10 ข้อคิดจากหนังสือ "คนเล็กเวทียักษ์"

เป็นภาพจำติดตาทุกครั้งเวลาดู Oppday ของ PTG ที่จะเห็นคุณพิทักษ์ CEO จับไมค์ลุกขึ้นมา present เรื่องราวของบริษัทอย่างคล่องแคล่ว พร้อมกับข้อมูลตัวเลขแน่นปึ้ก นั่งฟังเป็นชั่วโมงได้ไม่รู้เบื่อ

แต่ทราบมั้ยครับว่าคุณพิทักษ์เคยเป็นคนพูดไม่เก่ง และไม่มีความรู้ด้านน้ำมันมาก่อนเพราะแกจบคณะประมง ก่อนหน้านี้ทำแต่ฟาร์มกุ้ง จนพี่ชายตามตัวไปช่วยขยายปั๊มน้ำมัน เคยเป็นหนี้ 3,600 ล้านบาท จากวิกฤตต้มยำกุ้ง เป็นมวยรองในธุรกิจมาตลอด

ด้วยกลยุทธ์ Underdog โดยใช้กลวิธีแบบ “ป่าล้อมเมือง” ทำให้ทุกวันนี้ PTG เติบใหญ่ด้วยยอดขายกว่า 80,000 ล้านบาท และคาดว่าอีกไม่นานจะมีจำนวนปั๊มแซงหน้า PTT พร้อมทั้งขยายธุรกิจ Non-Oil อีกมากมาย และหนังสือเล่มนี้คือเรื่องราวเบื้องหลังวิธีคิดของผู้ชายคนนี้ ที่สำคัญแกเขียนด้วยตัวเองครับ

** 1 วันของคุณพิทักษ์ **

ในที่สาธารณะเขาชื่อ “พิทักษ์ รัชกิจประการ” แต่ในบริษัทเขาคือ “เฮียนั้ง” ของน้อง ๆ

ตื่นนอนก่อนตี 5 เพื่อไปตลาดประชานิเวศน์ 1 กับคนขับรถเพื่อซื้อน้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋ กาแฟ ผลไม้ มาถึงบริษัทประมาณ 6 โมง พร้อมอาหารเช้าเต็มอัตราศึกสำหรับพนักงาน เฮียแกนั่งกินไปก็ดูกระดานข้างฝาที่แม่บ้านจะเขียนเอาไว้ว่าวันนี้มีประชุมอะไรบ้าง มีแขกมากี่คน เสร็จแล้วก็ไปนั่งสมาธิในห้องพระก่อนเริ่มงาน

กลางวันกินข้าวแกงง่าย ๆ ข้างล่างออฟฟิศ ตกเย็นเฮียแกยังให้เงินแม่บ้านไว้สำหรับหุงข้าว 1 หม้อใหญ่ พร้อมกับข้าว 1 หม้อ เผื่อว่าพนักงานคนไหนกลับดึก คือ คุณพิทักษ์เชื่อว่า “กองทัพเดินด้วยท้อง” ถ้าเราทำเรื่องที่ “ดีต่อท้อง” มันก็ต้อง “ดีต่อใจ” ตามมา พนักงานก็จะมีความสุขและรักองค์กร อย่างพี่เอกแม่บ้านเหลือเงินเก็บไปซื้อที่ดินต่างจังหวัดได้อีกด้วย

กลับถึงบ้านทุ่มนึง อ่านหนังสือทุกวัน ช่วงพีค ๆ เคยอ่านได้เดือนละ 23 เล่ม แต่ช่วงยุ่ง ๆ ก็จะเหลือเดือนละ 8 เล่ม แล้วก็เข้านอนประมาณ 3-4 ทุ่ม ทำแบบนี้เป็นประจำทุกวัน อ้อ ถ้าวันไหนมีประชุมข้างนอก แกก็จะไปก่อนเวลาเพื่อไม่ให้สายแล้วก็เอาหนังสือติดตัวไปเล่มนึง เพื่ออ่านอีกด้วยครับ

