“ส่งลูกเรียนโรงเรียนแบบไหนดี?”
“โรงเรียนแบบนี้ ต่างกับโรงเรียนแบบอื่นยังไง”
เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะเคยผ่านตากระทู้หัวข้อแนวนี้มาก่อน สะท้อนให้เห็นว่าคุณพ่อคุณแม่หลายท่านที่กำลังวางแผนจะมีลูก หรือมีลูกที่อยู่ในวัยที่กำลังจะต้องตัดสินใจเข้าโรงเรียน นั้นมีคำถามล้านแปดมากมายว่าควรส่งลูกเรียนโรงเรียนแบบไหนดี เพราะสมัยนี้ก็มีโรงเรียนมากมายเต็มไปหมด แค่ตัดสินใจว่าจะเลือกโรงเรียนรัฐบาลหรือเอกชนก็ยากพอแล้ว แต่นี่โรงเรียนเอกชนยังแยกออกมากมาย เช่น โรงเรียนคาทอลิก สองภาษา ทางเลือก ฯลฯ ซึ่งต่างก็มีจุดเด่นและค่าใช้จ่ายที่ต่างกันออกไป
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ยังไม่ทราบว่าโรงเรียนแตกต่างกันอย่างไร ค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไร เราได้ลองสร้างแบบสอบถาม และแจกจ่ายให้เด็กกลุ่มหนึ่งเพื่อให้พวกเขาแชร์ว่าโรงเรียนประเภทที่พวกเขาได้เรียนหรือจบมานั้นมีจุดเด่นและจุดที่ต้องคำนึงถึงอย่างไรบ้าง นอกจากนี้เรายังส่งแบบสอบถามอีกชุดให้คุณพ่อคุณแม่กลุ่มหนึ่ง เพื่อรวบรวมความเห็นว่าทำไมพวกเขาถึงส่งลูกเรียนโรงเรียนประเภทนั้นๆ
สำหรับบทความนี้เราขอยกตัวอย่างมา 6 ประเภทด้วยกัน นั่นก็คือโรงเรียนรัฐบาล คาทอลิก สาธิต ทางเลือก สองภาษา และ นานาชาติ มาทำความรู้จักโรงเรียนแต่ละแบบไปพร้อมๆ กันเลย ทั้งนี้ทั้งนั้น นี่เป็นเพียงข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างกลุ่มหนึ่ง อาจจะครอบคลุมหมดหรืออาจจะไม่ครอบคลุม ยังไงถ้าใครสนใจโรงเรียนประเภทไหนเพิ่มเติมก็ลองหาข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ประกอบไปด้วยนะ
สารบัญ
- โรงเรียนรัฐบาล
- โรงเรียนคาทอลิก
- โรงเรียนสาธิต
- โรงเรียนทางเลือก
- โรงเรียนสองภาษา
- โรงเรียนนานาชาติ
- สรุป เลือกโรงเรียนไหนดี
1. โรงเรียนรัฐบาล
“เรียนโรงเรียนรัฐบาล (รวมถึงมหา’ลัย) ทำให้ได้เห็นสังคมที่ธรรมดา ติดดินแบบสุดๆ เวลาไปค่ายหรือไปทำอะไรที่ลำบาก จะขึ้นรถเมล์ ลงเรือ ทุกคนดูแลตัวเองได้ ไม่เคยมีใครบ่นว่ารู้สึกลำบากเลย ซึ่งข้อนี้ทำให้เราเห็นว่าชีวิตครอบครัวเรา ที่เรามองว่ามันไม่ดีเหมือนคนอื่น พอได้เข้ามาโรงเรียนนี้ ทำให้เราเห็นคุณค่าในชีวิตตัวเองมากขึ้น ว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้มันดีมากๆแล้ว”
