ช่วงต้นสัปดาห์ World Economic Forum ได้นำเสนอรายงาน ปริมาณการค้าโลก ทั้งปริมาณการส่งออก และการนำเข้าชะลอตัวมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2015 ซึ่งแม้แต่ Emerging markets เอง ที่เคยมีปริมาณการค้าที่โดดเด่น ก็ยังต้องเผชิญกับภาวะนี้
ภาพที่ 1 : ภาพแสดงปริมาณการค้าโลก ที่เริ่มชะลอตัวในปี 2015
ที่มาภาพ : Vox EU
จากภาพจะเห็นว่า ในปี 1990-2007 ปริมาณการค้าโลกขยายตัวเฉลี่ยที่ 9% ต่อปี และหลังจากการเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ประเทศต่าง ๆ ก็หันมาสนับสนุนการค้าการบริโภคในประเทศแทนการส่งออก และเริ่มใช้นโยบายคุ้มครองภาคการผลิตในประเทศ ดังที่เห็นในภาพที่ 2
ภาพที่ 2 : ภาพแสดงสัดส่วนของการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้นในปี 2015
ที่มาภาพ : Vox EU
ซึ่งทางองค์การการค้าโลก (WTO) บอกว่า ในปี 2015 มีการใช้มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีศุลกากร (Non-Tariff Measures : NTMs) เพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว จากช่วงก่อนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ จากเดิมที่เคยมี 4,700 มาตรการ ก็ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 มาตรการ นอกจากนี้ ตามรายงานของ Global Trade Alert ยังพบว่าประเทศที่ใช้มาตรการกีดกันทางการค้าสูงในปีที่แล้ว 81% มาจากกลุ่มประเทศ G20
นี่จึงสะท้อนให้เห็นว่า ปริมาณการค้าโลกที่ชะลอตัวลงจนแทบจะไม่เติบโตนั้น ไม่ได้เกิดจากการลดลงของราคาน้ำมันเป็นหลัก แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าที่เน้นการบริโภคภายในประเทศ และการกีดกันทางค้าในรูปแบบต่าง ๆ จนทำให้ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ
Source : World Economic Forum – July 26, 2016