ran-bitcoin-darkside

Bitcoin ได้ชื่อว่าเป็นระบบการเงินรูปแบบใหม่ที่ไม่ต้องมีคนกลาง (ธนาคารกลางหรือ Central Bank) คอยควบคุม ซึ่งการที่ระบบการเงินอยู่ได้โดย “ไร้คนกลาง” นี่เองที่เป็นสิ่งที่ทำให้รัฐบาลส่วนใหญ่หวาดกลัว Bitcoin

เราเชื่อถือในอะไรกันแน่..?

Fiat Currency เป็นชื่อเรียกของระบบการเงินในปัจจุบันที่ธนาคารกลางเป็นคนกำหนดปริมาณเงินที่จะมีในระบบ คำถามคือทำไมเราถึงยอมเชื่อในกระดาษเปื้อนหมึก ที่ไม่มีหลักทรัพย์อะไรค้ำประกันเลย..?

คำตอบก็คือ เราเชื่อในเครดิตของรัฐ เมื่อรัฐค้ำประกันว่ากระดาษเปื้อนหมึกนี้มีค่าใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนได้ เราจึงยอมรับกระดาษเหล่านี้

บางคนเคยเข้าใจว่า รัฐจะพิมพ์เงินได้จะต้องมีทองคำสำรองในคลัง ความจริงกฏข้อนี้ไม่เป็นจริงมานานแล้วนะครับ ตั้งแต่ปธน.ริชาร์ด นิกสัน ล้ม Bretton Woods System เงินก็เลิกผูกค่ากับทองคำตั้งแต่นั้นมา ลองอ่านได้จากบทความนี้ เหตุผลที่ Bitcoin ทะลุ $1,000 อธิบาย Cryptocurrency ในแง่มุมเศรษฐศาสตร์

นั่นเป็นเหตุผลที่ว่า เมื่อรัฐล่มสลาย ระบบการเงินของรัฐนั้นๆ จึงพังตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์อภิมหาเงินเฟ้อในซิมบับเว หรือไวมาร์หลังสงครามโลก

ทำไมรัฐต้องควบคุมปริมาณเงิน..?

ธนาคารกลางคือหน่วยงานหลักของรัฐในการควบคุมปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ ในประเทศทั่วไปอย่างไทย ธนาคารกลางอาจจะทำแค่การดูดเงินออกจากระบบ หรือเพิ่มเงินเข้าระบบด้วยการควบคุมอัตราดอกเบี้ย แต่ประเทศมหาอำนาจที่เครดิตดีอย่างสหรัฐ ญี่ปุ่น อังกฤษ และยูโร ถึงกับสามารถพิมพ์เงินกระดาษเพิ่มขึ้นมาได้เอง

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยหรือการพิมพ์เงิน (QE) เป็นกลไกของธนาคารกลางในการดูแลเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจที่เรียกกันว่า นโยบายการเงิน (monetary policy)

ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าประเทศประสบปัญหาเศรษฐกิจ บางครั้งรัฐก็เลือกที่จะลดค่าเงิน (ไม่ว่าจะด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย หรือการแทรกแซงค่าเงินเช่นเทขายสกุลเงินของตัวเองเข้าสู่ตลาดโลก ฯลฯ) พอค่าเงินอ่อน ก็จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบา ส่งออกดีขึ้น อะไรประมาณนี้

ซึ่งการที่ยูโรโซนทั้งหมดใช้สกุลเงินเดียวกัน จึงสร้างปัญหาให้กับประเทศที่อ่อนแอในยูโร เพราะไม่สามารถใช้ monetary policy ในการควบคุมค่าเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ พอดอกเบี้ยต่ำ หลายประเทศจึงอยู่ในสภาวะหนี้ท่วมหัว เพราะแข่งขันไม่ได้และกู้แต่หนี้ จึงเสี่ยงที่จะล้มละลายอยู่จนทุกวันนี้

