ฟองสบู่ อสังหา จีน

เป็นเวลาหลายปีที่เศรษฐกิจโลกดำเนินอยู่กับการใช้นโนบายการเงินแบบผ่อนคลาย ผ่านการกดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำและอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จนวันนี้ ปัญหาเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ราคาบ้านและที่ดินในเขตเมืองใหญ่ของจีนพุ่งสูงขึ้น แต่ราคาบ้านและที่ดินในเมืองเล็กกลับราคาร่วงและขายไม่ออก

ตอนนี้อสังหาริมทรัพย์ที่ราคาแพงที่สุดของจีน คือ นครเซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น ถ้านับจากเดือน ก.พ.ของปีก่อน จนถึงปัจจุบันนี้ จะเห็นว่า ราคาอสังหาฯ ของเซินเจิ้น พุ่งขึ้นมาถึง 59% และ นครเซี่ยงไฮ้ ปรับเพิ่มขึ้น 35%

และเมื่อมาดูปริมาณการทำธุรกรรมที่สร้างความร้อนแรงในตลาดอสังหาริมทรัพย์จีน จะเห็นว่ามีอยู่ด้วยกันถึง 4 เมือง ที่เริ่มเป็นสัญญาณอันตราย และสะท้อนภาพของเข้ามาเก็งกำไรเป็นอย่างมาก เนื่องจาก ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ธนาคารจีนมีการปล่อยสินเชื่อตลาดอสังหาริมทรัพย์สูงถึง 24 ล้านล้านหยวน (3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) !!! ทั้ง ๆ ที่ IMF ก็ออมาบอกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงเรื่อย ๆ

bubble1
ที่มา: Business Insider

และกราฟข้อมูลของ HSBC ที่แสดงให้เห็นถึงสัดส่วนของมูลค่าอสังหาฯ ต่อ GDP จะเห็นว่ามีสัดส่วนถึง 3.27 เท่าของ GDP ไปแล้ว และคาดว่าสิ้นปีนี้ จะขึ้นไปแตะที่ระดับ 3.72 เท่า ซึ่งนับว่าเป็น “ฟองสบู่ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของจีน”

จากภาพสามารถเปรียบเทียบจากเหตุการณ์ภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของประเทศต่าง ๆ ได้ ดังนี้

  1. ในช่วงปี 1990 เกิด Japan’s great bubble ณ ตอนนั้น อัตราส่วนมูลค่าอสังหาฯ ต่อ GDP อยู่ที่ 3.7 เท่า และในช่วงเวลาที่ฟองสบู่แตกนั้น ราคาอสังหาฯในญี่ปุ่น ก็ได้ร่วงลงมาถึง 67%
  2. ฮ่องกง ในปี 1997 ตอนนั้นมีอัตราส่วนมูลค่าอสังหาฯ ต่อ GDP อยู่ที่ 3.04 เท่า
  3. U.S. bubble มีอัตราส่วนมูลค่าอสังหาฯ ต่อ GDP สูงสุดอยู่ที่ 1.75 เท่าในปี 2006

ตอนนี้หลายฝ่ายก็ออกมาเตือนถึงปัญหาฟองสบู่อสังหาฯ ในจีน โดยเฉพาะนายหม่า จุน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางจีนกล่าวว่า จีนควรจะดำเนินขั้นตอนในการควบคุมการไหลของเงินทุนเข้าสู่ตลาดอสังหาริมทรัพย์และรัฐวิสาหกิจ เพื่อควบคุมภาวะฟองสบู่ที่มากเกินไป ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้ใช้ทุกมาตรการทั้งจำกัดการซื้อหรือสินเชื่อแล้วแต่ก็ไม่ได้ผล .. ก็คงต้องติดตามว่าจีนจะสามารถรับมือกับสถานการณ์นี้ได้หรือไม่ หากว่าฟองสบู่อสังหาฯจีนแตก มันจะเป็นจุดเริ่มต้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรงที่สุดที่เคยมีมา

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
http://money.cnn.com/2016/09/28/investing/china-wang-jianlin-real-estate-bubble/
http://economyandmarkets.com/markets/housing-market-markets/harry-dent-orgasmic-real-estate/

TSF2024