นเคยนัก แต่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศแถบตะวันตก สินค้าจำพวกโปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์นั้นค่อนข้างแพร่หลาย คงเพราะผู้คนส่วนใหญ่เริ่มนิยมการทานอาหารแบบวีแกน (Vegan) หรืออาหารประเภทที่ไม่ข้องเกี่ยวกับสัตว์แม้ในทางใดก็ตาม

การเข้าตลาดหุ้นของ Beyond Meat: ราคาพุ่งฉุดไม่อยู่

ล่าสุด Beyond Meat ได้ทำการ IPO หรือก็คือการเสนอขายหุ้นตัวย่อ BYND ต่อสาธารณชนครั้งแรก บนตลาด NASDAQ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา สร้างปรากฏการณ์ด้วยอัตราการพุ่งของราคาที่ 163% ในวันซื้อขายวันแรก ซึ่งถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการ IPO หุ้นทั่วโลกตั้งแต่ต้นปี 2019 เป็นต้นมา

จากราคา IPO ที่ $25 (~800 บาท) ต่อหุ้น
เปิดตลาดที่ $46 (~1,470 บาท) ต่อหุ้น
พุ่งขึ้นไปถึง $72 (~2,300 บาท) ต่อหุ้น
และปิดที่ $65.75 (~2,100 บาท) ต่อหุ้น

แถมระหว่างวันยังผันผวนมากเสียจน NASDAQ ต้องเบรกการซื้อขายชั่วคราวในช่วงหนึ่ง พอสิ้นวัน  มูลค่าตลาดของบริษัทก็กลายเป็น $3.8 พันล้าน (~1.2 แสนล้านบาท)

Beyond Meat ถือเป็นบริษัทโปรตีนทางเลือกบริษัทแรกที่เข้าตลาดหุ้น เห็นได้ชัดว่าผลตอบรับดีขนาดไหน สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่ามุมมองของนักลงทุนที่มีต่อเทรนด์การทานอาหารแบบไร้เนื้อสัตว์นั้นกำลังมาแรง และอาจปูทางไปสู่การเข้าตลาดหุ้นของบริษัทอื่นๆ ที่ทำธุรกิจนี้ก็เป็นได้

โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ Beyond Meat จะนำไปลงทุนในขั้นตอนการผลิตและพัฒนาสินค้าเพื่อสู้กับคู่แข่งรายอื่นๆ ในตลาดอันแน่นหนา จากข้อมูลของ Nielsen บอกว่าช่วงปีที่แล้วถึงต้นปีนี้ ยอดขายของสินค้าโปรตีนทางเลือกในซูเปอร์มาร์เก็ตพุ่งขึ้น 19.2% สู่ระดับ $878 ล้าน (~2.8 หมื่นล้านบาท) ถือว่าเป็นตลาดที่คึกคักมากทีเดียว เต็มไปด้วยผู้เล่นต่างๆ เช่น บริษัทจากซิลิคอน วัลเล่ย์อย่าง Impossible Foods ที่จัดส่งเบอร์เกอร์ไร้เนื้อของตนไปยังร้านอาหารต่างๆ นับพันร้าน รวมถึงร้านดังอย่าง Burger King เมื่อเดือนที่แล้วด้วย ฝั่งบริษัทที่ทำธุรกิจพัฒนาโปรตีนทางเลือก อย่าง Memphis Meat และ Sustainable Bioproducts ก็กำลังจะออกสินค้าใหม่สู่ตลาดเช่นกัน

ความพิเศษของเนื้อจาก Beyond Meat: ดีกว่าเนื้อสัตว์อย่างไร?