“ค่าเทอมไม่แพงมาก สามารถส่งตัวเองเรียนได้ อัตราการแข่งขันเพื่อจะเข้าค่อนข้างสูง ทำให้ได้เพื่อน ได้สังคมดี ”
“ทำให้ได้เจอกับคนจากสังคมหลายประเภทมาก ซึ่งส่งผลให้มีโอกาสได้เรื่องรู้เรื่องต่างๆ จากคนที่มาจากสังคมต่างกัน”
เมื่อถามว่าโรงเรียนรัฐบาลมีจุดเด่นหรือประโยชน์ที่พวกเขาได้รับแบบไหนบ้าง ส่วนใหญ่ศิษย์เก่าโรงเรียนรัฐบาลจะเห็นตรงกันว่าได้ค่าเทอมที่ถูก และได้เห็นสังคมที่หลากหลาย รู้จักการใช้ชีวิตแบบติดดิน ทำให้รู้สึกเหมือนได้ “เตรียมพร้อม” เจอชีวิตต่อจากนี้ ทางฝั่งพ่อแม่ที่ส่งลูกเรียนโรงเรียนรัฐบาลนั้นส่วนใหญ่ก็เลือกโรงเรียนเพราะค่าเทอมที่ไม่แพง ความมีชื่อเสียง ความใกล้บ้าน และบางส่วนก็เลือกเพราะตัวเองเคยเป็นศิษย์เก่า
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโรงเรียนรัฐบาลนั้นเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่พ่อแม่หลายท่านเลือก เพราะค่าใช้จ่ายที่เมื่อเทียบกับตัวเลือกอื่นๆ แล้วค่อนข้างย่อมเยาว์ (ประมาณ 3,000-6,000 บาทต่อปี) หลายคนอาจจะคิดว่าใครๆ ก็เข้าโรงเรียนประเภทนี้ได้ และอาจถูกมองว่าเป็นตัวเลือกธรรมดาตัวหนึ่ง แต่เอาเข้าจริงโรงเรียนรัฐบาลก็มีการเรียนการสอนที่เข้มข้นไม่แพ้กัน นอกจากนี้ ครูที่จะเข้ามาสอนในโรงเรียนรัฐบาลได้นั้นก็ต้องผ่านการสอบเป็นครูก่อน ทางด้านกฎระเบียบก็จะค่อนข้างเข้มงวด ตั้งแต่ทรงผมจนถึงเครื่องแบบ
ว่าแต่ว่า นอกจากจุดเด่นๆ ที่เป็นด้านดีแล้ว มีจุดไหนที่ควรคำนึงถึงเพิ่มเติมมั้ยนะ ถ้าจะส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนรัฐบาล? ลองมาดูความเห็นส่วนหนึ่งจากศิษย์เก่าโรงเรียนรัฐบาลกันเลย
“จุดอ่อนคือสภาพแวดล้อมสังคมในโรงเรียน จะปะปนไปทั้งเด็กที่ตั้งใจเรียน เด็กที่ไม่สนใจเรียน เด็กที่ออกจะดูสก๊อยๆ เถื่อนๆ ซึ่งจะแยกห้องกันชัดอยู่แล้ว ตรงนี้มองว่าเป็นจุดอ่อนเพราะถ้าเด็กที่ครอบครัวใส่ใจไม่มากพอ แล้วไปอยู่ในกลุ่มที่ไม่ดี จะพากันเสีย พากันออกนอกลู่นอกทางได้ง่ายมาก … คงต้องมีการควมคุม หรือ สอนการใช้ชีวิตในสังคมให้มากขึ้น มากกว่าวิชาการอย่างเดียว”
“จำนวนอาจารย์น้อยเกินไป หลักสูตรพัฒนาช้า นโยบายเยอะ ขั้นตอนการตัดสินใจเยอะ”
นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของจุดที่เหล่าศิษย์เก่ามองว่ายังเป็นจุดอ่อนอยู่ ซึ่งพ่อแม่ท่านไหนที่อยากส่งลูกเข้าโรงเรียนรัฐบาลก็ควรคำนึงถึงจุดเหล่านี้เช่นกัน
2. โรงเรียนคาทอลิก
ข้ามมาฝั่งโรงเรียนเอกชนบ้าง อีกหนึ่งตัวเลือกที่พ่อแม่หลายท่านนิยมส่งลูกไปเรียนคือโรงเรียนคาทอลิก เป็นโรงเรียนที่มีพื้นฐานมาจากศาสนาคริสต์ องค์ประกอบหลายๆ อย่างมีความเป็นศาสนาคริสต์ ตั้งแต่ชื่อโรงเรียน ไปจนถึงวิธีการเรียกครูบาอาจารย์ ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่านักเรียนต้องเป็นคริสต์นะ จากที่เราลองหาข้อมูลมา ส่วนใหญ่นักเรียนก็ยังนับถือศาสนาพุทธ การเรียนการสอนก็ยังอิงกับหลักสูตรไทยของกระทรวงศึกษาธิการตามปกติ สำหรับค่าใช้จ่ายต่อปีนั้น จากแบบสอบถามของเรา ถ้าเป็นหลักสูตรไทยปกติจะอยู่ที่ประมาณ 80,000-90,000 บาทต่อปี แต่ถ้าเป็นหลักสูตร English Program ค่าใช้จ่ายอาจพุ่งขึ้นเป็นแสนต้นๆ ต่อปี เรียกได้ว่าคูณสองจากหลักสูตรไทย
ลองมาดูกันว่าเหล่าศิษย์เก่าได้รับอะไรจากโรงเรียนคาทอลิกบ้าง
“โรงเรียนคาทอลิกให้สังคมและเพื่อนๆ ที่ค่อนข้างกว้าง นอกจากนี้ยังได้ประโยชน์จากเครือข่ายของโรงเรียนด้วย”
“ด้วยความที่โรงเรียนคาทอลิกมีประวัติยาวนาน จึงมีชื่อเสียงที่ค่อนข้างดี โดยเฉพาะด้านวิชาการ”
“โรงเรียนคาทอลิกจะมี connection กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วย อาจมีพิจารณาให้ทุนเรียนฟรีสำหรับเด็กเรียนดี นอกจากนี้ก็มีการเชิญติวเตอร์ชื่อดังมาสอน ซึ่งก็จะไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นติวเตอร์จากที่ไหน ทางด้านวิชาการ โดยส่วนตัวมองว่าเด่นด้านศิลป์-ภาษา ในแง่ที่ว่ามีภาษาให้เลือกเรียนหลากหลาย”
ดูเหมือนว่าศิษย์เก่าจากโรงเรียนคาทอลิก จะเห็นความสำคัญในเชิงสังคมที่กว้างขึ้น ได้เพื่อนเยอะ โดยเฉพาะเพื่อนจากต่างโรงเรียนที่อยู่ในเครือเดียวกัน ซึ่งถ้าเป็นโรงเรียนประเภทอื่นๆ ที่ไม่ได้มีเครือพันธมิตร อาจเป็นเรื่องยากที่เด็กจะได้ไปสานสัมพันธ์กับโรงเรียนอื่นๆ นอกเหนือไปจากนั้นยังมีข้อได้เปรียบด้าน connection เชิงวิชาการที่ค่อนข้างกว้าง ต่อยอดได้ง่าย ทางฝั่งคุณพ่อคุณแม่ที่ส่งลูกเรียนโรงเรียนคาทอลิก พวกเขาก็เลือกเพราะปัจจัยด้านสังคม และชื่อเสียงของโรงเรียนเช่นกัน
แล้วแบบนี้มีจุดไหนที่ศิษย์เก่าเห็นว่ายังเป็นจุดอ่อนอยู่บ้าง?
