JPY-Appre

ในช่วงสองอาทิตย์ที่ผ่านมาเรียกได้ว่าเป็นอาทิตย์ที่ตลาดเงินผันผวนอย่างหนักเนื่องจากมีการประชุมของธนาคารกลางที่สำคัญถึง 4 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และ ธนาคารกลางของออสเตรเลีย (RBA) ซึ่งตลาดมีความคาดหวังกับผลการประชุมต่างกันออกไป เช่น ตลาดคาดการณ์ว่า FED น่าจะคงอัตราดอกเบี้ย และน่าจะเอาถ้อยคำที่พูดเมื่อการประชุมครั้งก่อนว่า FED มีความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกออกไปจากผลการประชุม และสุดท้าย FED ก็ทำอย่างที่ตลาดได้มีการคาดการณ์ไว้ ซึ่งหลังการประชุม ตลาดเงินทั่วโลกนั้นแทบไม่ได้มีการเคลื่อนไหวต่างไปจากเดิม

ในส่วนของธนาคารกลางของนิวซีแลนด์นั้น มีนักวิเคราะห์ส่วนน้อยคาดว่าอาจจะมีการลดดอกเบี้ยเพื่อทำให้ค่าเงินกีวี่นั้นอ่อนค่าลงและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ สุดท้ายทาง RBNZ นั้นตัดสินใจที่จะคงอัตราดอกเบี้ยและเลือกที่จะกดดันตลาดเงินผ่าน verbal intervention ว่าปัจจุบันค่าเงินกีวี่นั้นอยู่ในระดับที่แข็งค่าเกินไป แต่ค่าเงินกีวี่นั้นกลับแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วจากระดับ 0.683 ดอลล่าร์/กีวี่ ไปที่ ระดับ 0.70 ดอลล่าร์/กีวี่ หรือคิดเป็น 2.5%

ส่วนธนาคารออสเตรเลียนั้น  น่าสนใจตรงที่ ก่อนหน้าการประชุมค่าเงินออสซี่นั้นเรียกได้ว่าเป็นสกุลเงินที่ปรับแข็งค่ามากกว่าสกุลอื่นๆ โดยปีนี้ค่าเงินออสซี่แข็งค่าขึ้นมาถึง 14% ตามการปรับขึ้นของราคา commodities ประกอบกับทางธนาคารกลางของออสเตรเลียนั้นเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยในครั้งก่อนๆมาหลายครั้งและไม่ได้แสดงถึงความกังวลต่อการแข็งค่าของสกุลเงินออสซี่มากนัก และมั่นใจว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% น่าจะเพียงพอต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามก่อนการประชุมธนาคารกลางเพียงไม่กี่วัน มีการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อ ซึ่งตัวเลขเงินเฟ้ออกมาติดลบ ทำให้ธนาคารกลางออสเตรเลียตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยลงจาก 2% มาที่ 1.75% ในส่วนของค่าเงินออสซี่นั้นนับตั้งแต่มีการประกาศอัตราเงินเฟ้อจนถึงวันนี้ ปรับอ่อนค่าลงไปแล้ว 3%

ฟากของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) นั้น ก่อนการประชุมนั้นตลาดต่างคาดการณ์กันว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น น่าจะมีออกมาตรการผ่อนคลายเศรษฐกิจเพิ่มวิธีใดวิธีหนึ่ง ได้แก่ วิธีที่ง่ายที่สุด คือ คงอัตราดอกเบี้ยติดลบที่เท่าเดิม แต่บังคับใช้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวให้ครอบคลุมมากขึ้นในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์นำเงินมาฝากที่ธนาคารกลาง หรือ ลดอัตราดอกเบี้ยให้ติดลบมากกว่าเดิม หรือ ปรับอัตราส่วนมาตรการ QQE โดยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนใน ETF ให้มากขึ้น และท่าไม้ตายสุดท้ายคือ การเพิ่มปริมาณ QQE ให้มากขึ้น เท่าที่ผู้เขียนสังเกต ดูเหมือนว่าตลาดส่วนมากคาดการณ์ว่าอย่างน้อยๆ BOJ น่าจะเลือกวิธีแรก อย่างไรก็ตาม หลังการประกาศผลประชุมปรากฏว่า BOJ เลือกที่จะไม่ออกมาตรการเพิ่มเติม มีเพียงการปรับลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจลง และ ยังคงยืนยันว่าทาง BOJ พร้อมจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับไปสู่เป้าหมายที่วางไว้  และยังอยากจะประเมินถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยติดลบจากการประชุมครั้งที่แล้วเสียก่อน