Beyond Meat เองก็ไม่น้อยหน้า เพราะบริษัทก็วางขายสินค้าตามร้านสะดวกซื้อทั่วสหรัฐฯ รวมถึงได้รับการนำไปประกอบเมนูต่างๆ ของร้านอาหารชื่อดัง เช่น TGI Fridays, Carl’s Jr. และกำลังตกลงสัญญาใหม่กับ Del Taco Restaurants Inc. โดยชิ้นเบอร์เกอร์ของ Beyond Meat นั้นไม่มีคอเลสเตอรอล (เพราะทำจากพืช) และมีไขมันอิ่มตัวเพียง 5 กรัมเท่านั้น เพราะทำมาจากโปรตีนถั่วกับน้ำบีทรูท ซึ่งช่วยให้ตัวเนื้อเบอร์เกอร์ออกสีแดงเมื่อนำไปโดนความร้อน ลองเอาไปเทียบกับชิ้นเบอร์เกอร์เนื้อวัวนำ้หนัก 4 ออนซ์ (~113 กรัม) ดูสิ มีคอเรสเตอรอลตั้ง 80 มิลลิกรัมและไขมันอิ่มตัวอีก 9 กรัม เห็นตัวเลขแล้วก็รู้สึกได้เลยว่าเนื้อของ Beyond Meat ดูน่าจะถูกใจคนรักสุขภาพมากกว่า

ทำความรู้จัก Beyond Meat: สตาร์ตอัพโปรตีนทางเลือกที่ทำสถิติราคา IPO พุ่งแรงสุดแห่งปี

เปรียบเทียบชิ้นเบอร์เกอร์ของ Beyond Meat กับเนื้อปกติ  (Source: www.beyondmeat.com)

นอกจากความกังวลที่มากขึ้นเกี่ยวกับสุขภาพแล้ว ผู้บริโภคสมัยนี้ก็เริ่มคำนึงถึงความเป็นอยู่ของสัตว์ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะมองหาสินค้าทางเลือกสำหรับเนื้อสัตว์ที่ทำมาจากพืช การผลิตโปรตีนทางเลือกของ Beyond Meat นั้นส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางธรรมชาติน้อยกว่าการผลิตเนื้อสัตว์ทั่วไปมาก

ทางซีอีโอของบริษัทอย่างคุณ Ethan Brown เองก็มองว่าบริษัทสามารถหาจุดร่วมระหว่างการรักษาสิ่งแวดล้อม และการตอบโจทย์ผู้ถือหุ้นได้ เขาบอกว่า “ผู้บริโภคต่างก็มองหาสินค้าที่ช่วยให้พวกเขาสุขภาพดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็ลดผลเสียที่เกิดกับธรรมชาติ ทุกครั้งที่สินค้าของเราขายได้ นั่นหมายความถึงพันธกิจของเราที่ได้รับการสานต่อ ในขณะเดียวกันก็เพิ่มยอดขายให้เราด้วย”

ทำความรู้จัก Beyond Meat: สตาร์ตอัพโปรตีนทางเลือกที่ทำสถิติราคา IPO พุ่งแรงสุดแห่งปี

คุณ Ethan Brown ซีอีโอของ Beyond Meat (Source: Inc.)

แม้ว่าโดยภาพรวม Beyond Meat จะดูสดใสดี แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมอาหารบางคนก็บอกว่านักลงทุนคาดหวังกับบริษัทมากเกินไป ซีอีโอจาก Food Strategy Associates บอกว่ามูลค่า IPO ของ Beyond Meat นั้นจะสมเหตุสมผลก็ต่อเมื่อบริษัทมีศักยภาพที่จะขยายไปต่างประเทศ สร้างสินค้าที่ดี และสามารถสร้างกำไรได้ แต่ ณ ตอนนี้ศักยภาพเหล่านี้ของ Beyond Meat ยังไม่ชัดเจนนัก รายได้ 70% ของบริษัทยังมาจากสินค้าเรือธงอย่างเบอร์เกอร์ ซึ่งเป็นเมนูโปรดของชนชาติสหรัฐฯ ดังนั้นหากอยากจะขยายไปต่างประเทศ บริษัทจะต้องขยายไลน์สินค้าตัวเองให้ไปไกลกว่าปัจจุบัน