“โรงเรียนมักไม่ค่อยเปิดรับสิ่งอื่น ใช้หลักสูตรสามัญและเรียนหนักไป”
“มีครูไม่ค่อยเยอะ อยากให้มีมากกว่านี้ เพราะโรงเรียนรับเด็กค่อนข้างเยอะ บางทีก็เยอะไป”
ก็อาจจะเป็นเรื่องของการเรียนที่ค่อนข้างหนักหน่วง และบุคลากรที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนเด็ก ที่อาจจะเป็นจุดที่โรงเรียนสามารถพัฒนาได้
3. โรงเรียนสาธิต
โรงเรียนสาธิต เป็นโรงเรียนที่อยู่ภายใต้การดูแลของคณะศึกษาศาสตร์หรือคณะครุศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเป็นสถานฝึกปฏิบัติงานของนิสิตนักศึกษาในคณะนี้ ดังนั้น นอกจากจะมีแค่ครูบาอาจารย์วัยผู้ใหญ่แล้ว นักเรียนก็จะได้เรียนกับนิสิตนักศึกษาฝึกสอนด้วย ซึ่งก็อาจนำมาซึ่งวิธีการเรียนการสอนใหม่ๆ และวิธีคิดที่นอกกรอบ ผู้สอนมีช่วงอายุที่ใกล้เคียงกับนักเรียนมากขึ้น จึงมีแนวโน้มเชื่อมสัมพันธ์กันได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ เด็กๆ ที่เรียนโรงเรียนสาธิตก็จะได้รับการเตรียมพร้อมอย่างครบครันหากหวังจะเข้ามหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่กำกับดูแล นอกจากนี้โรงเรียนสาธิตยังมีตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมปลายเลยละ สามารถเรียนได้อย่างยาวๆ เลยหากตั้งใจไว้แบบนั้น ก็จะไม่ต้องเผชิญการสอบเข้ามหาโหด ส่วนการเข้าเรียนสำหรับเด็กใหม่ก็จะค่อนข้างเข้มข้นหน่อย ต้องสอบแข่งขันกันในด้านวิชาการ จึงเชื่อกันว่าเด็กสาธิตจะวิชาการแน่นสุดๆ
ทั้งนี้ โรงเรียนสาธิตเป็นได้ทั้งโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยที่โรงเรียนสังกัดอยู่น่ะเอง
“ชื่อเสียงน่าเชื่อถือ และ มีตั้งแต่ชั้นประถมถึงมัธยมปลาย ลูกได้มีเพื่อนที่รู้จักกันเป็นเวลายาวนาน”
“มีทั้งหญิง ชาย เด็กกล้าแสดงออก สิ่งแวดล้อมดี เป็นตัวของตัวเอง”
นี่คือความเห็นส่วนหนึ่งจากคุณพ่อคุณแม่ที่ส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนสาธิต ซึ่งปัจจัยก็จะมีตั้งแต่ชื่อเสียง ชั้นเรียนที่มีตั้งแต่เด็กจนโต สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาการตัวตนของเด็ก ค่าใช้จ่ายต่อปีจะอยู่ที่ประมาณ 25,000-50,000 บาทต่อปี จากแบบสอบถามของเรา ส่วนศิษย์เก่าโรงเรียนสาธิตก็บอกมาว่า “จุดเด่นของสาธิตคือมีกิจกรรมให้ทำเยอะ แต่จุดที่อยากให้พัฒนาคือวิชาที่เน้นทักษะภาษา” อาจจะไม่ได้เป๊ะเท่าโรงเรียนคาทอลิก หรือ โรงเรียนสองภาษา
4. โรงเรียนทางเลือก