ข้อคิดจากหนังสือ คนเล็ก เวทียักษ์

1) ลูกน้องมาก่อนผู้ถือหุ้น

คุณพิทักษ์ เชื่อว่า พนักงานเป็นคนสร้างธุรกิจให้สำเร็จ จึงต้องสร้างคนก่อน แล้วให้คนไปสร้างธุรกิจ และเป็นการสร้างด้วยความสุข เพื่อให้ลูกน้องรักองค์กร ทำงานด้วยใจ และก็จะทำให้บริษัทประสบความสำเร็จตามมา ทำให้ไม่แปลกใจเลยที่จะเห็นเฮียแกซื้ออาหารเช้ามาฝากพนักงานเอง มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีที่พักฟรีให้ผู้จัดการปั๊ม มีทุนเรียนปริญญาตรีและโท คือ ซื้อใจลูกน้องด้วยการดูแลเหมือนเป็นญาติตัวเอง

2) Walk the Talk

ถ้าเราอยากให้ลูกน้องทำแบบไหน เราต้องทำให้ดูก่อน เช่น เวลาไปตรวจปั๊มต่างจังหวัด ก็กินข้าวโต๊ะเดียวกัน นอนโรงแรมคืนละ 400-500 บาทด้วยกัน รถที่ใช้ก็เป็นโตโยต้า ไม่ใช่รถยุโรปราคาแพง และนั่งเบาะหน้าข้างคนขับ ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ ถ้ามีงานกลางคืนก็จะให้คนขับกลับบ้านไปเลย แกกลับแท็กซี่ หรือรถไฟฟ้าเอง การทำแบบนี้ทำให้ลูกน้องเชื่อว่าเราพูดจริงทำจริง และเกรงใจเราด้วย

3) All Great Leaders are Readers

รักการอ่านมาตั้งแต่อยู่ประถม 7 ตั้งแต่เล่มแรกของเดล คาร์เนกี้ เรื่อง “วิธีชนะมิตรและจูงใจคน” และได้เอาไปใช้จูงใจเพื่อนเพราะตอนนั้นแกเป็นหัวหน้าชั้น ทำให้รู้ว่าการอ่านมีประโยชน์ อ่านทุกอย่างตั้งแต่การตลาด การเงิน จิตวิทยา สามก๊ก เวลาอ่านก็อ่านช้า ๆ ขีดไปเขียนไป ข้อความไหนดีก็จดมาบอกพนักงานใน CEO Talk ทุกไตรมาส เล่มไหนดีจะซื้ออีก 11 เล่ม ให้กับบอร์ดบริหารไปอ่านด้วย

และทุกเดือนต้องอ่านหนังสือเกี่ยวกับผู้นำ เพื่อเตือนสติตัวเองตลอดเวลา เพราะผู้นำเวลาใหญ่มาก ๆ มักจะไม่ฟังคนอื่น และก็ไม่มีใครอยากเอากระพรวนไปผูกคอแมว คุณพิทักษ์เปรียบเทียบว่าเหมือน เล่าปี่จะออกไปตีเมืองแก้แค้นแทนกวนอูให้ได้เพราะความรักพี่น้อง ทั้ง ๆ ที่ขงเบ้งก็คัดค้าน ใคร ๆ ก็ไม่เห็นด้วย แต่ก็ยังจะไปลุยอยู่ดี

คุณพิทักษ์ยังบอกอีกว่า หนังสือเล่มเดียวกัน อ่านเมื่ออายุไม่เท่ากัน ความคิดความอ่านเราก็ไม่เหมือนกัน ผมว่าข้อความนี้จริงมาก คือ เมื่อเรามีประสบการณ์มากขึ้นทำให้เรามีมุมมองที่คมขึ้น กลับมาอ่านหนังสือเล่มเดิมก็จะทำให้ได้ความคิดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น

4) เป็นเบอร์สอง ต้องไม่ก๊อปปี้

ทำ SWOT ทุกวัน (ไม่ใช่ทุกเดือนหรือทุกปี แต่ทุกวัน) เพื่อมองหาโอกาส ว่าเราควรทำอย่างไร เช่น

  • เห็นผู้นำสร้างปั๊มในถนนสายหลัก เขาก็ไปสร้างสายรองแทน สายหลักก็พอมีบ้างทุก ๆ 50-100 กิโลเมตร เพื่อให้คนเห็นแบรนด์
  • ผู้นำใช้เงินสร้างปั๊มใหม่ เราเช่าซื้อปั๊มเก่ามาปรับปรุง ถูกกว่ากันมาก
  • ผู้นำขยายแบบแฟรนไชส์ เราสร้างปั๊มของตัวเองเพื่อดูแลควบคุมมาตรฐานเองได้
  • ผู้นำมีใช้เด็กปั๊มต่างด้าวบ้าง เราใช้คนไทย เพราะต้องการพูด “สวัสดี” ให้ชัด เพื่อเน้นการบริการที่ดี
  • ผู้นำมี 7-11 เรามีหมูทอดเจ๊จง ที่ราคาถูก อร่อย ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย

คือ วิธีการคิดแบบ Underdog มาก ๆ การตลาดนอกตำราที่สวนทางทฤษฎี แต่ว่าได้ผลดี คุณพิทักษ์บอกว่า พื้นเพเราเป็นมวยไทย เน้นการชกหนัก ชกไว อึด และไม่ปล่อยให้การ์ดตก

5) ยอมรับว่าเราไม่เก่ง แล้วฝึกฝน

สมัยคุณพิทักษ์หนุ่ม ๆ พูดไม่เก่งเลย เคยไปพูดในงาน Morning Talk ของบริษัทปิโตรเลียมไทย ทุกคนเงียบกริบ ไม่ใช่ว่าตั้งใจฟังนะ คือ บางคนหลับก็มี เพราะพูดไม่รู้เรื่อง ไม่ดึงดูด สื่อสารไม่เก่ง ข้อดีคือคุณพิทักษ์ยอมรับว่าตัวเองไม่เก่ง แล้วก็ฝึก ฝึก และฝึกอย่างหนัก คิดว่าคำติเป็นตัวกระตุ้น คำชมเป็นกำลังใจ โดยมีเคล็ดลับง่าย ๆ ก่อนพูด คือ

  • WHAT ต้องรู้จริงในเรื่องที่จะพูด ไม่แปลกใจใช่มั้ยครับว่าทำไมเฮียแกถึงได้แม่นเรื่องตัวเลขมาก
  • HOW ต้องมีวิธีพูดที่เรียกความเชื่อมั่นจากคนอื่น

6) 1 ภาพ = 1,000 คำ

ต่อจากข้อที่แล้ว คือ คุณพิทักษ์ จะพยายามสื่อสารด้วยวิธีการง่าย ๆ ให้คนเข้าใจ เช่น

  • “JENG = เจ๊ง หรือ JENG = เจ๋ง” ใช้ประโยคเดียวบนสไลด์สื่อสารกับลูกน้องตอนช่วงวิกฤตว่า ถ้าคุณคิดว่าเราเจ๊งมันก็เจ๊งตั้งแต่ความคิดแล้ว แต่เราเจ๋งถ้าเราร่วมมือกัน เป็นการปลุกขวัญกำลังใจพนักงานให้สู้
  • ในห้องประชุมจะมีภาพติดอยู่ 2 ภาพคือ รถแข่งฟอร์มูล่า 1 กับ สึนามิ เพื่อสื่อว่า คน PTG ต้อง “เร็ว” และ “แรง” เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร
  • ภาพรถเมล์สาย 112 เป็นเป้าหมายปีนี้ แปลว่า

1 คือ สมาชิกบัตร PT MAX เป็นเบอร์ 1

1 คือ จำนวนปั๊มจะเป็นอันดับ 1

2 คือ ส่วนแบ่งการตลาดจะเป็นอันดับ 2

7) หา “ประคองศิลป์” ของคุณให้เจอ

ประคองศิลป์ คือ อดีตเด็กปั๊ม ที่วันนี้ไต่เต้ามาเป็นผู้จัดการเขต ด้วยความขยัน ซื่อสัตย์ อดทน เวลาคุยกับลูกน้องก็คุยด้วยความเป็นกันเองแบบพี่น้อง บริการลูกค้าทุกระดับด้วยความเท่าเทียมแม้ว่าจะขับรถเกษตรกรรมโทรม ๆ เข้ามาก็ตาม ที่สำคัญ ประคองศิลป์ เรียนไม่จบ แต่เฮียนั้ง ไม่เคยสนใจใบปริญญา และไม่เคยขอใครดู เพราะเขาเชื่อในค่าของคนที่ไม่หยุดพัฒนาต่างหาก

8) หาคนแบบ “ประทุมพร” และ “สาวิตรี”

