ยุคหุ่นยนต์ กับการกลับมาของ มาร์กซิส..?

คาร์ล มาร์กซ์ ถือเป็นนักปรัชญาและนักเศรษฐศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 18 และหากมองกันในรายละเอียดของแนวคิดทางกลไกเศรษฐศาสตร์แล้ว อาจจะกล่าวได้ว่า สำนักมาร์กซิสดูเหมาะควรกับการจะเป็นผู้สืบทอดที่แท้จริงของเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิกที่มีอดัม สมิธเป็นต้นแบบมากกว่าสำนักนีโอคลาสสิกเสียอีก

คาร์ล มาร์กซ (Karl Marx) บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์สำนักมาร์กซิส

ในมุมมองของคาร์ล มาร์กซ์ วิวัฒนาการของสังคมมีลำดับขั้นจาก คอมมิวนิสต์ดั้งเดิม (สังคมแบบชนเผ่า) ไปสู่สังคมทาส (ชนชั้นปกครองเป็นใหญ่) ไปสู่สังคมศักดินา (ชนชั้นแรงงานเริ่มมีสิทธิมีเสียง) ไปสู่สังคมทุนนิยม (ปลดแอกชนชั้นแรงงาน) และไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์บริสุทธิ์ (ทุกคนเท่าเทียม/ไร้รัฐ) ในท้ายที่สุด

กรอบความคิดของมาร์กซ์บอกว่า ตลอดประวัติศาสตร์มนุษย์การต่อสู้ของชนชั้นแรงงานจะเป็นแรงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของสังคมเสมอ (เช่น การเลิกทาส คือเปลี่ยนผ่านจากสังคมทาสไปสู่สังคมศักดินา)

นั่นหมายถึงทุนนิยมเป็นเพียงแค่สังคมเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมอุดมคติอย่างคอมมิวนิสต์บริสุทธิ์ (ซึ่งตัวจุดชนวนจะมาจากการลุกฮือของชนชั้นแรงงาน และความขัดแย้งกันเองของชนชั้นนายทุน)

ในช่วงสงครามเย็นเราเข้าใจกันว่าคอมมิวนิสต์ล่มสลายและแนวคิดของมาร์กซ์ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ทุนนิยมปรับตัวและอยู่รอดมาได้จนถึงยุคปัจจุบัน แต่จริงๆ แล้วมันเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่..?

หรือสำนักมาร์กซิสต์แค่มาเร็วเกินไป..??

มาร์กซ์อาจจะผิดในการประเมินความล้มเหลวของทุนนิยม และให้ค่ากับชนชั้นแรงงานสูงเกินศักยภาพที่แท้จริง (ที่มนุษย์ส่วนใหญ่เห็นแก่ตัวและขี้เกียจ ความเท่าเทียมและการกระจายการผลิตจึงไม่เกิดขึ้นจริง) แต่เอาเข้าจริงทุนนิยมก็อาจจะถึงจุดที่ล่มสลายได้จากเหตุผลอื่นๆ (เช่นการแทรงแซงของรัฐที่มากเกินไปและผิดที่ผิดทางแบบที่สำนักนีโอเคนส์กับนีโอคลาสสิกฝ่ายซ้ายอย่างพอล ครุกแมน สนับสนุน)

ปัญหาสำคัญของทุนนิยมคือความแตกต่างระหว่างชนชั้น ซึ่งทุกวันนี้ยังคงอยู่และมีแต่จะมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดของสำนักมาร์กซ์ในมุมมองของผมคือการเริ่มเป็นสำนักแรกๆ ที่เอาความสำคัญของ “เทคโนโลยี” ที่มีต่อการพัฒนาตลาดทุน เพียงแต่ในยุคของมาร์กซ์ ยังไม่มีใครจินตนาการได้ว่าเทคโนโลยีจะมีพัฒนาที่ก้าวกระโดดมาถึงในระดับที่จะทดแทน “ชนชั้นแรงงาน” ได้แบบในปัจจุบัน

ถ้าสมมติฐานของผมที่บอกว่ามาร์กซ์แค่มาเร็วเกินไปเป็นจริง ถ้าทุนนิยมกำลังเริ่มเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน ถ้าทฤษฏีที่มาร์กซ์เชื่อว่าการเปลี่ยนผ่านทุกครั้งในประวัติศาสตร์จะเกิดจากการลุกฮือของชนชั้นแรงงาน สิ่งนั้นก็ใกล้จะเกิดเต็มที่แล้ว