สรุปแล้ว การแทรงแซงอย่างเหมาะสมของธนาคารกลางมีความสำคัญ (แต่การแฮกเกมส์ด้วยการ show me the money เพิ่มเงินไม่มีวันหมดอย่างการ QE ของพวกมหาอำนาจ ถือเป็น monetary policy นอกคอกนอกตำราที่ไม่ส่งให้เกิดผลดีนะครับ) เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศที่อ่อนแอพลิกฟื้น (ต้มยำกุ้งของไทยเป็นตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุด) หรือชะลอเศรษฐกิจของประเทศที่ร้อนแรงเกินไป (แบบที่เคยเกิดกับจีนในช่วงหลายปีก่อน)

นี่เป็นเหตุผลที่ส่วนตัวผมเชื่อว่า ไม่มีวันที่ระบบการเงินที่อ้างอิงกับมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) จะถูกนำกลับมาใช้ในยุคนี้ เพราะเมื่อไหร่ที่คุณตรึงค่าเงินไว้กับทองคำ ความยืดหยุ่นของนโยบายการเงินจะหายไป

ซึ่งเอาเข้าจริงถ้าพูดเรื่องนี้แบบตรงไปตรงมา monetary policy ที่ควบคุมให้เงินอ่อนเงินแข็งนั้น เป็นการนำกลไกทางเศรษฐศาสตร์ไปแทรกแซงกฏธรรมชาติอย่าง Natural Selection ของชาร์ล ดาร์วิน พูดง่ายๆ คือตามกฏของดาร์วิน ประเทศที่อ่อนแอ สุดท้ายจะสู้สงครามเศรษฐกิจไม่ได้ และล้มละลายไปเอง

ถ้าคุณอยากส่งออกได้ดีกว่าคู่แข่ง สิ่งที่คุณควรทำคือการผลิตสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง ยกระดับคุณภาพสินค้า หรือสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างจุดแข็ง แล้วตีตลาดโลก ไม่ใช่ลดค่าเงินเพื่อให้ของถูกจะได้แข่งขันกับคู่แข่งได้ง่ายขึ้น

ประเทศไหนทำไม่ได้ก็ควรสูญพันธ์ไปตามหลักของดาร์วิน

นอกเรื่องไปไกลย้อนกลับมาที่เรื่องของ Bitcoin

ทำไมรัฐบาลส่วนใหญ่จึงกังวลกับ Bitcoin..?

นั่นเป็นเพราะหากประชาชนของรัฐเลือกใช้ Bitcoin เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน รัฐจะไม่สามารถนำกลไกของธนาคารกลางมาควบคุมปริมาณเงินอย่างที่เคยทำในอดีตได้ และสุดท้ายปัญหาเศรษฐกิจของประเทศก็จะไม่มีทางแก้ไขด้วย monetary policy แบบที่เคยเป็นมา คงเหลือเพียงแค่นโยบายการคลังหรือ fiscal policy (เช่นการแทรกแซงระบบเศรษฐกิจด้วยการลงทุนของรัฐเป็นต้น)

ถ้าโลกใช้ Bitcoin จะไม่มีการ QE อีกต่อไป และถ้าเป็นอย่างนั้นหลายๆ ประเทศมหาอำนาจจะต้องล้มละลาย (ตอน Subprime ถ้าสหรัฐไม่ QE ป่านนี้สหรัฐล้มละลายไปแล้วครับ ญี่ปุ่น และยูโรก็เช่นกัน)

โลกทั้งโลกใช้ Bitcoin เหมือนใช้ทองคำ ไม่มีเงินอ่อนเงินแข็ง ไม่มีการแทรกแซงค่าเงิน ไม่มีตลาด Forex ให้เทรด เราบินไปญี่ปุ่นก็ใช้ Bitcoin ซื้อราเม็งได้เหมือนอยู่เมืองไทยที่ใช้ Bitcoin ซื้อก๋วยเตี๋ยวเรือ

