โลกของเรานั้นประกอบไปด้วยปัจจัยมากมายที่ส่งผลต่อทิศทางราคา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งธรรมดาๆ อย่าง ปริมาณน้ำฝน ยอดเด็กเกิดใหม่ ไปจนถึงดัชนีที่ซับซ้อนทางเศรษฐกิจ
แต่ปัจจัยๆ หนึ่ง ก็ส่งผลต่อสินทรัพย์แต่ละชนิด หรือ สินทรัพย์ชนิดเดียวกันทว่าแต่ละตัวไม่เท่ากัน ซึ่งเมื่อนำการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไปเทียบกับตลาดโดยรวม เราก็จะได้สิ่งที่เรียกว่าค่า BETA หรือ ว่าง่ายๆ ก็คือค่าความผันผวนเมื่อเทียบกับตลาดนั่นเอง
ซึ่งแน่นอนว่าความผันผวนนั้นใครๆ ก็ไม่ชอบ จึงมีคนหัวใสคิดกลยุทธ์ที่เรียกว่า Market Neutral ขึ้นมาโดยการใช้อุปกรณ์ทางการเงิน เช่น การยืมหุ้นมาขาย (Short Sale) สัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ Option เพิ่มเติม เพื่อกำจัดค่า Beta ดังกล่าว เพราะมีความเชื่อว่า หากกำจัดค่า Beta ดังกล่าวออกไปได้แล้ว เราจะได้สินทรัพย์เพิ่มขึ้นมาอีกชนิดที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ตลอดเวลาแบบที่ไม่แคร์อะไรกับตลาดโดยรวมเลย
เราสามารถแบ่ง Market Neutral ออกได้เป็น 2 แบบโดยง่าย
หนึ่งคือกลยุทธ์ Market Neutral ที่ใช้ความผิดปรกติด้านราคาในเชิงสถิติหากำไร และ สองคือ Market Neutral ที่ใช้ความผิดปรกติด้านปัจจัยพื้นฐานหากำไร ซึ่งมีแนวการวิเคราะห์ที่แตกต่างกันออกไป
โดยในเชิงสถิตินั้น ต้องอาศัยข้อมูลเชิงปริมาณ เช่น ราคาย้อนหลัง การวิเคราะห์กราฟเทคนิค หรือโมเดลทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อน เพื่อคำนวณออกมาเป็นสินทรัพย์ ปริมาณ และสถานะที่ควรถือ
ในขณะที่ในเชิงปัจจัยพื้นฐาน โดยมากจะตั้งเป้าหมายในการซื้อไปที่หุ้นแข็งแกร่ง และ Short หุ้นที่มีสัญญาณของการอ่อนตัวจากข้อมูลทางด้านปัจจัยพื้นฐาน เช่น ยอดขาย กระแสเงินสดคิดลด ฯลฯ
ซึ่ง Market Neutral ทั้ง 2 แบบนั้นอาจทำได้หลายกลยุทธ์ เช่น
ในสินทรัพย์เดียวกัน กลุ่มเดียวกัน เช่น Long หุ้นโรงพยาบาล A แล้ว Short หุ้นโรงพยาบาล B
สินทรัพย์เดียวกัน คนละกลุ่ม เช่น Long หุ้นโรงไฟฟ้า Short หุ้นการท่องเที่ยวและร้านอาหาร
คนละสินทรัพย์ เช่น Long หุ้นกู้แปลงสภาพ แต่ Short หุ้นที่อ้างอิง
…และอีกมากมาย
หลากปริมาณ เช่น
Long / Short 50:50 คือการใช้สถานะ Long และ Short เพื่อลดความเสี่ยงด้านการใช้ Leverage
Long / Short 100:100 Long / Short 3-400%:3-400%
เพื่อให้พอร์ตการลงทุนนั้นๆ มีค่า Beta ต่ำลงมา ตามแต่จุดประสงค์ของผู้จัดการกองทุน ว่าต้องการกำจัดความเสี่ยงออกไปมากน้อยแค่ไหน หรือ กำจัดความเสี่ยงรูปแบบใด ซึ่งจะช่วยกำหนดสินทรัพย์ที่ต้องลงทุน อุปกรณ์ทางการเงินที่ต้องใช้ หรือโมเดลทางคณิตศาสตร์แบบใดที่ควรคำนึงถึง
ซึ่งในกรณีของ Market Neutral แบบ Zero Beta นั้นเป้าหมายก็คือทำให้ต่ำลงมาใกล้เคียง 0 ที่สุด
นอกจากนั้นแล้วยังมีการประยุกต์ใช้แบบลูกครึ่ง เช่น กลยุทธ์ Long/Short Hedge ที่มีเป้าหมายคือการสร้างผลตอบแทนแบบหุ้นภายใต้ความเสี่ยงที่ต่ำกว่า, 130/30 ที่ให้ความสนใจของผลกำไรที่มากขึ้น ภายใต้ความเสี่ยงที่เหมือนๆ กันกับตลาดทั่วไป ฯลฯ
ทำไมต้องหุ้น?
