ขอเปิดประเดิมบทความแรกของเราในคอลัมน์ Alpha Pro ด้วยแนวคิดที่เราค้นพบเมื่อ 2 ปีก่อนค่ะ เราเคยเขียนถึง The Four Tendencies ไปแล้วครั้งหนึ่งครั้นรู้จักกันครั้งแรก ครั้งนี้เลยอยากขอกลับมาเขียนทบทวนถึงอีกครั้งหลังพบเจอผู้คนมากขึ้น และได้เห็นว่าแนวคิดนี้ปรากฏอยู่ในชีวิตจริงอย่างไรบ้าง
เราขอเล่าคร่าวๆ ก่อน แนวคิด The Four Tendencies คิดค้นโดยคุณ Gretchen Rubin เธอเป็นนักเขียนและนักพูดด้านการพัฒนาตัวเอง โดยแนวคิดนี้เธอได้นำมาเขียนเป็นหนังสือด้วย โดย The Four Tendencies กล่าวถึงผู้คน 4 ประเภท ซึ่งการแยกประเภทนี้ขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาการตอบสนองต่อความคาดหวัง ไม่ว่าจะมาจากภายในหรือภายนอก
ความคาดหวังภายใน คือ สิ่งที่เราคาดหวังกับตัวเอง เช่น อยากออกกำลัง อยากทานอาหารดีๆ อยากเขียนงานให้เสร็จ
ความคาดหวังภายนอก คือ สิ่งที่คนอื่นคาดหวังกับเรา เช่น ครอบครัวอยากให้เราใช้เวลาด้วย เพื่อนอยากให้เราไปงานเลี้ยง หรือ บ.ก. อยากให้เราส่งต้นฉบับให้ทันเดดไลน์ (เอ๊ะ คุ้นๆ)
ทีนี้ แต่ละคนก็จะตอบรับความคาดหวังแต่ละแบบแตกต่างกันไปค่ะ ซึ่งวิธีรับมือกับคนแต่ละรูปแบบก็จะต่างกันไปด้วย ในหลายๆ ครั้ง ปัญหาเกิดขึ้นจากการที่เราตอบโต้ผิดวิธี เพราะเราไม่รู้ว่าเรากำลังคุยกับคนประเภทไหน หรือ ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วตัวเองเป็นประเภทไหนกันแน่ ปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้เราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายต่างๆ ที่วางไว้ได้
เบื้องต้น หากใครอยากทราบว่าตัวเองหรือคนรอบกายเป็นประเภทไหน ลองเข้าไปเล่นควิซดูได้ที่ https://quiz.gretchenrubin.com หรือถ้าใครอยากทดสอบเร็วๆ ลองถามตัวเองหรือคนรอบกายดูได้ค่ะว่ารายละเอียดข้างล่างนี้ อันไหนอธิบายตัวตนสุด
แบบที่ 1: ชอบความมีระเบียบ ชอบการมีกิจวัตร ต้องการผลลัพธ์ที่ชัดเจน งานตัวเองงานคนอื่นทำเสร็จหมด
แบบที่ 2: ช่างถาม ช่างสงสัย ใครพูดอะไรมาก็จะกังขาก่อน ไม่เชื่อเสียทีเดียว ให้ความสำคัญกับงานตัวเองก่อน
แบบที่ 3: ความสุขของคนอื่นต้องมาก่อน ตัวเองไว้ทีหลัง ขอทำงานของคนอื่นให้เสร็จก่อน กลัวเขาผิดหวัง
แบบที่ 4: รักอิสระ ไม่ทำตามใจใคร ชอบความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องสั่งนะ อยากทำเมื่อไรเดี๋ยวทำเอง
เมื่อรู้แล้วว่าตัวเองหรือคนรอบกายเป็นแบบไหน ลองมาดูกันเลยค่ะว่าแต่ละแบบตกอยู่ในลักษณะไหนบ้าง ดูภาพประกอบข้างล่างจะช่วยให้เข้าใจมากขึ้น
เราจะขออธิบายไล่จากข้างบนลงมาข้างล่างนะคะ หลักๆ บทความนี้ขอเน้นที่การรับมือกับคนอื่นๆ ละกัน เพราะปัญหาส่วนใหญ่มักจะมาจากการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ นี่ละ