ระบบธนาคารแบบดั้งเดิมอาจจะกลายเป็นเรื่องไม่จำเป็นอีกต่อไป เมื่อคุณมีระบบการเงินที่เป็นอิสระที่ถูกสร้างอยู่บนเครือข่ายอินเทอร์เนต

ซึ่งการไม่มีนายธนาคารก็เป็นเรื่องที่กลุ่มต่อต้านระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเห็นชอบอยู่แล้ว เพราะพวกเค้ามองว่านายธนาคารและนักการเงินคือคนที่สร้างอนุมูลอิสระจำนวนมากให้ระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นตราสารทางการเงินประหลาดๆ ที่ปั่นป่วนเศรษฐกิจโลกทั้ง MBS, CDS, CDO (ใครไม่รู้จักยังไม่ต้องไปสนใจมันมากนักก็ได้ครับ ระเบิดเวลาทั้งนั้นเจ้าพวกนี้ แต่ถ้าสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ของ Subprime กับวิกฤติยูโร ควรรู้จักเจ้าพวกนี้ไว้ให้มากๆ ครับ)

ดังนั้นในภาคทฤษฏีแล้ว กล่าวโดยสรุป Bitcoin จะมาปั่นป่วนระบบเศรษฐกิจโลก เพราะมันจะปลดแอกระบบการเงินโลกให้พ้นจากการควบคุมของรัฐและนายธนาคาร..!! แง่นึงดูเหมือนจะดี แต่อีกแง่กฏของชาร์ล ดาร์วินจะถูกนำกลับมาใช้ทันที เพราะรัฐขาดกลไกควบคุมไปแล้ว ประเทศอ่อนแอจะล้ม เพราะทำเงินอ่อนไม่ได้ ประเทศแข็งแรงจะกินรวบเศรษฐกิจทั้งโลก ฯลฯ

แต่นั่นคือภาคทฤษฏีครับ..

ในภาคปฏิบัติสิ่งนี้คงไม่ได้เกิดขึ้นง่ายนักเนื่องจาก..

1. Confidence is the Key – ตัวกลางการแลกเปลี่ยนมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน และ Bitcoin (ณ ปัจจุบัน) ยังห่างไกลจากคำนั้น คนจำนวนมากไม่รู้และไม่เข้าใจกลไกของ Bitcoin พอที่จะเชื่อถือมันได้

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ในยุคโรมันที่ยังใช้ทองคำเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนกันอยู่ ตัวเหรียญมีภาพนูนต่ำของกษัตริย์โรมันในยุคนั้นปั๊มไว้เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่า ทองคำนี้เป็นของแท้ผลิตจากรัฐบาลโรมันเอง

ท่านทราบไหมครับว่า เหรียญทองของโรมันเหล่านั้นมีการแพร่กระจายไปใช้ในประเทศอื่นๆ อย่างอินเดียด้วย

แล้วจู่ๆ นักประวัติศาสตร์ก็ขุดพบเหรียญโรมันของปลอมในประเทศอินเดีย คำว่าปลอมในที่นี้ คือตัวเหรียญเป็น “ทองคำจริงๆ” ครับ แต่ปั๊มรูปกษัตริย์โรมันปลอมๆ ที่มีลักษณะของภาพที่มีความแตกต่างจากภาพบนเหรียญโรมันจริงๆ

india-roman-imitations-1r
เหรียญทางซ้ายเป็นเหรียญทองแท้ของโรมัน ส่วนเหรียญทางขวาเป็นเหรียญทองแท้ของอินเดียที่พยายามทำเลียนแบบเหรียญโรมัน

ทำไมแค่ “ทองคำจริง” ของอินเดียถึงไม่น่าเชื่อถือ..? จนต้องหาทางประทับภาพกษัตริย์โรมันลงไปในทองคำเพื่อให้คนมั่นใจ