หลายคนอาจจะไม่ค่อยคุ้นกับโรงเรียนประเภทนี้ เราเองก็เพิ่งเคยได้ยินเมื่อไม่นานมานี้เอง โรงเรียนทางเลือก เป็นโรงเรียนที่เป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐบาล มีการศึกษาต่างจากระบบการศึกษากระแสหลัก เช่น แทนที่จะเรียนแต่ในห้องเรียนอย่างเดียว ก็มีการเรียนนอกห้องเรียน การเรียนแบบเชิงปฏิบัติ และมีกิจกรรมที่หลากหลาย นอกจากนี้อาจรวมถึงโรงเรียนที่มุ่งเน้นปรับการสอนเพื่อเด็กกลุ่มพิเศษ เช่น เด็กอัจฉริยะ เด็กที่มีปัญหาด้านพฤติกรรม ซึ่งเด็กกลุ่มนี้อาจเรียนหลักสูตรปกติไม่ได้ หรือเรียนไม่ทัน ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้ก็จะต้องดูแลกันอย่างใกล้ชิดหน่อย ดังนั้นโรงเรียนจึงมีครูค่อนข้างเยอะเมื่อเทียบกับนักเรียน ทั้งนี้ก็เพื่อให้นักเรียนได้รับความดูแลอย่างทั่วถึง ส่วนใหญ่โรงเรียนทางเลือกที่เราเห็นก็จะเป็นโรงเรียนในระดับอนุบาล ซึ่งจะว่าไปก็เป็นวัยที่เหมาะกับการเรียนรู้เชิงปฏิบัติและสัมผัสกับธรรมชาติดีนะ
ทางด้านค่าใช้จ่าย จากที่เราได้เจอข้อมูลมา ก็มีตั้งแต่ระดับ 20,000-50,000 บาทต่อปี ไปจนถึงระดับแสนต้นๆ เลยทีเดียว และนี่คือระดับอนุบาลเท่านั้น
เนื่องจากเป็นแนวใหม่ เรายังไม่ค่อยเจอศิษย์เก่าหรือคุณพ่อคุณแม่ที่ส่งลูกเรียนโรงเรียนทางเลือกในแบบสอบถามของเราเท่าไร อาจเพราะคุณพ่อคุณแม่ยังไม่แน่ใจถึงผลลัพธ์ที่จะได้ ตามความเห็นของคุณแม่ท่านนี้
“โรงเรียนทางเลือก เช่น วิถีพุทธ หรือ วอร์ดอล์ฟ อยู่ไกลจากบ้าน และยังไม่เห็น long term outcome ว่าเด็กที่จบออกมาเป็นไปในวิถีทางที่เราตั้งใจหรือไม่”
แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังพอมีคุณพ่อคุณแม่ที่ส่งลูกเรียนโรงเรียนทางเลือกอยู่บ้าง โดยคุณพ่อท่านหนึ่งได้แชร์มุมมองความคาดหวังว่า
“ต้องการให้ลูกมีความสุขในการเรียนรู้ มีการค้นคว้า ทดลอง เพื่อความเข้าใจมากกว่าการท่องจำในตำราเรียน สามารถคิด วิเคราะห์ได้ และต้องการให้ลูกสามารถช่วยเหลือตนเองได้”
ก็ดูเหมือนว่า ความคาดหวังของคุณพ่อท่านนี้ ค่อนข้างตรงกับสิ่งที่โรงเรียนทางเลือกมุ่งหวังจะมอบให้เลยละ
5. โรงเรียนสองภาษา
โรงเรียนสองภาษา (Bilingual) มีหลักสูตรที่ต่อยอดมาจากหลักสูตรการเรียนการสอนแบบไทยปกติ หมายความว่าหลักสูตรก็ยังอิงอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ เรียนเหมือนโรงเรียนไทยทุกอย่าง จำนวนนักเรียนต่อห้องก็คล้ายคลึงกับโรงเรียนไทย คืออาจมีเยอะถึง 60 คนต่อห้องเหมือนโรงเรียนไทยไปเลย แต่ที่ต่างคือการเรียนการสอนนั้นใช้ภาษาอังกฤษแทน ถึงอย่างนั้น แต่ละโรงเรียนก็มีสัดส่วนการสอนเป็นภาษาอังกฤษแตกต่างกันไป ซึ่งจำนวนขั้นต่ำนั้นกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดไว้แล้วละ ว่าแต่ละระดับชั้นเรียนสามารถเรียนภาษาอังกฤษในวิชาไหนได้บ้าง เช่น ระดับอนุบาลสอนภาษาอังกฤษได้ไม่เกิน 50% ของการเรียนการสอนทั้งหมด ระดับประถมสอนภาษาอังกฤษเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และพลศึกษา เป็นต้น