ซึ่งเอาเข้าจริง Beyond Meat ก็มีแผนที่จะบุกตลาดต่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบแล้วละ

Beyond Meat ตีตลาด UK

ล่าสุด Beyond Meat ได้เริ่มเจาะตลาดสหราชอาณาจักร ที่ซึ่งซูเปอร์มาร์เก็ตต่างก็เริ่มวางขายสินค้าโปรตีนทางเลือก ตอนแรกบริษัทตั้งใจจะเปิดตัวเนื้อเบอร์เกอร์ใน Tesco จำนวน 350 สาขาเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว แต่สุดท้ายแผนก็ถูกเลื่อนออกไป 3 เดือนเพราะปัญหาด้านอุปทาน

ทำไมต้องสหราชอาณาจักร? ต้องยอมรับเลยว่าตลาดการบริโภคแบบไร้เนื้อสัตว์นั้นถือว่ามาแรงมากที่นี่ เมื่อปีที่แล้วซูเปอร์มาร์เก็ตระดับท็อปอย่าง Waitrose กว่า 130 สาขาถึงกับต้องจัดส่วนที่ขายสินค้าวีแกนโดยเฉพาะ ส่วนยอดขายสินค้าไร้เนื้อสัตว์ในซูเปอร์มาร์เก็ต Iceland นั้นก็พุ่งขึ้น 10% ในหนึ่งปี งานวิจัยโดย Vegan Society ในปี 2016 ได้คาดการณ์ไว้ว่ามีชาววีแกนประมาณ 540,000 คนในสหราชอาณาจักร ขึ้นมาเยอะมากเมื่อเทียบกับจำนวน 150,000 คนในปี 2006

เรียกได้ว่าเป็นอีกตลาดที่น่าสนใจเลยทีเดียว หากประสบความสำเร็จก็น่าจะสร้างรายได้ให้ Beyond Meat อย่างเป็นกอบเป็นกำ

ทำความรู้จัก Beyond Meat: สตาร์ตอัพโปรตีนทางเลือกที่ทำสถิติราคา IPO พุ่งแรงสุดแห่งปี

ส่วนที่ขายสินค้า Vegetarian และ Vegan ใน Waitrose (Source: Instagram @gujukitchen )

แต่เดี๋ยวก่อน! จริงๆ แล้ว Beyond Meat ก็ยังขาดทุนอยู่

ถึงอย่างนั้น ปี 2018 ที่ผ่านมานี่ถือว่าขาดทุนน้อยลง สวนทางกับรายได้ที่โตเกิน 50% มาเป็นปีที่ 2 แล้ว

ในปีที่แล้วบริษัทขาดทุน $29.9 ล้าน (~950 ล้านบาท) ขณะที่รายได้เป็น $87.9 ล้าน (~2.8 พันล้านบาท)
เทียบกับเมื่อปี 2017 นั้นขาดทุน $30.4 ล้าน (~970 ล้านบาท) ขณะที่รายได้เป็น $32.6 ล้าน (~1,000 ล้านบาท)

คุณ Brown บอกว่าช่วง 2017 และ 2018 นั้นสินค้าเกิดความขาดแคลน จึงต้องเร่งลงทุนเพื่อผลิตให้ทันความต้องการของลูกค้า

พอเห็นตัวเลขขาดทุนแบบนี้ เราอาจจะสงสัยว่าแล้วทำไมนักลงทุนถึงกระหายอยากได้หุ้น BYND กันนัก? นั่นเพราะพวกเขาถูกดึงดูดด้วยตัวเลข Gross Margins หรืออัตรากำไรขั้นต้น ซึ่งประกาศออกมาที่ 25% ในไตรมาสแรก และที่ 20% สำหรับปี 2018 นับเป็นตัวเลขที่สูงขึ้นจากตัวเลขติดลบเมื่อปีก่อนหน้านี้