ผิดหวังกับผลการประชุม

วินาทีหลังผลการประชุมออกมาเรียกได้ว่าเป็นหายนะย่อมๆของค่าเงินเยนเลยก็ว่าได้ ก่อนการประชุมค่าเงินเยนอยู่ที่ 111.7 เยน/ดอลล่าร์ โดยค่าเงินเยนปรับแข็งค่ามาที่ 109.3 เยน/ดอลล่าร์ทันที และเมื่อมีการแถลงข่าวจากผู้ว่าแบงค์ชาติญี่ปุ่น (Kuroda) ค่าเงินเยนยังคงปรับแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเบรกทุกแนวรับที่สำคัญๆลงมาหลายแนวทั้ง 111.19/110.8/109.1/107.65/107 ลงไปต่ำสุดที่105.58 เยน/ดอลล่าร์ หรือแข็งค่าขึ้น 5.5%  ในส่วนของของค่าเงินเยน/บาท นั้นแน่นอนว่าไม่น้อยหน้าเช่นกัน โดยปรับแข็งค่าขึ้นจาก 31.4 บาท / 100 เยน ขึ้นไปสูงสุดที่ 33.0 บาท/100 เยน หรือ แปลว่าคนที่แลกเงินไปเที่ยวญี่ปุ่นวันนั้นจะต้องจ่ายแพงขึ้นเทียบกับอาทิตย์ก่อน 5.10% ซึ่งสาเหตุที่เงินเยนแข็งค่าได้ถึงขนาดนี้ พอสรุปสาเหตุได้ว่า

  1. ก่อนการประชุม BOJ ในช่วงประมาณวันที่ 20 เมษายน ได้มีการเสนอข่าวผ่านทางสำนักข่าวหลายแห่งพร้อมกันว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะปรับอัตราดอกเบี้ยในตลาดลง หรือ มีการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบกับธนาคารพาณิชย์ให้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งข่าวดังกล่าวทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าจากระดับ 108เยน/ดอลล่าร์ไปอยู่ที่ 110เยน/ดอลล่าร์ภายในวันเดียว จากข่าวนี้ทำให้นักลงทุนมีการเข้าซื้อดอลล่าร์เพื่อเตรียมเก็งกำไร และเมื่อผลการประชุมออกมาทำให้นักลงทุนเทขายเงินดอลล่าร์ และซื้อเงินเยนกลับ ทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น
  2. ตลาดเงินมีการคาดหวังเป็นอย่างมากว่า BOJ ต้องมีการผ่อนคลายเพิ่มเติม จากการสังเกตจะเห็นว่ามีการถือดอลล่าร์ผ่านตลาดเงิน (Spot market) และ ตลาดอนุพันธ์ (FX Option market) สูงมาก โดยตลาดอนุพันธ์นั้นมีการซื้อขาย Volatility อยู่ที่ 30% ซึ่งตีความได้ว่าค่าเงินเยนจะต้องมีการปรับตัวอย่างน้อย 1.6 ดอลล่าร์เพื่อให้ถึงจุดคุ้มทุนของการซื้อ option ซึ่งด้วย position ตลาดดังกล่าวเมื่อ BOJ คงมาตราการทำให้นักลงทุนแห่เทขายเงินดอลล่าร์อย่างหนักพร้อมๆกัน และเมื่อค่าเงินดอลล่าร์ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง เบรกแนวรับที่สำคัญๆที่กล่าวไว้ด้านบน ก็จะยิ่งไป trigger จุด stop loss ไปเรื่อยๆ
  3. ในช่วงนี้เป็นวันหยุดยาวของประเทศญี่ปุ่นทำให้แรงซื้อเงินดอลล่าร์จากผู้นำเข้านั้นหายไป ขณะที่ฝั่งนักลงทุนที่ต้องการขายดอลล่าร์นั้นมีมาจากทั่วโลก นอกจากนี้โดยปกติเมื่อค่าเงินเยนแข็งค่าอย่างรวดเร็วนั้นมักจะมี comment มาจากฝั่งธนาคารกลางญี่ปุ่น (verbal intervention) เสมอเพื่อไม่ค่าเงินเยนแข็งค่าเร็วเกินไป แต่เนื่องจากเป็นวันหยุดยาวทำให้ไม่มี comment ดังกล่าว
  4. หลังจาก BOJ ลดอัตราดอกเบี้ยติดลบในการประชุมครั้งก่อน ก็เริ่มมีกระแสไม่พอใจจากคู้ค้าของประเทศญี่ปุ่น ว่าญี่ปุ่นพยายามจะทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงผ่านการลดดอกเบี้ย และเริ่มมีการกดดันไม่ให้BOJ ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง ทำให้ตลาดเงินเชื่อว่า BOJ ไม่น่าจะลดอัตราดอกเบี้ยเร็วๆนี้หากเศรษฐกิจนั้นไม่แย่จริงๆ

ในส่วนทิศทางค่าเงินต่อจากนี้ คาดว่าค่าเงินเยนยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้อีก แต่น่าจะเป็นไปอย่างช้าๆ และ เมื่อตลาดญี่ปุ่นกลับมาเปิดน่าจะเห็นแรงซื้อเงินดอลล่าร์กลับเข้ามาหลังจากที่ค่าเงินดอลล่าร์ปรับตัวลงมามาก โดยคาดว่าค่าเงินดอลล่าร์เยนในช่วงสั้นๆน่าจะวิ่งอยู่ในกรอบ 106-108 โดยแนวรับอยู่ที่ 106.8/106.3/105.55 แนวต้านอยู่ที่ 107.4/108.2/108.7 ในส่วนของค่าเงินเยน/บาทนั้น มีโอกาสปรับตัวลงหลังตลาดญี่ปุ่นเปิดทำการเช่นกัน แต่แนวโน้มยังอยู่ในขาขึ้น แต่จะเป็นไปอย่างช้าๆ เช่นเดียวกับดอลล่าร์/เยน โดยมีแนวต้านช่วงสั้นๆอยู่ที่ 33.00/33.15/33.58 ส่วนแนวรับอยู่ที่32.45/32.20/32.00