สำหรับโรงเรียนสองภาษานี้ นอกจากจะมีแยกเป็นโรงเรียนเดี่ยวๆ แล้ว ยังมีโรงเรียนไทยประเภทที่กล่าวถึงด้านบนบางแห่งที่มีหลักสูตรสอนเป็นภาษาอังกฤษ (English Program) แบบนี้ก็อาจนับรวมเป็นโรงเรียนสองภาษาได้เช่นกัน
คุณพ่อท่านหนึ่งได้ให้ให้ความเห็นถึงการส่งลูกไปเรียนโรงเรียนสองภาษาไว้ว่า
“อยากให้ลูกรู้ภาษาอังกฤษ ในค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงเกินไป ยังอยากให้ลูกได้สัมผัสสังคมและวิชาแบบไทยๆ อยู่”
ในขณะที่ศิษย์เก่าอีกท่านหนึ่งก็ได้ก็ได้แสดงความเห็นไว้ว่า “ได้เรียนกับชาวต่างชาติจริง มีการฝึกพูด ใช้ภาษาอย่างจริงจัง”
โรงเรียนสอนภาษาจึงเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ดีสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่อยากให้ลูกรู้ภาษาอังกฤษ ยังคงความเป็นไทยในหลักสูตรวิชาบางส่วนไว้ ในค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงเกินไป ต่อปีจะอยู่ที่ประมาณ 80,000 ถึงแสนต้นๆ จากแบบสอบถามของเรา การเรียนในหลักสูตรไทยยังสามารถต่อยอดไประดับมหาวิทยาลัยหากลูกต้องการเข้าเรียนสายเฉพาะทางที่ส่วนใหญ่มีสอนแค่หลักสูตรไทยเท่านั้น เช่น แพทย์ เป็นต้น แต่ถึงอย่างนั้น ศิษย์เก่าอีกท่านก็ได้เสริมว่า
“วิชาที่เป็นภาษาอังกฤษ ยังมีการใช้ครูไทยสอน ซึ่งครูไทยหลายๆท่าน ไม่สามารถสื่อสารให้เด็กเข้าใจได้อย่างเต็มที่”
ก็แสดงว่าโรงเรียนแต่ละแห่งยังมีความแตกต่างทางด้านครูที่สอน นอกจากนี้ ก็อย่าลืมว่าโรงเรียนสองภาษาก็ยังมีสัดส่วนนักเรียนไทยค่อนข้างเยอะอยู่ เด็กๆ จึงอาจไม่ได้พบเจอกับเพื่อนต่างชาติเท่าไรนัก
6. โรงเรียนนานาชาติ
มาถึงตัวเลือกสุดท้าย เป็นตัวเลือกที่เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายท่านอยากส่งลูกมา แต่อาจจะติดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง จะอยู่ที่ประมาณ 300,000-700,000 ต่อปี จากแบบสอบถามของเรา
โรงเรียนนานาชาติเป็นโรงเรียนที่อ้างอิงหลักสูตรจากต่างประเทศ อาจจะเป็นอเมริกัน อังกฤษ หรือออสเตรเลีย ก็ว่ากันไป นักเรียนจะได้เรียนเหมือนประเทศเจ้าของหลักสูตร เพียงแต่มีวิชาภาษาไทยมาเป็นวิชาบังคับด้วย (ตามกฎของกระทรวงศึกษาธิการ ไหนๆ เราก็ยังอยู่ประเทศไทยนี่นะ) ครูบาอาจารย์ก็จะเป็นชาวต่างชาติที่ได้รับคุณวุฒิอาจารย์ และมีประสบการณ์สอนมาก่อน เนื่องจากว่าคุณสมบัติแบบนี้ค่อนข้างหายาก ทางโรงเรียนเลยต้องจ้างครูตรงมาจากต่างประเทศเลย ค่าจ้างก็จะค่อนข้างสูง ค่าเทอมเลยสูงตาม
ว่าแต่ว่าศิษย์เก่าโรงเรียนนานาชาติเค้าได้รับอะไรจากค่าเทอมที่แพงกว่าที่อื่นบ้าง?
