เมื่อวันที่ 1 มกราคม หลายคนตั้งปณิธานปีใหม่
ปีนี้จะลดน้ำหนัก
ปีนี้จะอ่านหนังสือเยอะขึ้น
ปีนี้จะเริ่มเก็บเงิน
และอื่น ๆ อีกมากมายที่อยากจะทำให้ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา
ลองสำรวจกันดูครับว่า เป็นยังไงกันบ้าง ใครทำได้ตามที่ตั้งใจไว้บ้าง ใครที่ล้มเลิกความตั้งใจไปแล้วบ้าง หรือใครยังไม่ได้เริ่มทำอะไรกันเลย
ในปฏิทินของฝรั่งมีวันที่เรียกว่า Ditch New Year’s Resolutions Day ซึ่งตรงกับวันที่ 17 มกราคม ของทุกปี เป็นวันที่ล้มเลิกความตั้งใจหรือเลิกทำปณิธานที่เราตั้งไว้เมื่อปีใหม่ ซึ่งมาจากหลายสาเหตุด้วยกันไม่ว่าจะเป็น
1) เป้าหมายเยอะเกินไป ทำไม่ไหว
2) เป้าหมายไม่ชัดเจน เขียนแบบลอย ๆ ไม่มีตัววัดหรือเวลาระบุชัดเจน
3) เป้าหมายยากเกินไป บางอันเขียนด้วยอารมณ์ หรือตั้งสูง ๆ ไว้ก่อน เช่น จะลดน้ำหนัก 20 กิโลกรัม ใน 3 เดือน จะลงทุนได้ผลตอบแทน 100%
4) ขี้เกียจหรือขาดแรงจูงใจ ทำให้ไม่ได้เริ่มทำซักที
พอเป็นแบบนี้ปุ๊บ เราก็เลยเครียด เบื่อ ไม่อยากทำ และกลับไปสู่พฤติกรรมเก่าที่เคยชิน เพราะไม่เหนื่อย ไม่เครียด ไม่ต้องฝืน ทำให้ปณิธานปีใหม่ของเราล้มเลิกไปก่อนที่จะจบปี
โดยส่วนตัว ผมก็ไม่ต่างจากคนทั่วไป คือ ทำได้บางอย่าง เช่น อ่านหนังสือ นอนพักผ่อนเยอะขึ้น เริ่มวิ่งอย่างจริงจัง แต่ในเรื่องการลงทุน หาหุ้น แกะงบบอกเลยว่าไม่ได้ตามเป้าหมาย คือ อ่านได้น้อยกว่าที่ตั้งใจ และไม่ได้ซื้อขายหุ้นเลยตั้งแต่เดือนธันวาคม อาจจะเพราะงานประจำยุ่งด้วย และก็เอาเวลาไปอยู่กับครอบครัวมากขึ้น ทีนี้ผมอยากเล่าให้ฟังแบบนี้ว่าผมทำยังไงเพื่อจะได้ให้เวลาที่เหลืออีก 11 เดือนครึ่งดีขึ้นกว่าเดิม
1) ล้มเหลวแต่อย่าล้มเลิก
ปรับทัศนคติก่อน บางคนถอดใจ ไหนๆ ผ่านมา 2 อาทิตย์แล้ว ทำไม่ได้ เลิกทำเลยดีกว่า อยากให้ลองตั้งใจใหม่ ทำใหม่ ขออีกสักตั้งนึง อย่าเพิ่งล้มเลิกไปซะก่อนนะ
2) เปลี่ยนวิธีตั้งเป้าหมายเป็น OKR แทน
ช่วงที่ผ่านมาผมนั่งฟังแนวคิดนี้จาก Podcast ไม่ว่าจะเป็นของคุณรวิศ อ.นภดล พี่อ้อ Jitta ก็คิดว่าน่าสนใจ คือ เป็นแนวคิดที่ Google เอามาใช้ในองค์กร สั้น ๆ OKR คือ Objective and Key Result เป็นการตั้งเป้าหมายว่าอยากได้อะไร แล้วระบุผลลัพธ์หลักที่ต้องการไม่เกิน 3 อย่าง โดยที่ไม่ได้ลงถึงวิธีการมาก ทำให้เห็น End Result ที่ชัดเจน แล้วก็มีการวัดผลทุกไตรมาส ยกตัวอย่างเช่น
Objective: มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
Key Result:
– ลดน้ำหนัก 10 กิโลกรัม จาก xx เป็น xx ภายในสิ้นปี (พอจบแต่ละไตรมาสเราก็มา track ว่า ลดได้แค่ไหนแล้ว อาจจะแบ่งเป็นลดให้ได้ไตรมาสละ 2.5 kg อะไรแบบนี้)