ทองไม่ได้มีค่าเพราะมันเป็นทอง แต่ทองมันมีค่าเมื่อรัฐบาลรับประกัน

Bitcoin ในยุคนี้ก็เช่นกันครับ ไม่ว่าตัวเทคโนโลยี crytocurrency ของ Bitcoin จะล้ำหน้า ปลอดภัย และเจ๋งขนาดไหน คนส่วนใหญ่ก็ไม่กล้าที่จะตัดสินใจเลือกใช้แทนเงินของรัฐหรอก เว้นแต่รัฐบาลจะประทับตราให้การยอมรับว่า Bitcoin สามารถแลกเปลี่ยนได้จริง ถ้ารัฐการันตี คนก็จะเชื่อมั่น

ปัจจุบัน Bitcoin จึงมีบทบาทเป็นแค่การลงทุนทางเลือกเท่านั้น นักลงทุนที่เชื่อใน Bitcoin ส่วนใหญ่ก็มักจะถือ Bitcoin เป็นสัดส่วนเล็กน้อยในพอร์ตของตัวเอง (คนที่ทุ่มหมดหน้าตักก็พอมีแต่ไม่มากนักยกเว้นพวกรายใหญ่ที่เป็น Market Maker หรือเหล่า Miner ตัวเบ้งๆ)

2. เสี่ยงกับภาวะ Hyperdeflation – มีนักทฤษฏีหลายคนกล่าวไว้ว่า Bitcoin มีปริมาณน้อยเกินไป จึงไม่มีทางที่ Bitcoin แค่จำนวน 21 ล้านเหรียญ จะมาทดแทนระบบการเงินโลกที่มีปริมาณเงินรวมเครดิตมากกว่า 300 ล้านล้านเหรียญสหรัฐได้

ความจริงแล้วสิ่งนี้ไม่ใช่ปัญหาครับ เพราะ Bitcoin นั้นถูกออกแบบมาให้แบ่งจำนวนเป็นหน่วยย่อยได้มากถึง 1 ล้านส่วน (เรียกว่า μBTC) คือพูดง่ายๆ ว่า ถ้า Bitcoin แข็งมากพอ ก็สามารถซอย Bitcoin เป็นหน่วยย่อยๆ ลงไปได้อีกล้านเท่าตัว (ในตอนนั้น 1 BTC อาจจะมีมูลค่า $100,000,000 และ 1 μBTC ก็มีมูลค่า $100)

นั่นคือ ปริมาณของ Bitcoin ไม่ใช่ปัญหาหรอกครับ ถ้ามันจะมาแทนที่ดอลล่าห์จริงๆ แต่ความจริงปัญหาที่มีของ Bitcoin คือเรื่องของการกักตุนต่างหาก (hoarding)

ในยุคแรกของ Bitcoin เจ้าของเหมืองที่ขุดหา Bitcoin ในยุคนั้นต่างมีปริมาณ Bitcoin อยู่เป็นจำนวนมาก

พูดอีกแง่ก็คือ Bitcoin ส่วนใหญ่ ตอนนี้ (เชื่อว่า) อยู่ในมือของคนส่วนน้อย..!!

เมื่อสินทรัพย์ส่วนใหญ่ถูก hoard ทำให้ supply ในตลาดมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ความผันผวนของราคาจึงเกิดขึ้น นี่คือรูปแบบหนึ่งของสภาวะอภิมหาเงินฝืด (Hyperdeflation) ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามของอภิมหาเงินเฟ้อ (Hyperinflation) ที่หลายๆ คนกลัวกัน

รูปแบบของ Hyperdeflation เป็นอย่างไร..?

หลักๆ คือราคาสินทรัพย์นั้นๆ จะผันผวนสุดขีด ลองดูกราฟราคา Bitcoin ในช่วงเวลาต้นปีที่ผ่านมาสิครับ หลังจากทะลุ $1,100 เพียงแค่ไม่กี่วัน ก็โดนทุบจนหลุดมาอยู่แถวๆ $800 ภายในเวลาแค่ 3 วันเท่านั้นเอง  เวลาขึ้นลงทีไม่ใช่วิ่งกันแค่ 1-2% แต่ทุบและปั่นกันรอบละ 20-30% สบายๆ

