งบการเงินของบริษัทจดทะเบียนออกมากันหมดแล้ว การดูงบก็เหมือนการตรวจสุขภาพธุรกิจเพื่อให้เห็นพัฒนาการเติบโตว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเราควรตรวจดูสม่ำเสมอทุกไตรมาส
แต่หลายคนไม่แน่ใจว่าจะเริ่มจากตรงไหนดี ผมมีคำแนะนำให้ลองเอาไปปรับใช้กันดูแบบนี้ครับ
1. เริ่มที่กำไรสุทธิ
อาจจะสวนทางกับคำแนะนำของคนอื่น แต่ผมอยากให้เปิดดูก่อนเลยว่า หุ้นที่เราสนใจกำไรเท่าไหร่ เพิ่มขึ้นหรือลดลงแค่ไหน ที่บอกแบบนี้เพราะว่า กำไรเป็นสิ่งที่ตลาดคาดหวัง เป็นสิ่งที่ทุกคนถามกันตลอด เราก็ควรต้องเปิดดูก่อน ซึ่งเราสามารถดูได้จากหลายที่เลยทั้งตาม Line ของโบรกเกอร์ต่าง ๆ FINNOMENAหรือ Jitta ก็มี แต่ขอให้ดูแบบนี้
• ดู YoY เปรียบเทียบกับปีที่แล้ว แต่ให้ระวังอย่างนึงคือช่วงนี้เป็นงบปี เราจะไม่เห็นงบ Q4 บางครั้งการที่กำไรเพิ่มขึ้นเยอะ ๆ อาจจะมาจาก 9 เดือนแรกก็ได้ อย่าเพิ่งรีบดีใจเพราะตัวเลขอาจหลอกตาเราได้
• ดู QoQ เปรียบเทียบกับไตรมาสที่แล้ว เพื่อให้เห็นพัฒนาการ แต่ให้ระวังว่าบางธุรกิจมี seasonal เช่น โรงพยาบาล Q3 โรงแรมและท่องเที่ยว Q4 กับ Q1 พัดลม เครื่องดื่ม Q2
• เห็นกำไรโตเป็น 100% อย่าเพิ่งรีบดีใจเยอะ ให้ยิ้มที่มุมปากนิดเดียวพอ เพราะบางทีอาจมีกำไรพิเศษ ต้องตามไปดูต่อว่าใช่มั้ย
2. ดูคำอธิบายงบการเงิน
เข้าไปที่ www.set.or.th พิมพ์ชื่อหุ้นที่สนใจ กดเลือกที่ “ข่าว” แล้วคลิกไปที่ข่าวที่เขียนว่า “สรุปผลการดำเนินงาน” หน้านี้ก็จะมีกำไรขาดทุนให้ดูเหมือนกัน แต่สิ่งที่อยากให้ดูมากกว่า คือข้อความที่เขียนว่า “รายงานของผู้ตรวจสอบบัญชี” ซึ่งจะมีด้วยกัน 5 แบบดังนี้
• ไม่มีเงื่อนไข
• ไม่มีเงื่อนไขแต่ให้ข้อสังเกต
• มีเงื่อนไข
• ไม่แสดงความเห็น หรือ ไม่แสดงความเชื่อมั่น
• งบการเงินไม่ถูกต้อง
ถ้าเจอแบบแรกก็สบายใจ เปิดอ่านได้ตามสะดวก ไม่น่ากังวล แต่ถ้าเจอแบบอื่น ๆ โดยเฉพาะ 2 แบบหลัง อาจมีอะไรไม่ชอบมาพากล อาจมีคดีความ หรือมีอะไรผิดปกติซ่อนอยู่ในงบ ให้ระวัง
3. คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ
หรือเรียกว่า MD&A เป็นคำอธิบายของบริษัทที่จะมาบอกเราว่า กำไรที่เราเห็นเพิ่มขึ้นหรือลดลง มาจากสาเหตุอะไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทว่าจะอธิบายละเอียดมากน้อยแค่ไหน มีหลายบริษัทที่ดีเขียนอธิบายที่มาที่ไป รายได้แยกเป็นกลุ่ม ต้นทุน ค่าใช้จ่ายตามรายการ ภาพรวมอุตสาหกรรม แนวโน้ม ฯลฯ แต่ก็มีอีกหลายบริษัทที่เขียนแบบเสียไม่ได้ เช่น รายได้โต xx% ต้นทุนเพิ่ม xx% ทำให้กำไรเพิ่ม xx% คือ อ่านแล้วไม่ค่อยได้อะไรเท่าไหร่
คำแนะนำของผมในการอ่านคำอธิบายงบในกรณีที่บริษัทให้ข้อมูลมาค่อนข้างละเอียดนะครับ คือ