“ได้ภาษาอังกฤษที่แข็งแรง และอาจได้ภาษาอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย ได้ connection และสังคมที่หลากหลาย มีเพื่อนต่างชาติ”
“สอนให้รู้จักกล้าแสดงออก มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความบาลานซ์ทั้งการเรียนและกิจกรรม”
เห็นได้ชัดเจนว่าจุดแข็งหนีไม่พ้นภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังไงก็คงขาดไม่ได้สำหรับโรงเรียนนานาชาติ เพราะได้ใช้กันแบบทั้งวี่ทั้งวันแน่นอน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของสังคมหลากหลายเชื้อชาติ และการเรียนการสอนที่แตกต่างไปจากระบบเดิมๆ ทางฝั่งคุณพ่อคุณแม่ที่ส่งลูกเรียนนานาชาติก็ให้ความเห็นว่าพวกเขาคาดหวังให้เด็กหัดคิดได้ด้วยตัวเอง ไม่เรียนแบบท่องจำ และอยากให้เด็กได้ภาษาอังกฤษดี
แต่ถึงอย่างนั้น โรงเรียนนานาชาติใช่ว่าจะมีแต่ข้อดี ศิษย์เก่าแอบกระซิบเรามาว่ามันก็มีนะว่าเด็กอาจจะเก่งแค่ภาษาใดภาษานึง จนทำให้ทิ้งอีกภาษานึงไปเลย ก็จะกลายเป็นว่าบางทีเก่งภาษาอังกฤษมาก แต่อ่อนภาษาไทยสุดๆ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรดูให้ดีว่าลูกได้รับการปลูกฝังด้านภาษาไทยพอๆ กัน
คุณแม่ท่านหนึ่งได้แนะนำว่า “โรงเรียนนานาชาติมีเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก หลักสูตรก็แตกต่างกัน พ่อแม่ที่จะส่งลูกเข้าโรงเรียนประเภทนี้ ควรศึกษาทำความเข้าใจหลักสูตร และต้องมั่นใจว่าจะสามารถนำพาลูกไปได้ตลอดรอดฝั่ง (ทั้งค่าใช้จ่าย และ การสนับสนุนลูกในด้านอื่นๆ)”
โดยสรุปแล้ว
เราจะเห็นได้ว่าโรงเรียนแต่ละประเภทที่หยิบยกมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้นั้นก็มีจุดเด่นและจุดอ่อนแตกต่างกันไป ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ รวมถึงเด็กๆ แล้วละว่าเหมาะกับแบบไหนมากกว่ากัน ทั้งด้านความชอบความถนัดของเด็ก สิ่งแวดล้อมต่างๆ และกำลังทรัพย์ของคุณพ่อคุณแม่ แต่ที่แน่ๆ คือเรามั่นใจว่าทุกประเภทโรงเรียนย่อมมีความหวังดีต่อเด็กไม่ต่างกัน และจะสามารถปลูกฝังความรู้คุณธรรมให้เด็กได้อย่างดีเยี่ยมแน่นอน
ขอส่งท้ายด้วยคำแนะนำของคุณพ่อคุณแม่ที่เราได้ไปสอบถามมา พวกเขาอยากจะบอกคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่กำลังหาโรงเรียนให้ลูกว่า…
“โรงเรียนทุกโรงเรียนสำคัญที่สุดคือ ความปลอดภัยในโรงเรียน และความรับผิดชอบของบุคลากร”
“สิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนสำคัญมากจริงๆ”
“เลือกโรงเรียนที่ลูกเรียนแล้วมีความสุข ที่จ่ายไหว ถ้ามุ่งมั่นที่จะเรียนสายวิชาการเพื่อสอบหมอ วิศวะ ต้องหาโรงเรียนที่มีอันดับสอบเข้ามาก เพราะโรงเรียนพวกนี้ จะมีเด็กเรียนที่มีเป้าหมายเหมือนกัน จะจับกลุ่มกันเรียนไปด้วยกัน”
“จงศึกษาลูกของคุณ และจงมองที่ความสุขในการใช้ชีวิตของลูกคุณ มากกว่าความต้องการของคุณ”
หากคุณพ่อคุณแม่ท่านใดทราบแล้วว่าจะส่งลูกเรียนที่ไหน และรับรู้ค่าใช้จ่ายแล้ว สามารถลองวางแผนค่าใช้จ่ายด้วย KID’S WEALTH PATH ได้นะ เป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดจาก FINNOMENA ที่จะช่วยตอบโจทย์การวางแผนการศึกษาให้ลูก เหมาะมากๆ สำหรับวางแผนเรื่องค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาและมองหาโรงเรียนให้ลูก ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษนี้ก่อนใครได้ที่ https://www.finnomena.com/kidswealthpath/ หรือ คลิกที่แบนเนอร์ข้างล่างได้เลย
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วนจาก
http://www.bestpraceduc.org/โรงเรียนรัฐบาลกับเอกชน/
https://th.wikipedia.org/wiki/โรงเรียนสาธิต
https://aboutmom.co/2018/05/09/top5-school-tuition-fee/