เมื่อของมีน้อย เจ้ามือก็โก่งราคาได้ พอราคาขึ้นสูงมากๆ จนทำกำไรได้เยอะ เจ้ามือก็สามารถทุบราคาได้ด้วยการเทขาย (อารมณ์เหมือนวิกฤติ Tulipmania ในเนเธอแลนด์ช่วงศตวรรษที่ 16)

ซึ่งสินทรัพย์ที่ผันผวนรุนแรงขนาดนี้ไม่เหมาะเป็นอย่างยิ่งที่จะนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เพราะ wealth ของผู้ถือจะแปรผันตามความผันผวนนี้ ลองคิดง่ายๆ ว่าวันนี้คุณซื้อก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชามด้วยราคา 1 μBTC พอมาพรุ่งนี้ราคาก๋วยเตี๋ยวปรับเป็น 1.2 μBTC แล้ว เพราะ Bitcoin อ่อนลง ต่อมาอีกวันนึงก๋วยเตี๋ยวเหลือราคา 0.7 μBTC เพราะ Bitcoin แข็งขึ้น

พอเห็นความวุ่นวายของ Hyperdeflation นะครับ นี่ต่างหากที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาที่แท้จริงของ Bitcoin

สรุปว่าการนำ Bitcoin มาใช้แทนสกุลเงินหลักจะทำให้รัฐบาลประสบปัญหาหลายเรื่อง

  • เก็บภาษีไม่ได้
  • ควบคุมปริมาณเงินไม่ได้ (เพราะ Bitcoin จำกัดปริมาณ)
  • ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้
  • จัดการอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ (เพราะ Bitcoin จะไม่ได้อยู่ในธนาคาร)

จั่วหัวไว้ว่ารัฐบาลจะเกลียด Bitcoin แต่ทำไมอ่านข่าวเมื่อปลายปีที่แล้วกลับเจอว่ารัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่ง legalize Bitcoin ให้ใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย..? เอาแล้วซิ ตรงลงความจริงเป็นยังไงกัน

ผมจะลองเล่าสมมติฐานของผมให้ฟังครับ

ทำไมรัฐบาลญี่ปุ่นถึงกล้า legalize Bitcoin..?

คำตอบจริงๆ ผมเชื่อว่ามาจากปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะปัญหาภาวะเงินฝืดของประเทศญี่ปุ่นที่กินเวลายาวนานมากว่า 30 ปีนี่แหละครับ (เริ่มจาก Plaza Accord ที่โดนอเมริกาบังคับให้เพิ่มค่าเงินเยนเทียบกับดอลล่าห์)

ปัญหาเงินฝืด เป็นปัญหาที่น่ากลัวเนื่องจากประชาชนในประเทศญี่ปุ่นไม่ยอมใช้จ่าย เก็บสะสมเงินเอาไว้ (hoarding) เพราะกลัวความไม่แน่นอนของอนาคต พอเงินไม่หมุนเวียนในระบบ ปัญหาเงินฝืดก็ตามมา

หลายคนอาจจะคิดว่า เงินแพงๆ ดีออก (เงินฝืด = เงินแพงเพราะหายาก) สินค้าจะได้ถูกลง เอาเข้าจริงมันไม่ใช่เรื่องดีครับ เพราะเมื่อเงินฝืดผู้บริโภคจะคิดว่า “ถ้ารอซื้อสินค้าพรุ่งนี้ ของน่าจะถูกลงกว่าวันนี้นะ” เมื่อคนชะลอการใช้จ่าย จะทำให้ผู้ผลิตขายสินค้าไม่ได้ โรงงานเจ๊ง ปลดพนักงานออก เมื่อคนไม่มีเงิน ก็จะยิ่งประหยัด เกิดเป็นภาวะวนลูปของเศรษฐกิจซบเซา