เพราะหุ้นเป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ เนื่องจากมีการคำนวณมูลค่าที่เป็นเหตุเป็นผลจากการทำธุรกิจ สภาพคล่องที่สูง และภายใต้สินทรัพย์เดียวมีตัวเลือกให้เลือกมากมาย ซึ่งเป็นการช่วยลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่อาจเกิดขึ้นได้ หรือความเสี่ยงระหว่างตลาดได้
ทั้งหมดนี้จะช่วยผู้จัดการกองทุนดังกล่าว สามารถทำการตัดสินใจได้ดีขึ้น
แล้วกำไรของ Market Neutral เกิดจากไหน?
เกิดจาก Premium จากการขายสัญญาหรือสินทรัพย์ล่วงหน้าในตลาดต่างๆ (Option), ดอกเบี้ยจากตราสารที่ไปถือ เช่น หุ้นกู้แปลงสภาพ, ส่วนต่างราคาหรือ Spread จากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วส่งผลต่อหุ้นที่เราถือไม่เท่ากัน ทำให้มีโอกาสทำกำไรเสมอแม้ยามที่ตลาดไม่เป็นใจอย่างปัจจุบัน ทำให้ Market Neutral ถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้งในฐานะกลยุทธ์ที่น่าสนใจ ในยามที่ตลาดไม่เป็นใจและเริ่มมีสัญญาณของการตึงตัว
แต่ในข้อดีนั้นก็มีข้อเสียด้วยเพราะ…
Market Neutral เป็นการถือสถานะทั้ง Long และ Short ทำให้เป็นการจำกัดโอกาสในการทำกำไรที่สูง ทำให้ยามที่ตลาดดี Market Neutral มักจะไร้คนเหลียวแล
ความเสี่ยงของ Market Neutral??
Market Neutral มีการนำ Leverage มาใช้เพื่อทำกำไรเพิ่มเติม และลดความเสี่ยงของพอร์ตโดยรวมลง ทำให้หากผู้จัดการกองทุนนั้นๆ ชะล่าใจ เกิดใช้เกินตัวขึ้นมา อาจทำให้กองมีปัญหาได้
Beta = 0 นั้นเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ ถึงแม้ในทางทฤษฎีจะเป็นไปได้ แต่ในความเป็นจริงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ซึ่งเมื่อ Beta ไม่เท่ากับศูนย์แล้วก็เท่ากับพอร์ตโดยรวมนั้นยังมีความเสี่ยงมากกว่าที่ควรจะเป็นตามกลยุทธ์
ทางด้านความหลากหลายของโมเดล หากโมเดลที่ใช้ในการทำกลยุทธ์ดังกล่าวหลากหลายไม่มากพอ นั่นหมายถึง คนจำนวนมากลงทุนด้วยกลยุทธ์เหมือนๆ กัน จากหลากหลายช่องทาง ซึ่งเมื่อลงทุนเหมือนกันแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือค่าความสัมพันธ์ที่สูง ซึ่งไม่ใช่สิ่งน่าพึงประสงค์ของกลยุทธ์ที่ต้องการความอิสระอย่าง Market Neutral
เมื่อมาถึงยุคปัจจุบัน ยุคที่ Bond Yield Spread ใกล้เคียงศูนย์ ข่าวการเมืองระหว่างประเทศที่กำลังร้อนแรง ราคาน้ำมันที่ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ PMI ที่เริ่มหันหัวลง ถึงแม้วิกฤติจะยังไม่เกิดตอนนี้ แต่จะไม่ดีกว่าหรือที่จะปลอดภัยไว้ก่อน เพราะสุดท้ายแล้ว สิ่งที่สำคัญมากไม่แพ้ผลกำไรก็คือ เงินต้น…