หลายคนคิดว่าการที่จะเป็นนักลงทุนแนว VI นั้นยาก ต้องอ่านต้องศึกษาเยอะ ต้องใช้เวลาเรียนรู้นาน แต่ผมอยากจะบอกความลับให้คุณฟังว่า จริง ๆ แล้ว VI ไม่ยาก ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ใคร ๆ ก็ทำได้ และหลายอย่างคุณทำเป็นประจำอยู่ทุกวันอยู่แล้ว เพียงแต่คุณไม่รู้ตัวเท่านั้นเอง ถ้าไม่เชื่อลองอ่านบทความนี้ดูครับ
1) หมกมุ่น
เชื่อมั้ยครับ ใน 1 วัน ตั้งแต่ตื่นเช้าจนเข้านอนเราจะเจอบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นเป็นจำนวนมาก เพียงแต่เราไม่ได้สังเกตกัน ต่อจากนี้อยากให้เราเปลี่ยนนิสัยใหม่ ให้มองทุกอย่างรอบตัวให้เป็นเรื่องหุ้น เช่น เช้ามากินขนมปัง ไข่ดาว ไส้กรอก ก็คิดถึง PB, CPF, SORKON หยิบมือถือ คิดถึง COM7, SPVI ออกจากบ้านขึ้น BTS เข้าออฟฟิศ CPN เจอป้ายโฆษณา PLANB นั่งทำงานเก้าอี้ MODERN เปิดคอมที่ซื้อมาจาก IT กลางวันแวะกินพิซซ่าของ MINT รูดด้วยบัตร KTC ไปหาลูกค้านั่งรถไฟฟ้าใต้ติน BEM แวะซื้อปากกาที่ COL นัดเจอกันที่ AU จบมื้อเย็นซื้อ TFMAMA ที่ CPALL กลับบ้านทาครีม BEAUTY ก่อนเข้านอนหลับฝันดี
2) ชอบเผือก
ปกติเราติดตามข่าวบันเทิงข่าวดารา ใครเป็นแฟนกับใคร รักกัน เลิกกัน พระเอกสุดติสท์ นางเอกชื่อย่อนั้นชื่อย่อนี้ แล้วเราก็สามารถมโนหรือรู้ว่าเป็นใครกันใช่มั้ยครับ การลงทุนก็ไม่ต่างกัน เราก็เอาความเป็นนักสืบในตัวเราติดตามข่าว ผู้บริหาร หรือกิจการของบริษัทว่าเป็นอย่างไรบ้าง ก็จะทำให้เรารู้เรื่องของหุ้นที่เราสนใจแบบรู้ลึกรู้จริงและเป็นประโยชน์กับการลงทุนได้เยอะเลย ผมรู้จักนักลงทุนบางท่าน เจาะลึกเรื่องราวเหล่านี้และทำกำไรได้เป็นเด้ง ๆ ทำกระทั่งเปิดหนังสือรุ่น โทรศัพท์ไปคุยกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่เห็นชื่อแปลก ๆ รู้หมดว่ามีบริษัทย่อยอะไรบ้าง ธุรกิจในและต่างประเทศดีไม่ดีอย่างไร คือ ถ้าพี่จะรู้ขนาดนี้ก็สมควรได้ผลตอบแทนเป็น 100% ครับ นับถือเลย
3) อ่านรีวิวก่อนซื้อ