ญี่ปุ่นโดนปัญหานี้ซ้ำซากมานาน และไม่ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นพยายามออกนโยบายอะไรมากระตุ้นการใช้จ่าย ก็มักจะไม่ได้ผล คนยังคงประหยัด และภาคการผลิตก็ทยอยประสบปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคนประหยัด ภาคเอกชนก็ไม่กล้าที่จะขยายการลงทุน ทุกอย่างก็เลยติดอยู่ในกรอบวังวนที่ดูเหมือนจะไม่สิ้นสุด

และเราต้องอย่าลืมว่า ญี่ปุ่นกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการพยายามลดอัตราดอกเบี้ยมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอยู่ในระดับติดลบแล้ว (Negative Interest Rate Policy)

แต่ถึงอัตราดอกเบี้ยจะติดลบ เมื่อปลายปี 2016 เงินทั่วโลกก็ยังคงไหลเข้าเยนอย่างต่อเนื่อง ช่วงนั้นเงินเยนก็แข็งสวนทางกับอัตราดอกเบี้ยไปซะงั้น ผิดทฤษฏีเศรษฐศาสตร์อย่างสิ้นเชิง หลังจากเกิดความกลัวเรื่องวิกฤติยุโรปหลัง Brexit เงินเยนแข็งตัวขึ้นมากกว่า 20% เมื่อเทียบกับค่าเงินยูโร (เงินเยนแข็งทำให้การส่งออกญี่ปุ่นประสบปัญหา รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวด้วย)

แล้วญี่ปุ่นจะหวังพึ่งพาเรื่องส่งออกก็ไม่ได้

บริโภคในประเทศก็ยังไม่กระเตื้อง

เงินเยนก็แข็งจนน่ากลัว ยิ่งแข็งมาก ญี่ปุ่นก็จะยิ่งประสบปัญหาใหญ่ขึ้นๆ

และตามความเชื่อของผม นี่คือที่มาของการกล้า legalize Bitcoin ครับ..!!

เงินเยนแข็ง เพราะคนจำนวนมากหวังใช้เยนเป็น Safe Haven ดังนั้นความมั่นใจในเงินเยนของคนทั่วโลกตอนช่วงนั้นถือว่าสูงมาก (มากเกินกว่าธรรมชาติจริงๆ ของเยน ที่พิมพ์เงินออกมามากขนาดนี้)

ดังนั้นด้วยสภาวการณ์แบบนั้นในปี 2016 รัฐบาลญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องกลัวเรื่องการทิ้งเงินเยน หรือกลัวปัญหาเงินเฟ้อ หรือเงินสูญเสียความน่าเชื่อถือจากการยอมรับ Bitcoin

ตรงกันข้าม ถ้าคนบางส่วนหมดความเชื่อถือในเงินเยนบ้าง กลับน่าจะเป็นเรื่องดี ทิ้งเยนไปถือดอลล่าห์บ้าง ไปถือหยวน บ้างไปถือ Bitcoin บ้าง ธนาคารกลางของญี่ปุ่นน่าจะดีใจทั้งอ้อนวอนและภาวนาให้เป็นแบบนั้น

ยิ่งไปกว่านั้นการเปิดสื่อการในการแลกเปลี่ยนแบบใหม่อย่าง Bitcoin มาเทียบเคียงกับเยน ยังเป็นการเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจทางตรง ซึ่งอาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ นั่นคือเมื่อผู้บริโภคไม่กล้าใช้เยน เก็บเยนเอาไว้ในเซฟ หรือในธนาคาร ดังนั้นถ้าหากมีสกุลเงินใหม่ที่มีอำนาจซื้อ อาจจะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนการบริโภคในระบบได้ เพราะ Bitcoin ยังเป็นสกุลเงินใหม่ที่ยังไม่ได้รับความไว้วางใจมากนัก ดังนั้นการกักตุน (hoarding) ในคนส่วนใหญ่จึงยังไม่เกิดขึ้น