– วัดค่า BMI ให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน
– คลอเรสเตอรอล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
เขียนง่าย ๆ ประมาณนี้นะครับ ส่วนวิธีการทำ หรือ action ว่าจะทำอะไร เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ ลดของหวาน ไม่กินดึก อันนั้นก็เป็นแผนการที่เราต้องไปวางแผนต่างหาก แล้วเราก็ทำแบบนี้กับเป้าหมายอย่างอื่น เช่น การลงทุน การงาน ฯลฯ แต่ต้องไม่ตั้งเยอะเกินไป เอาที่เราอยากทำจริง ๆ หลัก ๆ พอ เพราะตั้งเยอะไปทำไม่ไหว ให้เลือกที่จะ impact กับชีวิตเราว่า ทำแล้งชีวิตจะดีขึ้นพอ
3) บริหารเวลาให้ดี
ผมกำลังอ่านหนังสือ The Disruptor ของคุณรวิศ (ไว้อ่านจบแล้วจะสรุปให้ครับ) มีตอนนึงบอกว่า เวลามี 2 อย่าง คือ เวลาตามนาฬิกา กับเวลาจริง แบบแรกคือตามเข็มนาฬิกาที่วันนึงมี 24 ชั่วโมง แบบหลังคือ เวลาสัมพัทธ์ เช่น อ่านหนังสือสอบ 1 ชั่วโมงเหมือนครึ่งวัน สังสรรค์กับเพื่อนครึ่งชั่วโมงเหมือน 1 วัน คล้าย ๆ ทฤษฎีสัมพัทธภาพที่ไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้
ประเด็นคือ เราอยู่ในโลกของเวลาจริงที่เราสร้างขึ้นเอง เพราะฉะนั้นอะไรที่เราสร้างเอง เราก็ต้องบริหารเองได้ เราเลือกเวลาตื่นนอนเองได้ เวลาออกกำลังกาย อ่านหนังสือ กินข้าว หรือในแต่ละวัน เรามีช่วงเวลา Golden Hour หรือ Prime Time ที่เรามีสมาธิที่สุด เราก็อาจจะเลือกทำอะไรที่สำคัญในชั่วโมงนั้นไปเลย ส่วนเรื่องอื่นๆ เราก็จัดการลง Calendar ว่าจะทำอะไรเมื่อไหร่ แล้วก็ทำตามนั้นไป
4) มีวินัย
เรื่องนี้ผมว่าสำคัญที่สุด คือการบังคับตัวเองให้ทำวันละนิดวันละหน่อย แต่ต้องทำแบบต่อเนื่อง ช่วงแรก ๆ มันอาจจะไม่เห็นผล แต่พอทำไปได้เรื่อย ๆ มันจะเกิดผลอย่างยิ่งใหญ่ ที่สำคัญอย่าหยุดทำ และอย่าปล่อยให้ตัวขี้เกียจเข้ามาครอบงำสมองเราได้ทัน
เช่น ตอนตื่นนอนถ้าเราคิดเยอะว่าวันนี้ฝุ่นเยอะ ไม่มีประชุม เราก็จะเริ่มขี้เกียจ อยากนอนต่อ แต่ถ้าเราไม่คิดเยอแค่ก้าวขาออกจากเตียงทีละข้าง คิดแค่นี้พอ แล้วเข้าห้องน้ำไปเลย ก็จบแล้ว คือง่ายๆ ไม่ต้องคิดเยอะ ทำไปก่อนเลย ไม่งั้นเดี๋ยวตัวขี้เกียจมันทำงาน
สรุป อย่าเพิ่งโยนทิ้งความตั้งใจที่จะทำอะไรดี ๆ ในปีนี้นะครับ
เราอาจจะทำบางอย่างผิดพลาดไปในช่วงที่ผ่านมา ลองมานั่งรีวิวกันแล้วก็ดูว่าจะปรับยังไงดี เพื่อให้เวลาที่เหลือ ทำได้สำเร็จตามที่ต้องการ มีชีวิตที่ก้าวหน้าให้สมกับปีสองพันสิบก้าว
ที่มาบทความ: https://www.stockvitamins.co/ditch-new-years-resolution-day/