แบบที่ 1: Upholder – จัดการได้ทั้งความคาดหวังภายในและภายนอก
เป็นประเภทที่ดูเหมือนจะน่าอิจฉา เพราะคนกลุ่มนี้คิดอยากจะทำอะไรก็ทำได้ดั่งใจ ครั้นมีคนมาขอให้ช่วยทำอะไร ก็ยังสามารถรับมือได้อีกแน่ะ เรียกได้ว่าจัดการได้ทั้งศึกนอกศึกใน ขอเพียงแค่บอกมาว่าเป้าหมายคืออะไร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนกลุ่มนี้ชอบความมีระเบียบแบบแผน ชอบการทำเป็นกิจวัตร
ขอเขียนถึงประเภทนี้เยอะหน่อยละกัน เพราะตัวเราเองนั้นเป็น Upholder ค่ะ ซึ่งอุปนิสัยหลายๆ อย่างก็ค่อนข้างตรงกับชีวิตเรา ตัวอย่างเช่น เราเสพติดความเป็นกิจวัตรมากๆ หากเราชอบทำอะไร เราจะสามารถแทรกมันลงไปในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งของวันได้ ในแง่หนึ่งมันเป็นข้อดีเพราะเราได้ทำอะไรที่เราตั้งใจทำจริงๆ (เช่น อ่านหนังสือทุกวัน) แต่ขณะเดียวกัน มันก็จะมีความจำเจและไม่ยืดหยุ่นอยู่บ้าง (วันนี้ไม่ไปทานข้าวนะ เพราะติดออกกำลัง) อย่างว่าละค่ะ อะไรที่มันสุดโต่งเกินไปย่อมไม่ดี ตอนนี้เราเลยพยายามหาจุดสมดุลระหว่างกิจวัตรกับความยืดหยุ่นอยู่ อย่างบางวัน ถ้าเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันนานชวนทานข้าว เราก็ยอมเปลี่ยนกิจกรรมของเราไปหาเพื่อนแทน เพราะไม่ใช่ว่าจะได้เจอเพื่อนบ่อยๆ นี่นะ หรืออย่างเวลาทำงาน เรามักจะติดนิสัยทำคนเดียวเพราะเชื่อว่าเราทำได้ดี ซึ่งมันก็จะเหนื่อย แต่ช่วงหลังๆ เราก็พยายามเรียนรู้วิธีการส่งต่องานให้เพื่อนร่วมงานท่านอื่นๆ บ้าง เพราะสุดท้ายแล้วจริงๆ เราก็ไม่ได้เก่งทุกอย่างหรอก บางอย่างให้คนที่เขาเก่งด้านนี้ไปเลยทำก็ออกมาดีกว่า ไม่เหนื่อยเราด้วย
หากใครต้องรับมือกับ Upholder ก็จะต้องสื่อสารเป้าหมายให้ชัดเจนว่าต้องการอะไร ถ้า Upholder เข้าใจก็พร้อมจะทำให้อยู่แล้ว และถ้าใครโดน Upholder ดุด่าว่ากล่าวบ่อยๆ ก็อย่าเพิ่งไปโกรธเคืองกันไป ขอให้เข้าใจว่ามันเป็นนิสัยของ Upholder ที่รักความเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่นอกลู่นอกทาง หากเป็นไปได้ก็ช่วยอยู่เคียงข้าง Upholder เวลาเจอการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่กระทบกับชีวิตประจำวันของเขาด้วยนะ เพราะถ้า Upholder รับมือไม่ทัน งานการก็อาจจะเขวเหมือนกัน
แบบที่ 2: Questioner – จัดการความคาดหวังภายในได้ แต่ต่อต้านความคาดหวังภายนอก
ในชีวิตเราน่าจะเคยเจอคนประเภทหนึ่ง ที่ยกมือถามบ่อยๆ ในห้องเรียนหรือห้องประชุม เป็นบุคคลที่มาพร้อมข้อสงสัยตลอดเวลา ซึ่งถ้าใครเคยเจอคนประเภทนี้ก็น่าจะพอจำได้ว่าเป็นคนที่ทำงานด้วยยากพอสมควร เพราะกว่าจะโน้มน้าวให้เขาทำอะไรสักอย่าง ก็ต้องชักเหตุผลล้านแปดมาสนับสนุนคำพูดของเราเอง