พูดง่ายๆ ใครก็ตามที่ไม่ได้เชื่อถือใน Bitcoin อย่างสุดหัวใจจริงๆ คงไม่มีความคิดที่จะเก็บสะสม Bitcoin เหมือนกับที่เก็บสะสมเงินเยนแน่ๆ ก็มีโอกาสที่จะนำ Bitcoin มาใช้จ่ายหมุนเวียนเพิ่ม Velocity of Money ในประเทศมากขึ้น

ประโยชน์ทางอ้อมอีกอย่างคือเมื่อรัฐบาลประกาศ legalize Bitcoin ก็มีโอกาสที่จะหาทาง regulate Bitcoin ตามมา ดังนั้นลองคิดว่าถ้ารัฐบาลสามารถหารายได้เพิ่มเติมจากการ regulate Bitcoin (เช่นเก็บภาษีจาก transaction ที่เกิดจาก Bitcoin) ก็จะเป็นการเพิ่มช่องทางรายได้อีกทางหนึ่งให้กับรัฐด้วย

ดังนั้นหาก Bitcoin ได้รับการยอมรับและถูกใช้มากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้ก็น่าจะเกิดตามมา

  • เยนอ่อนลง
  • เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น
  • ปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้น (เยน+Bitcoin)
  • เพิ่มการหมุนเวียนของการบริโภค
  • เพิ่มรายได้รัฐ

แต่อย่างไรก็ตามด้วยมูลค่าของ Bitcoin ในปัจจุบันเทียบกับปริมาณเงินเยนในปัจจุบัน Bitcoin จะยังไม่ได้มีปริมาณมากพอที่จะกระทบกับเยนได้หรอกครับ แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ และปัญหาสำคัญหลังการ legalize Bitcoin ก็เป็นเรื่องของผู้รับ Bitcoin ต่างหากว่าจะมีร้านค้ามากน้อยแค่ไหนที่จะเปิดกว้างรับเงินดิจิตอลนี้จริงจัง

ปิดท้ายด้วยความเห็นส่วนตัวของผม นั่นก็คือไม่ว่า cryptocurrency จะได้รับการ legalize จากรัฐบาลหรือไม่ สกุลเงินนี้จะยังคงอยู่ต่อไปตราบเท่าที่อินเทอร์เนตยังมีอยู่บนโลก (มันอาจจะไม่ใช่ Bitcoin ก็ได้ในอนาคต) และเมื่อถึงเวลาหนึ่ง cryptocurrency จะกลายเป็นที่พึ่งเล็กๆ ของประชาชนเมื่อรัฐบาลล้มเหลว หรือประสบกับภาวะ hyperinflation (แบบที่กำลังจะเกิดกับเวเนซุเอล่าในปัจจุบัน) รัฐบาลจะไม่สามารถควบคุมสกุลเงินดิจิตอลเหมือนที่เคยทำกับทองคำหรือโลหะมีค่าอื่นๆ ได้

และประวัติศาสตร์ทางการเงินของโลกก็จะเปลี่ยนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือเมื่อถึงเวลานั้น

PS. ปิดท้ายด้วยคำถามที่ผมอยากฝากให้ไปคิดกันเล่นๆ ถ้าโลกเรามี Cryptocurrency ที่เจ๋งๆ แบบ Bitcoin ออกมาให้คนใช้กันอีกซัก 1,000 ยี่ห้อ ทุกยี่ห้อมีจำนวนจำกัดหมดเลย เราเคยบอกว่าของที่มีจำนวนจำกัดจะมีค่า และเอามาใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนได้ ดังนั้นเมื่อโลกเราเต็มไปด้วย Cryptocurrency คำพูดที่บอกว่า “Cryptocurrency มันจำกัดจำนวนได้ และไม่มีวันเฟ้อ” จะยังคงเป็นจริงหรือไม่ และ Cryptocurrency ตัวไหนใน 1,000 ตัวนี้ ที่จะได้รับการยอมรับ สุดท้ายแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างมันวนกลับมาที่ Trust หรือ Confidence จริงหรือไม่..? อันนี้ผมไม่มีคำตอบให้ ลองไปพิจารณากันดูนะครับ