ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ลงนามบังคับใช้กฎหมายเพิ่มเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐเป็นการชั่วคราวแล้ว ซึ่งจะช่วยให้สหรัฐสามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ไปเมื่อวันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่า US Dollar จะรับรู้ข่าวดีนี้ไปหมดแล้ว และเริ่มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องจากระดับ 94.50 ล่าสุด (20 ต.ค.64) มาอยู่ที่ระดับ 93.84
ดูเหมือนว่าดอลลาร์ได้ผ่านจุด Peak ในระยะสั้นไปแล้ว และมีแววว่าจะอ่อนค่าย้อนกลับลงมาต่ำกว่าระดับ 93 หรือระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 1 เดือน
แม้หนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนดอลลาร์อย่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ จะยังคงพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องล่าสุด US 10Y Bond Yield ทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 6 เดือนที่ 1.65% แต่ช่องว่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐกับประเทศอื่น ๆ นั้น กลับเริ่มที่จะแคบเข้าหากันมากขึ้น
ส่วนต่างของพันธบัตรที่แคบเข้าหากันมากขึ้น เพราะสภาวะเงินเฟ้อมันไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะที่สหรัฐ แต่มันลามเฟ้อไปกันทั้งโลก โดยเฉพาะฝั่งยุโรป เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน และอิตาลี ล้วนกำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อพุ่งขึ้นรุนแรงกันทั้งหมด
เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นย่อมตามมาด้วยการคาดการณ์การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่าง ๆ ดั่งเช่น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของรัฐบาลอังกฤษ GB 10Y Bond Yield ขึ้นมาอยู่ที่ 1.15% เนื่องจากกระแสคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางอังกฤษ BoE จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินทั้งในเดือน พ.ย. และ ธ.ค. รวมทั้งจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นต่อไปในปีหน้า หลังจากที่ นายแอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการ BoE ให้สัมภาษณ์พร้อมสัญญาณบ่งชี้ว่า BoE มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น
ทั้งนี้ การซื้อขายสัญญาอัตราดอกเบี้ยในตลาดฟิวเจอร์บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า BoE จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.15% ในเดือนพ.ย. และ 0.25% ในเดือน ธ.ค. รวมทั้งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปี 2565 ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ BoE พุ่งแตะระดับ 1.25%
เช่นเดียวกับ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมัน DE 10Y Bond Yield ล่าสุดขึ้นมาที่ -0.1205% ใกล้ระดับสูงที่สุดในรอบ 3 ปี และเป็นที่น่าสังเกตว่า อัตราผลตอบแทนระยะสั้นของรัฐบาลเยอรมัน อย่าง DE 2Y Bond Yield ซึ่งมักเป็นตัวสะท้อนถึงโอกาสการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรปนั้น มีการปรับเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ -0.646% สูงที่สุดในรอบ 8 เดือน
เมื่อทำการเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนระยะสั้นระหว่างสหรัฐและเยอรมันกับสกุลเงินยูโร จะพบว่ามีความสัมพันธ์ไปในทิศทางตรงกันข้ามกันชัดเจนมาก กล่าวคือหากส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนสหรัฐและเยอรมัน (Spread US – DE 2Y Bond Yield) ลดลง สกุลยูโรจะมีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามกลไกการโยกย้ายเงินทุนที่ย่อมไหลเข้าหาที่ ๆ จะมีอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เป็นเรื่องปกติ
ทีนี้นอกจากสกุลยูโรที่กำลังมีแนวโน้มแข็งค่าแล้ว ในเอเชียหยวนกำลังเริ่มแข็งค่ามากขึ้นอีกเช่นกัน หลังจากตลาดคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ของ Evergrande บวกกับกระแสเงินที่จะไหลเข้าจีนตามการเก็งว่าจีนจะเริ่มอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอการเติบโต ซึ่งการแข็งค่าของหยวนกลายเป็นตัวนำให้สกุลเงินอื่น ๆ ในเอเชียปรับแข็งค่าขึ้นตาม ดั่งจะเห็นได้จาก Bloomberg JPMorgan Asia Dollar Index ปรับแข็งค่าสู่ระดับ 108 จุด สูงที่สุดในรอบ 3 เดือน
มีเพียงแค่สกุลเงินเยนของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสกุลหลักในกลุ่มประเทศ G-10 ที่ยังคงอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์อยู่ ซึ่งมีสาเหตุจากความวิตกกังวลต่อความอ่อนไหวทางการเมืองของญี่ปุ่น แม้จะมีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 31 ต.ค. แต่ตลาดมองว่าปัญหาเสถียรภาพการเมืองยังคงมีอยู่และจะทำให้รัฐบาลใหม่ทำงานได้ยากลำบากไม่แตกต่างไปจากเดิม อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการเก็งกำไรต่อการอ่อนค่าของเงินเยนมีโอกาสที่จะมาถึงจุด peak แล้ว หลังการถือครองสถานะในตลาดล่วงหน้าของญี่ปุ่นมีการ Net Short สูงทีสุดในรอบ 6 ปีที่ระดับใกล้ 6 หมื่นสัญญา เมื่อย้อนกลับไปดูภาพสถิติจะพบว่ามาถึงจุดนี้ทีไร เยนมักจะพลิกกลับมาแข็งค่าได้เกือบทุกครั้ง
ประเมินภาพรวมทั้งหมดแล้ว ขอคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่า US Dollar มีโอกาสที่จะมาถึงทางตันแล้ว และน่าจะเริ่มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีความเป็นไปได้ที่จะกลับลงไปที่ 93 และ 92 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 5 เดือนได้ในเร็ว ๆ นี้
ประกิต สิริวัฒนเกตุ
กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์