• ข้อแรก ให้เปิดงบกำไรขาดทุนก่อน เพราะอ่านง่าย และเป็นสิ่งที่นักลงทุนสนใจ
• ข้อสอง หาตารางให้เจอ เพราะหลายบริษัทจะให้ตารางเปรียบเทียบงบปีนี้กับปีที่แล้วหรือไตรมาสที่แล้วไว้ และเป็นอะไรที่ดูง่ายด้วย
• ข้อสาม ทำเป็น common size คือ ถ้าให้รายได้รวมเป็น 100 บาท แล้วต้นทุนคิดเป็นกี่บาท SG&A คิดเป็นกี่บาท ต้นทุนการเงินคิดเป็นเท่าไหร่ กำไรสุทธิเท่าไหร่ เพื่อที่จะได้เข้าใจโครงสร้างแบบชัดเจนขึ้น
• ข้อสี่ ดูโครงสร้างรายได้ จะได้เข้าสัดส่วนที่ละเอียดขึ้น เช่น ธนาคาร ก็จะได้รู้ว่าเป็นรายได้ดอกเบี้ยเยอะ หรือค่าธรรมเนียมเยอะ บริษัทขนส่ง ก็จะได้รู้ว่ามาจากทางบก ทางเรือ หรือทางอากาศเยอะ ธุรกิจอาหาร ก็จะได้รู้ว่ามาจากร้านแบรนด์ไหนเยอะ เป็นต้น เพื่อที่เราจะได้เข้าใจว่าเครื่องจักรตัวไหนขับเคลื่อนบริษัท ตัวไหนมีผลต่อรายได้
• ข้อห้า ดูการเปลี่ยนแปลงเทียบปีที่แล้ว เพื่อให้เห็นการเติบโตหรือขาดทุนว่ามาจากตรงไหน
Best Case คือ รายได้เพิ่ม ต้นทุนลด ค่าใช้จ่ายลด ต้นทุนการเงินน้อย กำไรเลยโตกระฉูด
Base Case คือ รายได้เพิ่ม ต้นทุนและค่าใช้จ่ายเพิ่มน้อยกว่า ต้นทุนการเงินไม่ค่อยมี เป็นเคสปกติที่บอกเราว่าธุรกิจโตมีรายได้และมีค่าใช้จ่ายตามมา แต่ไม่ได้ต้องลดราคา หรือทำโปรโมชั่น ทำโฆษณาเกินตัว
Worst Case คือ รายได้ลด ต้นทุนเพิ่ม ค่าใช้จ่ายเพิ่ม แถมไปกู้มาเยอะอีก เจอแบบนี้บอกได้เลยคำเดียวว่า “พัง”
4. Zip File งบการเงิน
บางครั้งใน MD&A ไม่ได้บอกรายละเอียด ให้เรามาที่หน้า “ข่าว” อีกครั้ง เปิดตรงที่เขียนว่า “งบการเงิน” ที่เป็น zip file คลิ๊กเข้าไปจะเจอะ 3 ไฟล์สำคัญ คือ
• Auditor’s Report คือ รายงานผู้สอบบัญชี ที่เราเคยคุยกันไปในข้อ 2 ข้อสังเกตง่าย ๆ คือ ถ้าเปิดมาแล้วสั้น ๆ 1-2 หน้าคือดี แต่ถ้าเปิดมาแล้วยาวเหยียด 5-10 หน้า อันตรายแล้วแบบนี้
• Financial Statements เป็น excel มีทั้งงบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด วิธีอ่านงบดุลก็คล้าย ๆ กับที่บอกไว้ในข้อ 3 ส่วน Cash Flow ให้ดูเงินสดเข้าออกแต่ละประเภทอย่างไร (เรื่องนี้ยาว เดี๋ยวไว้มีโอกาสหยิบมาเขียนอีกทีครับ)
• Notes เป็นหมายเหตุประกอบงบ คือ ถ้าเราเปิด excel บางบรรทัดจะมีตัวเลขกำกับไว้ ก็ให้เรามาเปิดใน Notes ดูจะเห็นรายละเอียดที่มากขึ้น
และนี่ก็คือ 4 ขั้นตอนง่าย ๆ ที่อยากแนะนำให้ลองเอาไปใช้ในการอ่านงบกันดูนะครับ หวังว่าคงจะได้ประโยชน์กัน ลองเอาไปปรับใช้กันดูครับ ใครมีเทคนิคแบบไหนอย่างไรบอกกันมาได้เลย ทิ้งท้ายด้วยทริคง่าย ๆ คือ
#หาตาราง
#อ่านตัวเลข
#ดูตัวหนา
#หาภาษาอังกฤษ
ที่มาบทความ: https://www.stockvitamins.co/งบการเงินง่าย-ๆ-คุณก็อ่า/