วันนี้จะมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับ GDP นะครับ ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกันก่อนดีกว่าว่า เจ้า GDP ที่ว่านี่คืออะไร
GDP หรือชื่อเต็ม ๆ คือ Gross Domestic Product เป็นตัวเลขที่เอาไว้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่นิยมใช้กัน เป็นการบอกว่าในปีหนึ่ง ๆ นั้นมีมูลค่าการผลิตสินค้าและบริการเท่าไหร่ โดยจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติก็ได้ ขอให้ผลผลิตเกิดขึ้นในประเทศไทย ก็นับรวมหมด
GDP ปี 2561 มีมูลค่า 16.3 ล้านล้านบาท
คิดเป็นรายได้ต่อหัวก็ตกอยู่ที่ 240,545 บาท ต่อคนต่อปี หรือตกเดือนละประมาณ 20,045 บาท
แต่อย่างที่เรารู้กันดีว่า บ้านเรามีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ค่อนข้างสูง หรือรวยกระจุก จนกระจาย
มีคนที่มีรายได้ไม่ถึง 100,000 บาทต่อปี (หรือได้เดือนละ 8,300 บาท) อยู่ 14.5 ล้านคน
ซึ่ง 11.4 ล้านคนจากในนี้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้เงินใช้ฟรี ๆ ทุกเดือน
สูตรคณิตศาสตร์ของ GDP
“GDP = C+I+G+X-M”
C หรือ Consumption หมายถึง การบริโภคภาคเอกชน ค่ากิน เที่ยว ช็อปปิ้งทั้งหลาย คิดเป็นสัดส่วน 49%
I หรือ Investment หมายถึง การลงทุนภาคเอกชน ซื้อเครื่องมือเครื่องจักร ลงทุนโรงงาน คิดเป็นสัดส่วน 23%
G หรือ Government หมายถึง ค่าใช้จ่ายทั้งหมดของรัฐบาล รวมถึงเงินเดือนข้าราชการด้วย คิดเป็นสัดส่วน 16%
X หรือ Export หมายถึง การส่งออก ซึ่งรวมถึงการท่องเที่ยวด้วย คิดเป็นสัดส่วน 67%
M หรือ Import หมายถึง การนำเข้าคิดเป็นสัดส่วน 56%
ตัวเลขแบบนี้บอกเราว่า ส่งออกสำคัญมากสัดส่วนถึง 70% และเป็นเครื่องจักรที่ช่วยให้ประเทศไทยเติบโตมาตลอด แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีเรื่องของการนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบต่างๆมาหักล้างกันด้วย
แต่ยังมีเครื่องมืออีกอันคือตัว C ที่สำคัญไม่แพ้กัน สัดส่วนถึงครึ่งนึงของ GDP เลย ถึงไม่แปลกใจว่าทำไมเราถึงเห็นนโยบายเพิ่มเงิน แจกเงินกันเสมอมา เพราะตัว C จะตกไม่ได้
GDP ประเทศไทยดีแค่ไหน
ถ้าดูเต็มปี GDP อยู่ที่ 4.1% สูงสุดในรอบ 6 ปี
ปีที่แล้ว 4% ปีก่อนหน้า 3.4%
ถ้าดูเป็นรายไตรมาสตั้งแต่ Q1 ถึง Q4 ของปีนี้ เป็นแบบนี้ 5% >> 4.7% >> 3.2% >> 3.7%
ครึ่งปีแรกดูดี แต่ครึ่งปีหลังเริ่มแผ่ว ถ้ามาเจาะทีละตัวจะได้ภาพแบบนี้ครับ
C เต็มปี +4.6% สูงสุดในรอบ 6 ปี เช่นกัน
ตัวเลขเรียงรายไตรมาสคือ 3.8% >> 4.1% >> 5.1% >> 5.3% เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สินค้าคงทนโตต่อเนื่อง +8% (คือของที่ใช้แล้วทน ไม่พังง่าย) โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์ +9.8% เพราะว่าหลังจากหมดแคมเปญรถคันแรกมา 5 ปี คนก็เริ่มเปลี่ยนรถกันใหม่ (เป็นหนี้ใหม่นั่นเอง) >> ดัชนีตัวนี้บอกได้ว่าคนฐานะปานกลางถึงรวยมีการใช้จ่ายกันเยอะ
สินค้าไม่คงทน (คือของกินของใช้) เริ่มดีขึ้น แต่ยังไม่ถึงกับมาก +3% เพราะได้เงินปีใหม่ใส่บัตรคนจนเพิ่มมาอีก 500 บาท จากเดิมได้ 200-300 บาท แต่ปัญหาหลักคือ ดัชนีราคาสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกรยังติดลบ ราคายางพารา อ้อย ปาล์ม ลดลงหมด ที่ราคาเพิ่มก็จะมีข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 67.4% เริ่มลดลงบ้างแล้ว
สรุป ตัว C เติบโตจริงจากคนเปลี่ยนรถยนต์กัน ซึ่งคือคนชั้นกลางถึงรวย ขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศรายได้ไม่เพิ่ม มีหนี้เยอะด้วย ถ้าไม่รีบหาทางเพิ่มรายได้แบบยั่งยืน ปีนี้ตัว C อาจลดลงได้ เพราะไม่คิดว่ายอดขายรถยนต์จะสามารถเพิ่มได้มากแบบปีที่แล้วอีก