สมัยนี้ก่อนที่เราจะซื้อเครื่องสำอางซักชิ้น กระเป๋าซักใบ มือถือซักเครื่อง เรามักจะเข้าไปดูรีวิวของคนที่เคยใช้กันก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าของที่เราอยากได้นั้นดีจริง ๆ ตัดสินใจไม่ผิด แต่เวลาเราลงทุนหุ้นเรามักจะชอบซื้อก่อน แล้วพอติดดอย ค่อยเริ่มถาม เริ่มหาข้อมูลบริษัทว่างบเป็นอย่างไร ดีมั้ย กำไรโตหรือเปล่า ซึ่งเป็นการกระทำที่สวนทาง เพราะฉะนั้นครั้งหน้า เราควรจะหาข้อมูลบริษัท อ่านงบการเงิน ประเมินมูลค่า หรือรีวิวก่อนตัดสินใจซื้อหุ้นน่าจะดีกว่า
4) เปรียบเทียบโปรโมชั่น
หาดีลที่ดีที่สุด กว่าที่เราจะตัดสินใจซื้อของแต่ละชิ้น ตั๋วเครื่องบินซักใบ โรงแรมซักแห่ง เรามักจะเข้าไปเช็คหลายต่อหลายเว็บ เพื่อเปรียบเทียบให้ชัวร์ที่สุดว่าเราได้ของดีราคาถูกจริง ๆ บางครั้งไปเดินดูของจริงในห้าง แล้วมากดสั่งซื้อออนไลน์ก็มี การลงทุนเราก็ควรดูงบให้ละเอียด เปรียบเทียบผลประกอบการในอดีต เปรียบเทียบกับคู่แข่งในตลาด เพื่อให้มั่นใจที่สุดว่าหุ้นที่เราจะซื้อนั้นดีจริง ๆ
5) ซื้อของตอน SALE
เราสามารถรอวันลดราคาเพื่อซื้อของที่ต้องการอย่าง 11.11 หรือ 12.12 และจัดหนักจัดเต็มซื้อสินค้า แต่พอมาเรื่องหุ้นเรากลับไม่อดทนรอ เห็นของราคาถูกเราไม่ซื้อ แต่พอราคาขึ้นไปสูง ๆ เรากลับรู้สึกว่าน่าสนใจ ดึงดูดให้เราขึ้นไปซื้อที่ราคาแพงโดยหารู้ไม่ว่าเป็นยอดดอย แล้วสุดท้ายก็ขาดทุน เข้าวัฎจักร ซื้อแพงขายถูกอยู่ร่ำไป ถ้าเราลองเปลี่ยนกลับมาใช้พฤติกรรมที่คุ้นเคยอย่างการชอบซื้อของตอน SALE ก็จะทำให้เราไม่ขาดทุนแบบง่ายๆ
6) วางแผนท่องเที่ยวอย่างละเอียด
ใครเป็นแบบนี้บ้างครับ เวลาไปเที่ยวต่างประเทศ เราวางแผนทริปอย่างละเอียดหลายหน้ากระดาษ มีลายแทงร้านอร่อย มีตารางเวลารถไฟ ลงรายละเอียดเวลาแบบเป็นขั้นเป็นตอนตั้งแต่ออกจากสนามบิน เพราะฉะนั้น เรื่องการลงทุนเราก็ควรทำให้ได้แบบเดียวกัน ต้องวางแผนให้ละเอียดว่าจะซื้อหุ้นตัวนี้ที่ราคาเท่าไหร่ ถ้างบออกมาผิดคาดจะทำอย่างไร ถ้าดีกว่าคาดจะทำอย่างไร จะขายตรงไหน จะคัทตรงไหน ควรเขียนออกมาให้ชัดเจนเหมือนเวลาวางแผนท่องเที่ยว
7) คนที่ไม่ใช่ ยังไงก็ไม่ชอบ
เรื่องของหัวใจห้ามกันยาก ต่อให้ดีอย่างไร ถ้าเข้ากันไม่ได้ เราไม่ชอบคนลักษณะแบบนี้ ทำอย่างไรก็ไม่ชอบ ฝืนคบกันไปก็ไม่มีความสุข สุดท้ายก็ต้องเลิกกันอยู่ดี เรื่องหุ้นก็เหมือนกัน เราต้องเลือกหุ้นที่ตรงกับจริตของเรา หุ้นที่ผ่านเกณฑ์หรือมาตรฐานที่เราต้องการ เช่น รายได้โต กำไรโต หนี้น้อย ปันผลสม่ำเสมอ ไม่มีเรื่องทุจริตคดโกง เป็นต้น ถ้าผ่านสเป็คเราได้แบบนี้เราถึงจะชอบและคบกันได้ยาว ๆ