ขอรายชื่อคนดังๆ ที่ลงทุนใน Beyond Meat หน่อยซิ

นักลงทุนของ Beyond Meat นั้นก็ไม่ธรรมดา ตัวอย่างเช่น Leonardo DiCaprio, Bill Gates, อดีต CEO ของ McDonald’s, บริษัท Venture Capital นามว่า Kleiner Perkins Caufield & Byers LLC ที่ถือครองหุ้นกว่า 16% และ Obvious Ventures ที่ถือหุ้น 9%

ก่อนหน้านี้ Tyson Foods Inc. บริษัทผลิตเนื้อรายใหญ่สุดของสหรัฐฯ ก็เคยถือหุ้น Beyond Meat อยู่ 6.5% เหมือนกัน แต่ก็ได้ขายหุ้นออกไปแล้วทั้งหมดเมื่อสัปดาห์ก่อน เพราะ Tyson Foods มุ่งหวังจะพัฒนาสินค้าโปรตีนทางเลือกของตัวเอง สะท้อนให้เห็นความเข้มข้นของการแข่งขันในตลาดนี้ที่ดูน่าจะสร้างผลกำไรได้ดี ไม่ว่าใครก็อยากลงมาเล่น

ลูกค้าต้องมาก่อน โลกไว้ทีหลัง ซีอีโอเค้าว่ามา

แม้ว่า Beyond Meat จะมีพันธกิจด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมที่สำคัญแค่ไหน แต่คุณ Brown ก็บอกว่าอย่างไรก็ตามบริษัทก็จะเลือกให้ลูกค้ามาที่หนึ่งเสมอหากจำเป็นจริงๆ ตัวอย่างก็เช่น บรรจุภัณฑ์ของ Beyond Meat ที่ทำจากพลาสติก ซึ่งขัดแย้งกับพันธกิจของบริษัทที่ดูรักโลก แต่บริษัทก็ต้องการให้สินค้าดูมีคุณภาพ จึงยอมที่จะแลกเปลี่ยนในจุดนี้

ถึงอย่างนั้น คุณภาพที่ดีก็ไม่ได้หมายถึงราคาที่แพงเสมอไป ทางคุณ Brown บอกว่าท้ายที่สุดแล้วก็อยากจะลดราคาสินค้าของตัวเองที่ตอนนี้แพงกว่าเนื้อปกติตั้ง 2 เท่า ในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ Beyond Meat มุ่งหวังอยากจะขายราคาถูกกว่าเนื้อสัตว์ทั่วไป เพื่อให้คนหมู่มากเข้าถึงโปรตีนทางเลือกนี้มากขึ้น ช่วยให้พันธกิจของบริษัทมีความเป็นจริงมากขึ้น

ต้องมาติดตามกันต่อไปว่า Beyond Meat จะประสบความสำเร็จหรือไม่? จะสามารถยืนหยัดท่ามกลางการแข่งขันอันเข้มข้นหรือเปล่า? จะสามารถเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้คนเราเปลี่ยนมานิยมโปรตีนทางเลือกแทนเนื้อสัตว์หรือไม่? ที่แน่ๆ คือ Beyond Meat ก่อตั้งขึ้นมาพร้อมพันธกิจที่หวังดีต่อมนุษย์และธรรมชาติ จึงถือว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม

ลองคิดดูกันเล่นๆ ว่าถ้า Beyond Meat มาไทย จะต้องแตกไลน์สินค้าเป็นอะไรบ้างนะ?

ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.beyondmeat.com/

http://fortune.com/2019/05/02/beyond-meat-ipo-stock-price/
https://www.bbc.com/news/business-48141428
https://techcrunch.com/2019/05/02/beyond-meat-rockets-in-early-trading-on-nasdaq-reaching-a-valuation-of-over-3-billion/
https://www.ft.com/content/3727bd9e-6cf7-11e9-a9a5-351eeaef6d84

ที่มาบทความ:
https://thezepiaworld.com/2019/05/04/beyond-meat/

TSF2024