จริงๆ แล้วคนกลุ่มนี้ แค่ต่อต้านความคาดหวังจากภายนอกค่ะ นั่นหมายความว่า หากมีใครคาดหวังให้ทำอะไร เขาจะไม่ทันที หากเขามองว่ามันไม่ตอบโจทย์ความคาดหวังภายในของตัวเอง ถ้าให้พูดแบบภาษาง่ายๆ คือ ถ้าทำแล้วตัวเองไม่ได้อะไร ก็จะไม่อยากทำ
เพราะฉะนั้น เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว หากเราต้องการจะให้ Questioner ช่วยเหลือ ก็จะต้องแถลงเหตุผลให้ชัดเจน ที่สำคัญคือต้องบอกให้เขารู้ว่าทำอย่างนี้แล้วเขาจะได้ประโยชน์อะไร พยายามเชื่อมโยงความคาดหวังภายนอกของเรา ให้เข้ากับความคาดหวังภายในของเขา เพราะถ้าสั่งเขาอย่างเดียวโดยไม่บอกเหตุผล อาจจะยิ่งทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งได้
เรื่องสำคัญอย่างหนึ่งที่อยากให้ระวังไว้คือ พยายามอย่าตั้งคำถามเชิงตัดสินกับ Questioner เพราะการที่ Questioner ทำอะไรสักอย่าง ย่อมถูกไตร่ตรองและหาเหตุผลมารองรับอย่างดีแล้ว (ผ่านการตั้งคำถามล้านแปดกับตัวเองนั่นละ) ฉะนั้นถ้าเราไปถามอะไรเขา ก็เหมือนเราไปลบหลู่เขาดีๆ นี่เอง ถ้าอยากถามจริงๆ ให้ถามเหมือนเป็นเชิงให้เขาเล่าเรื่องดีกว่า เช่น เปลี่ยนจาก ทำไมทำแบบนั้น เป็น ไอเดียนี้ท่านได้แต่ใดมา
แบบที่ 3: Obliger – จัดการความคาดหวังภายนอกได้ แต่ต่อต้านความคาดหวังภายใน
นี่น่าจะเป็นคนอีกประเภทที่พบเจอกันได้บ่อยๆ คนประเภทนี้จะได้ฉายา “พ่อพระ แม่พระ” คือเป็นคนใจดี เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน พร้อมที่จะพลีชีพช่วยเหลือทุกๆ คน เรียกได้ว่าเป็นฮีโร่ขวัญใจของสังคม ฟังดูแล้วเหมือนไม่น่าจะมีปัญหาอะไร น่าจะรับมือได้ง่ายๆ แต่เรื่องไม่จบแค่นี้ค่ะ
คนกลุ่มนี้ พร้อมที่จะตอบรับความคาดหวังจากคนอื่นๆ ฉะนั้นไม่ว่าใครจะขออะไร คนกลุ่มนี้ก็พร้อมทำให้ พวกเขายกให้คนอื่นๆ มาก่อนความต้องการของตัวเอง กลายเป็นว่างานของคนอื่นน่ะทำเสร็จ แต่งานที่ตัวเองอยากทำจริงๆ ทำไม่เสร็จสักที
การรับมือกับ Obliger จริงๆ มีความคล้ายกับ Upholder ตรงที่ว่าถ้าเราอยากให้เขาช่วยอะไร ก็คุยได้ไม่ยาก เพราะ Obliger ต้องการความรู้สึกของ “การมีตัวตนภายในสังคม” ผ่านการช่วยเหลือคนอื่น ฉะนั้นยิ่งสิ่งที่เราอยากให้เขาช่วยนั้นส่งผลกระทบในวงกว้างมากเท่าไร เขาก็ยิ่งอยากทำ
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ใช่ว่าให้เขาเป็นฝ่ายช่วยเราอยู่ฝ่ายเดียวนะ เพราะความสัมพันธ์ที่ดีย่อมมาจากการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน บางที Obliger อาจจะมีสิ่งที่อยากทำเป็นการส่วนตัว ซึ่งคงไม่สำเร็จหากเขาทำอยู่คนเดียว เราก็สามารถเข้าไปช่วยหรือให้กำลังใจเขาได้ ให้เขารู้ว่าเขาไม่ได้ทำอยู่คนเดียว นอกจากจะเสริมสร้างความสัมพันธ์แล้ว ยังช่วยให้ Obliger ไม่เครียดจนเกินไปด้วย
