Labor-Evolution

การประท้วงการปฏิรูปกฎหมายแรงงานในฝรั่งเศส เกิดจากปัญหาหลักที่ว่ารัฐบาลเสนอแผนปฏิรูปหลายประการที่ค่อนข้างจะเป็นการเอาเปรียบลูกจ้างมากเกินไป เช่น

  1. การอนุญาตให้ปลดลูกจ้างที่อายุน้อยกว่า 26 ปีออกได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้เหตุผล
  2. เปิดโอกาสให้นายจ้างพิจารณาปลดคนงานง่ายขึ้นในกรณีที่ธุรกิจมีแนวโน้มว่าจะตกต่ำลง
  3. เปิดช่องให้นายจ้างสามารถต่อรองเรื่องวันหยุดหรือวันลาได้มากขึ้น
  4. การกำหนดเวลาทำงานเฉลี่ย 35 ชั่วโมง/สัปดาห์ โดยให้นายจ้างสามารถเจรจากับสหภาพแรงงานในพื้นที่นั้น ๆ ได้

ด้วยทั้งหมดที่ว่ามานี้ ทำผู้ประท้วงรู้สึกว่า นี่คือ “การลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงาน”

เมื่อลองไปค้นข้อมูลเพิ่มเติมจาก National Institute of Statistics and Economic Studies ของฝรั่งเศสก็พอจะเห็นแนวโน้มว่าทำไมการปฏิรูปจึงจำกัดชั่วโมงการทำงาน

จากรูปข้างบนจะเห็นว่า การที่เส้นค่าเฉลี่ยของรายได้ (Mean wage) หรือเส้นสีดำ อยู่สูงกว่าเส้นรายได้ขั้นต่ำ คือ 35 ชั่วโมง/สัปดาห์ หรือเส้นสีแดง นั่นแปลว่า คนส่วนใหญ่ในฝรั่งเศสนั้น มีการทำงานมากกว่าชั่วโมงขั้นต่ำที่กำหนดไว้ และทั้งนี้เส้นค่าแรงทำงานขั้นต่ำมีการเติบโตมาโดยตลอด นั่นแปลว่าที่ผ่านมา นายจ้างมีการจ่ายค่าจ้างที่สูงขึ้น จากปี 2003 ที่อยู่ที่ประมาณ 300 ยูโร ขยับมาอยู่ที่ประมาณ 340 ยูโร ในขณะที่ประเทศเยอรมันอย่างมีอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้อยู่ที่ 0%

และเหตุจูงใจที่ทำให้รัฐบาลต้องการปฏิรูปกฎหมายแรงงาน เนื่องจากว่า ตลอดช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศสค่อนข้างที่จะอ่อนแอ โดยเฉพาะปี 2015 ที่ GDP มีการเติบโตเพียง 1.2% ซึ่งเป็นผลมาจากการสนับสนุนของปัจจัยภายนอกอย่างราคาน้ำมันที่ลดลง และเมื่อดูการคาดการณ์เศรษฐกิจของฝรั่งเศส จากรายงานของ European Commission ฉบับเดือนพฤษภาคม 2559 ก็จะเห็นโครงสร้างของปัญหาในอดีตว่า ช่วงปีที่ผ่านมา แม้ว่าค่าเงินจะอ่อนค่าลง แต่กลับไม่ได้ส่งผลให้เกิดปัจจัยบวกต่อการส่งออก อีกทั้งยังทำให้การส่งออกสุทธิติดลบ

การพยากรณ์สำหรับเศรษฐกิจฝรั่งเศสในไตรมาสต่อไป ยังมองว่ามี downside อยู่ แต่ก็เริ่มดูมีความหวังว่าจะเกิดการฟื้นตัวขึ้นในภาคการลงทุน โดยพิจารณาจากดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไม นายมานูเอล วาลส์ นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส จึงยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่ยกเลิกแผนปฏิรูปกฎหมายแรงงาน แต่อาจจะมีการพิจารณาปรับแก้เพิ่มเติม เพราะหากมองโครงสร้างเศรษฐกิจไปในปี 2017 จะเห็นว่า นักเศรษฐศาสตร์พยากรณ์ว่าภาคการลงทุนจะเป็นเครื่องจักรสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจฝรั่งเศสเติบโต

อย่างไรก็ตาม การออกกฎหมายในครั้งนี้ ค่อนข้างชัดเจนว่า ต้องการกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโต และอยากจะลดอัตราการว่างงานลง (ปัจจุบันอัตราการว่างงานของฝรั่งเศสอยู่ที่ 10.2% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของยูโรโซน) จากการสร้างเงื่อนไขเอาใจให้นายจ้างสามารถพิจารณาจ้างงานในตำแหน่งงานใหม่ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะภาคธุรกิจขนาดเล็ก จนอาจจะลืมคิดไปว่าควรที่จะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม

TSF2024