คุณประทุมพร อยู่กับบริษัทมากว่า 20 ปี ทำหน้าที่จัดซื้อน้ำมัน และบ่อยครั้งที่ supplier จะมาเสนอส่วนต่างราคาให้ คือจ่ายเงินเพื่อให้ได้งานน่ะแหละ แต่เธอไม่รับ บอกว่า บริษัทมีบัญชีเดียวทุกบาทเข้าบริษัทหมด เหตุผลก็เพราะคุณพิทักษ์ดูแลครอบครัว ทั้งน้องชาย และลูก 2 คน เป็นอย่างดีตลอดมาเหมือนเป็นญาติ เธอเลยซื่อสัตย์กับองค์กรมาก

สาวิตรี พนักงานใหม่ 2 ปีครึ่ง ย้ายจากสายการเงินธนาคารมาเป็น IR บริษัท ได้รับการโค้ชอย่างใกล้ชิดจากคุณพิทักษ์ ส่งไปเรียนคอร์สพูดในที่สาธารณะ พัฒนาบุคลิภาพให้ทุกอย่าง ทำให้เธออินกับบริษัทมาก ถึงขนาดที่ว่าทุกครั้งที่ขับรถผ่านปั๊ม PT ต้องตะโกนเรียกให้ทุกคนในรถดู ซึ่งตอนอยู่แบงค์เธอไม่อินขนาดนี้เวลาขับรถผ่านสายขาต่าง ๆ

9) ไม่ยอมล้มบนฟูก

ปี 2540 เจอวิกฤตต้มยำกุ้ง ใช้เวลา 9 ปีใช้หนี้ มาปี 2550-2551 เจอแฮมเบอร์เกอร์ หลายคนบอกว่าให้ปิดบริษัทเถอะ คือ ในช่วงนั้นมีหลายบริษัทยอมล้มละลาย ลอยแพพนักงาน ตัวเจ้าของรอด แต่คุณพิทักษ์บอกว่าเขามีพนักงาน 600 คน ถ้าบ้านเขามี 3 คน นี่คือ 2,000 ชีวิตที่จะเดือดร้อน เขาเลยทำตัวเป็น “กบหูหนวก” หาทางเอาบริษัทให้รอด ทั้งลดเงินเดือน ประหยัดต้นทุน ประนอมหนี้ ทำทุกอย่าง เอาทุกทางที่รอด จนลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง

10) ผมแค่มาดูแลความฝันของผม

ลูกน้องมักจะถามว่า เฮียไม่เหนื่อยหรอครับ ตื่นแต่เช้าไปจ่ายตลาด ประชุม ทำงาน เป็นสิบ ๆ ปี คุณพิทักษ์มักจะบอกว่า ผมไม่ได้มาทำงาน ผมแค่มาดูแลความฝันของผมว่าเป็นจริงมั้ย และแกก็เขียนความฝันพร้อมลงวันเดือนปีกำกับไว้ มีตัวเลข มีแผนงานชัดเจน ประเมินสถานการณ์ ปรับแก้อยู่ตลอด

สรุปความสำเร็จของ PTG

ข้อ 1 ช่างคิด ช่างสังเกต คิดว่าอะไรที่ทำให้เราเจ๊ง ชอบที่จะทำให้ตัวเองประสาทเสียตลอดเวลา คือ มอง worst case scenario อยู่ตลอด

ข้อ 2 ตั้งเป้าหมายให้สูงขึ้นทุกปี เล็งธนูไปที่ดวงอาทิตย์ อย่างน้อยได้ดวงจันทร์มาก็ยังดี

ข้อ 3 Create สิ่งใหม่ตลอดเวลา จึงไม่แปลกถ้าเราจะเห็นร้านกาแฟ ร้านหมูทอด ซ่อมรถ ขายน้ำมันเครื่อง ฯลฯ

เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ ในราคาน้ำมันแค่ 2 ลิตร (50 บาท) ที่ผมว่าคุ้มมาก ไม่เฉพาะกับนักลงทุนที่จะเข้าใจคุณพิทักษ์ ไม่ใช่สิ เรียกว่ารู้จัก “เฮียนั้ง” มากกว่า และสำหรับนักธุรกิจที่เป็นมวยรอง และกำลังมองหาวิธีสู้กับผู้นำอยู่ แนะนำครับเล่มนี้

ป.ล. ทีแรกคิดว่าจะสรุปสั้น ๆ แต่เขียนไปเขียนมายาวมาก หวังว่าคงอ่านกันจบนะครับ มีประโยชน์จริง ๆ

โดย Stock Vitamins


SaveSave

SaveSave