I เต็มปี +3.9% สูงสุดในรอบ 6 ปี เช่นกัน
ตัวเลขเรียงรายไตรมาสคือ 3.1% >> 3.1% >> 3.8% >> 5.5% โตกระโดดใน Q4
พระเอกของเรื่องคือ การก่อสร้าง และเครื่องมือเครื่องจักร +5.1% และ +5.6% ตามลำดับ
สอดคล้องกับตัวเลขอัตรากำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ 67.1% มาเป็น 68.5% ในปี 2561
มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนโดยเฉพาะเขต EEC เพิ่มเยอะมาก คือแสดงความสนใจ จองไว้ก่อน มาไม่มาเดี๋ยวว่ากัน
ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ 50.7% เริ่มลดลงนิดหน่อย
สรุป ตัว I น่าจะเป็นตัวที่หวังพึ่งได้มากที่สุด แต่คงเป็นการก่อสร้างในประเทศซะมากกว่า ซึ่งถ้ารัฐบาลมาช่วยส่งเสริมให้เกิดโครงการเพิ่มขึ้นก็จะดี เพราะถ้า I เพิ่ม C ก็จะเพิ่มตาม ทำให้ GDP โตได้
G เต็มปี +1.8% ดีกว่าปีที่แล้วเยอะ แต่เริ่มแผ่ว
การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของภาครัฐ ตัวเลขเรียงรายไตรมาสคือ 1.8% >> 2.3% >> 1.9% >> 1.4%
การลงทุนภาครัฐ ตัวเลขเรียงรายไตรมาสคือ 4% >> 4.9% >> 4.2% >> -0.1%
หลัง ๆ การเบิกจ่ายเริ่มแผ่วลงเพราะกำลังทบทวนเรื่องแผนยุทธศาสตร์ชาติ กลัวไม่สอดคล้องกันเลยไม่กล้าเบิกจ่าย
สรุป ตัว G เหมือนต้นปีจะดี แต่พอมาปลายปีเริ่มแผ่ว คิดว่าน่าจะต้องรอหลังเลือกตั้งจะได้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าทิศทางจะเป็นไปในทางไหนกัน กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างก็คงกลางปีไปแล้วแน่ ๆ เลย
X เต็มปี +7.7% สูงอยู่แต่ไม่ถึงเป้าที่ 8%
ตัวเลขเรียงรายไตรมาสคือ 12.6% >> 14.4% >> 2.6% >> 2.3% ครึ่งปีหลังเหมือนหนังคนละม้วน
Trade War และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ากระทบเยอะมาก
ที่ส่งออกยังบวกคือ USA, ญี่ปุ่น และอาเซียน ที่เป็นลบคือ จีน EU ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง
สินค้าส่งออกที่บวกคือ ชิ้นส่วนยานยนต์ ปิโตรเคมี น้ำตาล แต่ที่เป็นลบคือ แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา
จำนวนนักท่องเที่ยว +7.5% รายได้ +9.6%
จำนวนเรียงรายไตรมาสคือ 15.5% >> 8.4% >> 1.9% >> 4.3%
รายได้เรียงรายไตรมาสคือ 18.5% >> 14.3% >> 1.3% >> 5.2%
อัตราการเข้าพัก 71.1% เพิ่มขึ้นจาก Q3 ที่ 65.4% และมากกว่า Q4’60 ที่ 69.4%
สรุป ตัว X ครึ่งปีหลังคือหนังคนละม้วน ท่องเที่ยวเริ่มดีขึ้นใน Q4 คนจีนเริ่มกลับมาบ้างจากมาตรการฟรี VOA แต่ส่งออกสินค้าเริ่มมีปัญหา แล้วเงินบาทค่อนข้างแข็งก็ต้องลุ้นกันครับว่าปีนี้จะเป็นอย่างไร
M เต็มปี +14.3% สูงกว่าปีที่แล้ว
ตัวเลขเรียงรายไตรมาสคือ 16.3% >> 16.8% >> 17% >> 7.5% เริ่มแผ่วเหลือเลขหลักเดียว
เป็นการนำเข้าวัตถุดิบ น้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับตัว C และ I ที่เพิ่มขึ้น
สรุป GDP Q4 ไม่ได้ต่างจาก Q3 มากนัก
แต่เราเริ่มเห็นแนวโน้มสำหรับปี 2562 ว่าไม่น่าจะโตได้มากกว่าปีที่แล้วมากนัก แต่ก็คงไม่ได้หล่นฮวบไปเลยนะครับ
I น่าจะเห็นชัดว่าน่าจะโตต่อเนื่องจากก่อสร้างและเครื่องจักร
C คงเริ่มนิ่งแล้วจากยานยนต์ที่น่าจะแผ่ว ยกเว้นว่ารัฐบาลใหม่ใจป้ำแจกเงินเพิ่มกว่านี้
G รอนโยบายรัฐบาลใหม่เลยครับว่าเป็นยังไง แต่กว่าจะเห็นเป็นรูปเป็นร่างคงกลางปีไปแล้ว
X-M ก็คงไม่น่าจะเพิ่มได้มาก ยกเว้น Trade War ตกลงกันได้ และคนจีนกลับมาเที่ยวกันเยอะขึ้น
ใครสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมแนะนำ 2 ที่นี้เลยครับ สภาพัฒน์ กับ SCB EIC
https://www.nesdb.go.th/main.php?filename=QGDP_report
https://www.scbeic.com/th/detail/product/5788
ที่มาบทความ: https://www.stockvitamins.co/สรุป-gdp-q42561-แบบง่าย-ๆ/