8) เลือกคนที่ดีต่อใจ ไม่ใช่ภาพมายา
เวลามีคนมาจีบเรา 2 คน คนหนึ่งรูปหล่อ พ่อรวย คารมคมคายกับอีกคนหน้าตาธรรมดา ดูซื่อ ๆ นิสัยดี ห่วงใยเอาใจใส่สุดท้ายเรามักเลือกคนรูปหล่อที่ดูดีต่อใจ ดูมีเสน่ห์ แต่สุดท้ายเค้ากลับกลายเป็นคนเจ้าชู้ ไม่ได้รักเราจริง ทุกอย่างคือภาพมายา แต่คนที่รักเราจริงกลับกลายเป็นคนซื่อๆธรรมดา เวลาเลือกหุ้น บ่อยครั้งที่เราชอบหุ้นหวือหวาร้อนแรงมีข่าวมีสตอรี่น่าตื่นเต้น แต่พอเราซื้อไปก็มักจะจบด้วยคราบน้ำตาของการขาดทุน ขณะที่หุ้นเรียบๆ ดูไม่มีข่าวอะไร แต่ขยันทำมาหากิน ราคาหุ้นก็ค่อยๆปรับตัวขึ้นตามกำไรที่เพิ่มขึ้น เราควรเลือกหุ้นแบบหลังที่ดีต่อใจมากกว่า
9) ความรักทำให้คนตาบอด
เวลาเรารักใครซักคนมากๆ เขาว่าอย่างไรก็ว่าตามกัน ชี้นกยังเป็นไม้ ชี้ไม้ยังเป็นนก ทุกอย่างดูดีไปหมด บางอย่างเขาทำไม่ถูกเราก็คอยปกป้อง กลับขาวเป็นดำ กลับดำเป็นขาว แล้วเราก็ติดมาใช้กับเรื่องลงทุน เราหลงรักหุ้นมากเกินไป บางครั้งพื้นฐานเปลี่ยน กำไรลดลง ราคาหุ้นก็ลง แต่เรายังรักมั่น คิดว่าเป็นเรื่องชั่วคราว กิจการเคยดีมาก่อนก็ต้องดีต่อไปเรื่อย ๆ สุดท้ายกิจการขาดทุน ก็เลยกลายเป็นว่าเรา“หลงรักหุ้นจนตัวตาย” เพราะฉะนั้นต้องรักให้เป็น มองหุ้นตามความเป็นจริง และต้องตัดใจให้ได้ถ้าหุ้นตัวนั้นเปลี่ยนไป
10) อดีตไม่สำคัญ อนาคตแน่นอนกว่า
ส่วนมากเรามักจดจำอดีตได้แม่นยำ ใครเคยทำให้เราเจ็บช้ำมา ใครทำให้เราเสียน้ำตา ถึงแม้วันนี้เขาจะปรับปรุงตัวแก้ไขเราก็ยังไม่ลืมอดีตและไม่ยอมก้าวเดินต่อไปข้างหน้า เรื่องหุ้นก็เช่นกัน เราเคยขาดทุนหรือขายหมู เราก็เลิกสนใจหุ้นตัวนั้นไปเลย ทั้ง ๆ ที่กิจการอาจดีขึ้นแล้วและอนาคตจะมีการเติบโตอย่างมาก แต่เราทำใจไม่ได้ นักลงทุน VI ที่ดีควรมองไปข้างหน้าและคิดว่าถ้าวันนี้เราไม่มีหุ้นตัวนี้เราจะซื้อมั้ย ลืมตัวเลขเก่าในอดีต ตัวเลขใหม่คือของจริง มองไปข้างหน้าถึงมูลค่าที่แท้จริง
Stock Vitamins
ที่มาบทความ: https://www.facebook.com/stock.vitamins/posts/2162176500714403