ในช่วงหลังจากการเกิดวิกฤตยุโรโซน (European Debt Crisis) เป็นที่ทราบกันดีว่า กรีซเป็นประเทศที่ประสบปัญหาหนักสุด แต่เมื่อหันมาดูเบอร์ 2 อย่างประเทศอิตาลี ก็จะเห็นว่า อิตาลียังไม่พ้นขีดอันตรายด้วยเช่นกัน หลังจากที่รัฐบาลอิตาลีใช้นโยบายการค้ำประกันโดยรัฐ (State Guarantee Scheme) เพื่อกำจัดหนี้เสียออกจากงบดุล โดยการซื้อหนี้เสียจากสถาบันการเงินมาแปลงเป็นหลักทรัพย์ (Securitization) แล้วนำมาขายแก่นักลงทุน โดยมีการตั้งนิติบุคคลเพื่อดำเนินการต่าง ๆ นา ๆ ซึ่งแน่นอนว่า หากมีอะไรผิดพลาด รัฐจะต้องแบกรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น
เศรษฐกิจอิตาลียังดูไม่ดี
หากมาดูภาวะเศรษฐกิจของอิตาลีเอง ในปีนี้ถือว่าอาการน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในภาคการลงทุน (รูปที่ 1) ที่อ่อนแอ จนค่าเฉลี่ยตกลงมารั้งท้ายกลุ่ม แบบทิ้งห่างค่อนข้างมาก (กลุ่มในที่นี้ คือ กลุ่ม OECD ประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวน 21 ประเทศ)
ทั้ง ๆ ที่อัตราดอกเบี้ยทั้งของยุโรปและอิตาลี ต่างก็ปรับลดลง เพื่อดึงดูดการลงทุน แต่นั่นก็ไม่สามารถจูงใจให้เกิดการลงทุน หรือเกิดการปล่อยสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้มากนัก เนื่องจากว่า ปัญหาที่จริงนั้นอยู่ที่โครงสร้างของตัวธนาคาร เมื่อธนาคารและสถาบันการเงินมีปัญหาหนี้เสียอยู่ในระดับสูง มันก็อยากที่จะให้เขาปล่อยกู้สินเชื่อให้กับรายใหม่
จากรูปที่ 2 หนี้เสียของธนาคารอิตาลีเมื่อเทียบกับกองทุนสำรองมีค่าอยู่ในระดับสูงอยู่ที่ประมาณ 14-15% จนหลายฝ่ายมองว่าธนาคารอิตาลีเป็นจุดอ่อนของยูโรโซน ซึ่งตรงนี้ทำให้น่าคิดต่อว่า ในอนาคต เศรษฐกิจของประเทศอิตาลีจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร
เมื่อมองจากรูปที่ 3 แล้ว ทำให้เห็นว่า ประเทศอิตาลีจะมีการฟื้นตัวที่ไม่มากนักในภาพรวม ความหวังของประเทศมุ่งเน้นไปที่ภาคการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งทาง OEDC คาดว่าในปี 2017 ประเทศอิตาลีจะสามารถเติบโตจากการส่งออกได้อย่างโดนเด่น (ซึ่งคาดว่าน่ามาจากการได้รับผลเชิงบวกจากค่าเงินที่อ่อนค่า) หรือ พูดง่าย ๆ ว่า เศรษฐกิจของประเทศอิตาลีมีความหวังที่จะเติบโตจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ซึ่งหากว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว อิตาลีก็อาจจะพอมีฟื้นตัวได้บ้าง แต่ถ้าไม่ ก็คงต้องเตรียมตัว ระมัดระวังการขยายตัวของหนี้เสีย และคงต้องเตรียมแผนสำรอง หากว่าภาคธนาคารเกิดล้มขึ้นมาจริง ๆ รอบนี้ผลของมันก็จะเป็นโดมิโนกระทบไปยังภาครัฐด้วย (จากการทำ Securitization) กลายเป็นทั้ง Financial Crisis และ Government-debt Crisis (ปัจจุบัน หนี้รัฐบาลของประเทศอิตาลีอยู่ที่ 132.7 % ต่อ GDP)
…. ก็ได้แต่หวังว่าสถานการณ์คงจะไม่เลวร้ายไปกว่านี้