แบบที่ 4: Rebel – ต่อต้านทั้งความคาดหวังภายในและภายนอก
อ่านหัวข้อแล้วอาจจะรู้สึกว่า เอ๊ะ มีด้วยเหรอ ความน่าแปลกคือมีค่ะ และมีคนรอบตัวเราที่เป็นอย่างนี้ด้วย คนกลุ่มนี้จะมีความอินดี้ค่อนข้างสูง เอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้ เราเดาทางเขาไม่ค่อยถูก บางทีเขาก็จะมีไอเดียแปลกๆ แหวกกฏเกณฑ์มานำเสนอ แต่บางทีเขาก็ไม่ฟังเราเลยว่าเราต้องการอะไร
คนกลุ่มนี้ ขัดทั้งความคาดหวังของตัวเองและคนอื่นๆ ใครสั่งให้ทำอะไรก็ไม่ค่อยอยากจะทำ ตัวเองสั่งตัวเองยังยากเลย ถามว่าคนกลุ่มนี้เขามีชีวิตอยู่อย่างไร ดูเหมือนว่าพวกเขาจะเน้นใช้ความเป็นอิสระเป็นตัวนำทางชีวิต บางทีก็เป็นพวกกบฏสวนทางชาวบ้าน มีความเป็นตัวของตัวเอง
การรับมือกับคนกลุ่มนี้นั้นค่อนข้างยากนิดหนึ่ง ถ้าเราไปขออะไรตรงๆ อาจจะไม่ได้ดั่งใจ พานให้หัวเสียกลับมา ทางที่ดีคือ เราแค่บอกภาพกว้างๆ กับเขา แล้วเราปล่อยเขาไปเลย ให้อิสระเขาเต็มที่ ให้เขาได้ตัดสินใจทำอะไรด้วยตัวเอง เพื่อที่เขาจะได้รู้สึกเหมือนตัวเองกุมอำนาจ
อีกวิธีคือ ในเมื่อ Rebel เป็นพวกชอบกบฏ การท้าทายเขาก็ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจหากเราอยากให้เขาทำอะไร นั่นหมายความว่า แทนที่เราจะขอเขาตรงๆ ว่า “ทำอันนี้ให้หน่อย” อาจจะเปลี่ยนเป็นการพูดอ้อมๆ ว่า “อันนี้เธอน่าจะทำไม่ได้มั้ง” ถ้า Rebel เจอประโยคหลัง ก็จะรู้สึกฮึกเหิมและอยากพิสูจน์ว่ามันไม่จริง อยากสวนทางสิ่งที่เราบอกออกไป
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ หากเรารู้ว่าเพื่อนร่วมงานหรือคนรอบตัวเราเป็นประเภทไหน เราก็จะสามารถรับมือกับพวกเขาได้ถูกจุดมากยิ่งขึ้น รวมถึงเข้าใจเหตุผลเบื้องหลังการกระทำต่างๆ ของพวกเขา และรู้ว่าควรกระตุ้นจุดไหนถึงจะได้ผลลัพธ์ที่เราต้องการ เพราะอย่างไรเสีย การจะทำเป้าหมายอะไรให้สำเร็จ บางทีก็ไม่ใช่แค่เราคนเดียว แต่ต้องร่วมมือกับคนหลายๆ คน เพราะฉะนั้นการทำความรู้จักคนแต่ละประเภท เรามองว่าเป็นการเพิ่มศักยภาพในการทำงานและรับมือกับผู้คน แทนที่จะมานั่งเดาใจกันว่าอีกฝ่ายมีจุดประสงค์อะไร หากเรารู้ว่าต่างฝ่ายตอบรับต่อความคาดหวังแบบไหน เราก็จะสามารถทำความเข้าใจเขาได้ง่ายและเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งการจะรู้ว่าอีกฝ่ายเป็นประเภทไหน อาจจะมาจากการสังเกตของเราเอง หรืออาจจะให้เขาลองเล่นควิซดูก็ได้ค่ะ เราเคยเอาควิซมาแชร์กับเพื่อนร่วมงาน ก็ช่วยให้เข้าใจแต่ละคนได้มากขึ้นนะคะ
tanhnanchya
Alpha Pro EP.5
ที่มาบทความ: https://adaybulletin.com/know-alpha-pro-the-four-tendencies/
อ่านบทความอื่น ๆ จากคอลัมน์ Alpha Pro ได้ที่ https://www.finnomena.com/alphapro/