เนื่องจากผมไปออกรายการของ Money Chat โดยพี่เนาวรัตน์ เจริญประพิณ เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีการพูดถึง SET 1,000 จุด
สมาชิกในห้องไลน์ Fan Page ปิง ประกิต จึงถามมาว่า มันจะลงไปจริงไหม
ผมอยากตอบว่า ผมก็ไม่รู้ อะไร ๆ มันก็เกิดขึ้นได้เสมอ ในยุคนี้ การคิดแบบ quantum แบบ multiverse หรือ Futuristic คิดเกินจินตนาการ คิดในแบบที่เกินคาดหมาย มันก็มีโอกาสถูกพอ ๆ กับคิดแบบ critical logical comparative หรือ analytical thinking คิดแบบ วิพากย์ มีเหตุมีผล วิเคราะห์ เปรียบเทียบ
กระนั้น ผมคิดว่าการจะลงในระดับติดลบ 40-50% มีกรณีเดียวครับคือต้องมีวิกฤติหรือมี Crisis
ซึ่งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา Recession จะเกิดก็ต่อเมื่อ โดน Crisis เช่น dotcom hamburger และ covid
เหมือนเราเดิน ๆ ชิล ๆ อยู่บนถนน แล้วอยู่ ๆ ก็โดน กระบะแว้นซ์ ยางห่วย หมุนมาชน
เมื่อเป็นการลงด้วย Crisis มันจะเป็น panic sell มันจะลงรุนแรง และทำให้หุ้นราคาลงต่ำเกินไป และนั่นคือโอกาส
ที่มันเป็นแบบนั้น เพราะตลาดอยู่ภายใต้ระบบ เศรษฐกิจสมดุล แบบ goldilocks economy
คือเศรษฐกิจแย่ ธนาคารกลาง รัฐบาล ก็ทำการกระตุ้นเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจร้อนแรง ก็ลดความร้อนลง
ที่ทำแบบนั้นได้ เพราะเงินเฟ้อมันต่ำ ต่อให้มีบางช่วงพุ่งขึ้นมันก็ไม่ได้เกิน 5%
มันก็เลยเติบโตมาเรื่อย แม้จะมีขึ้น ๆ ลง ๆ บ้าง
ทีนี้ ปัจจุบัน เป็นแบบนั้นไหม
ต้องเข้าใจก่อนว่า ตอนนี้เราอยู่ในสภาวะที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงชีวิตการลงทุน 40 ปีของเรา
เช่น การเกิด stagflation เงินเฟ้อพุ่ง เศรษฐกิจเริ่มแย่ การเกิดสงครามที่ก่อให้เกิด localization การที่ OPEC ฮั้วกันปั่นราคา การที่ Fed ต้องมาเร่งขึ้นดอกเบี้ยครั้งล่ะ 0.75%
ทั้งหมด มันเคยเกิดก่อนปี 1980 ทั้งนั้น แต่หลังจาก 1980 มันไม่ได้เกิดเหตุการณ์แบบข้างต้น สิ่งที่เกิดมันจะเป็น event base มีเรื่องเข้ามาเรื่อย ๆ แต่มันก็อยู่บนฐานของ goldilocks
ดังนั้น การจะคิดหรืออ้างอิงอะไร จึงต้องระวังให้มาก เพราะ บริบทมันมีความต่างกันสูง
สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มันทำให้กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะทุก ๆ อย่างมันมะรุมมะตุ้มในเวลาเดียวกัน มันไม่สามารถมีวิธีการหรือยาวิเศษที่จะแก้ทุกอย่างทีเดียวจบ
มันจึงทำได้เพียงจ่ายยารักษาตามอาการ ประคองอาการไปเรื่อย ๆ และรอเวลาในการปรับสมดุลหรือฟื้นฟู
ผมจึงคิดว่า เรามีโอกาสน้อยที่จะเจอ crisis (เจ็บแล้วจบ) แต่มีโอกาสสูงที่จะเจอ Long Sleep คือซบเซานาน
การซบเซานาน ข้อดีคือคนมีเวลาทำความเข้าใจและปรับตัว ตลาดจะมี downside จำกัด มันจึงยากที่จะไป 1,000 จุด
ข้อเสียคือ มันต้อง take time ใช้เวลานานในการฟื้นตัว
เมืองไทยน่าเป็นห่วง ตรงที่การดำเนินนโยบาย การเงิน ตามหลังประเทศอื่น ๆ
แม้นโยบายการเงินบ้านจะยึดหลักการวางเป้าหมายเงินเฟ้อ และ เป้าหมายด้านค่าเงิน เพื่อสร้างเสถียรภาพ 3 ด้าน ราคา การเติบโตและเสถียรภาพระบบการเงิน
แต่ก็ยังเป็นไปในลักษณะตามหลังสถานการณ์ และติดกับดักการกำหนดกรอบเป้าหมาย จนไม่สามารถดำเนินนโยบายดักปัญหาก่อนได้
หรือพูดง่าย ๆ เราดำเนินนโยบายในเชิง passive คือ ต้องไฟไหม้ก่อนถึงจะรู้ตัว แบบนี้อันตราย
เพราะถ้าประเทศอื่น ๆ เขายอมเจ็บ เร่งขึ้นดอกสกัดเงินเฟ้อ เมื่อเวลาผ่านไป เขาจะฟื้นตัวกันได้ แต่ไทยชักช้า และสุดท้ายก็หนีไม่พ้นต้องมาเร่งขึ้นดอก (แทนที่จะทยอยขึ้นแต่แรก) เศรษฐกิจมันจะไปแย่เอาตอนที่คนอื่นฟื้น
เวลานั้น เราจะยิ่งโดนหนักครับ
ประกิต สิริวัฒนเกตุ