สมมติฐานของผมคือ social unrest ที่เกิดจากการล่มสลายของรัฐสวัสดิการ ซึ่งมีต้นตอจากภาระหนี้และวิกฤติพันธบัตร ทำให้รัฐไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อีกต่อไป (ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันประกันสังคมของรัฐจะช่วยเหลือประชาชนได้อีกเพียงแค่ประมาณ 10-20 ปี)

ถ้าสนใจลองอ่านวิกฤติประกันสังคมที่ผมเคยเขียนได้ใน “โพสนี้”

การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นน่าจะนำไปสู่สังคมใหม่ ที่อาจจะเรียกกันว่า “หลังทุนนิยม (post-capitalism)” หรือผมขอวิสาสะเรียกว่าสำนัก “มาร์กซิสใหม่ (neo-marxism – ซึ่งนิยามของมาร์กซิสใหม่ของผมแตกต่างจากนิยามสำนักมาร์กซิสใหม่ที่มีนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่อย่าง Paul Baran หรือ Paul Sweezy เป็นต้นตำรับอยู่)” ซึ่งสังคมใหม่ที่ผมตั้งสมมติฐานไว้ มันคล้ายกับมาร์กซิสสายคลาสสิก ก็คือ “การผลิตคือหัวใจเศรษฐศาสตร์” แต่สังคมใหม่นี้จะมีความแตกต่างไปจากมาร์กซ์ดั้งเดิมตรงที่ ปัจจัยแรงงานที่เป็นหัวใจการผลิตนั้นไม่ได้มาจากมนุษย์อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นจักรกลและหุ่นยนต์อัตโนมัติ

ดังนั้น “การผลิตจะไม่ใช่รากฐานของระเบียบสังคม” ในมุมของมาร์กซ์อีกต่อไป (เว้นแต่เราจะนิยาม คำจำกัดความของสังคมใหม่ โดยนับรวมหุ่นยนต์เข้าไปเป็นชนชั้นหนึ่งของสังคมด้วย) มนุษย์จะเป็นเพียงแค่ผู้บริโภค ไม่ใช่ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งสิ่งนี้อาจจะทำให้สังคมอุดมคติอย่างคอมมิวนิสต์บริสุทธิ์เกิดขึ้นได้จริง นั่นคือ ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาไปมากเพียงพอ ปัจจัยการผลิตแทบจะทั้งหมดจะเกิดจากระบบอัตโนมัติ ซึ่งจะแก้จุดอ่อนสำคัญของมาร์กซ์ คือ “ถอดมนุษย์ออกจากสมการการผลิต”

โรงงานอัตโนมัติที่ใช้หุ่นยนต์ในการผลิตของบริษัทเทสล่ามอร์เตอร์ มีความเป็นไปได้ว่าอนาคตโครงสร้างการผลิตอาจจะไม่จำเป็นต้องมีมนุษย์เลย

คนสามารถอยู่รอดได้โดยไม่ต้องพึ่งพารัฐ เมื่อเป็นเช่นนั้น รัฐจึงอาจลดบทบาทลงถึงในระดับ “ไร้รัฐ” ทุกคนมีความเท่าเทียม ไม่มีการกดขี่ขนชั้นแรงงานแบบยุคทุนนิยมที่มาร์กซ์กลัว เพราะมนุษย์จะเลิกกดขี่กันเองหันไปกดขี่เครื่องจักรและหุ่นยนต์แทน

แต่สิ่งที่น่ากลัวที่มาร์กซ์ “เชื่อ” อาจจะยังคงอยู่..

“ตลอดประวัติศาสตร์มนุษย์การต่อสู้ของชนชั้นแรงงานจะเป็นแรงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของสังคมเสมอ”

ถ้าสิ่งที่มาร์กซ์คิดเป็นจริง ยุคถัดไปจาก “หลังทุนนิยม” อาจจะเป็นยุคที่ชนชั้นหุ่นยนต์ที่ถูกกดขี่ ปลดแอกตัวเองจากมนุษย์และสร้างสังคมใหม่ก็เป็นได้ (ด้วยพัฒนาการของ AI ในยุคอนาคตอันใกล้นี้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลย)

แต่เอาเถอะ ผมคงไม่ได้มีชีวิตอยู่ถึงช่วงเวลานั้นหรอก ปล่อยให้รุ่นลูกหลานของพวกเราเป็นคนแก้ปัญหาก็แล้วกัน