ปัจจัยลบที่น่ากลัวที่สุด

สัปดาห์ที่แล้วเราคุยกันถึงเรื่อง Reflation Acceleration หรือการเร่งตัวของเงินเฟ้อ กำลังกลายเป็นกระแสร้อนที่บรรดากองทุนขนาดใหญ่ของโลกต่างมองไปในทิศทางเดียวกัน

ล่าสุดกระแสนี้ได้รับการตอกย้ำจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวสหรัฐ 10Y Bond Yield พุ่งขึ้นมาถึง 1.31% โดยเป็นการพุ่งขึ้นมา 4 วันติดกว่า 17 bps เรียกได้ว่าร้อนแรงสุด ๆ

การคาดการณ์เงินเฟ้อ ภาพการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ได้ก่อให้เกิดกระแสอีกกระแสหนึ่งคือ “long-bond sell-offs” หรือเทขายพันธบัตรระยะยาว จนทำให้ดัชนีวัดผลตอบแทนการลงทุนนพันธบัตรระยะยาวของ Bloomberg (Bloomberg Barclays US Treasury Total Return Index) ปรับร่วงกว่า 2% นับตั้งแต่ต้นปี

สภาวะข้างต้นสะท้อนถึงกระแสเงินที่กำลังไหลออกจากตลาดพันธบัตรหรือ Money Market ซึ่งมีขนาดใหญ่ราว ๆ 5.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันได้ปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 5 ล้านล้านเหรียญ

คำถามคือเงินที่ออกจากตลาดพักเงินที่ใหญ่มาก ๆ อย่าง Money Market มันกำลังจะมุ่งไปที่แห่งหนไหน คงไม่ยากที่จะหาคำตอบ เพราะภาพของสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกมันฟ้องให้เห็นกันอยู่ทนโท่ ว่ากำลังทะยานปรับเพิ่มขึ้นในทุก ๆ วัน

สินทรัพย์เสี่ยงได้รับแรงหนุนจากปัจจัยบวกต่าง ๆ ทั้งการใช้มาตรการการคลังขนาดใหญ่ การใช้งบประมาณขาดดุลรุนแรง การใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่อง การอ่อนค่าของดอลลาร์ การแข็งค่าของเงินหยวน การพุ่งขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ การเพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน Emerging Market และ การกลับมาของเงินเฟ้อ

เรียกได้ว่าสารพัดปัจจัยบวกกำลังถากโถมใส่โลกแห่งการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง

ล่าสุดมีปัจจัยบวกใหม่จากการที่เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐ พยายามที่จะลดเงินสดของกระทรวงการคลังที่ฝากอยู่กับธนาคารกลางสหรัฐ (Treasury’s general account) เพื่อระบายสภาพคล่องลงสู่มือประชาชน ซึ่งสถานการณ์นี้จะส่งผลให้ Fed จะต้องกดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นให้ต่ำลงไปอีก รวมไปถึงดอลลาร์ที่จะต้องอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้นยังมีปัจจัยบวกอื่น ๆ อีก JP Morgan ได้ออกบทวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ Covid-19 มีแนวโน้มจะซาลงในอีก 2 เดือนข้างหน้า หรือภายในเดือนเมษายน ด้วยเหตุผลเรื่องของสภาพอากาศที่กำลังจะพ้นหน้าหนาวและเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน รวมไปถึงความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับการประเมินของ Goldman Sachs ว่าประชากรครึ่งหนึ่งของสหรัฐจะได้รับวัคซีนโดสแรกภายในเมษายนนี้

JP Morgan ประเมินว่าแรงกดดัน Covid-19 ที่ลดลง ขณะที่สภาพคล่องในระบบล้มจากการใช้นโยบายการคลังและการเงินผ่อนคลาย จะเป็นตัวเร่งเงินเฟ้อ ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้เปรียบที่สุดคือพลังงานและการเงิน ซึ่งตรงนี้ก็สอดคล้องกับ Goldman Sachs ที่มองเรื่องเงินเฟ้อ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และการลงทุนใน Emerging market เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม Goldman Sachs ได้ออกมาเตือนว่าการลงทุนในสินทรัพย์จะให้ผลตอบแทนที่ดีเฉพาะในครึ่งแรกของปีนี้เท่านั้น ในครึ่งหลังของปีอาจจะเริ่มมีปัจจัยกดดัน อย่างแรกคือ การที่ โจ ไบเดน จะเดินหน้าการขึ้นภาษีนิติบุคคล ในช่วงกลางปี และแรงกดดันที่ 2 คือปลายปี Fed จะเริ่มส่งสัญญาณการลดขนาด QE

ปัจจัยบวกล้นหลามใช่ว่าจะมีแต่คนมองในแง่ดี Bank of America (BofA) ซึ่งเป็นสายสวน (contrarian) ได้ออกมาพยายามเตือนโดยตลอดว่าฟองสบู่กำลังเกิดขึ้นและมันใกล้จะแตกแล้ว

แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครสนใจเท่าไหร่นัก เพราะมองไปทางไหนก็เห็นแต่ปัจจัยบวก และเชื่อกันโดยสนิทใจว่าปัจจัยบวกที่อยู่ตรงหน้า มันจะนำพาให้สินทรัพย์เสี่ยงขึ้นสุกสกาววาวแสง

มาถึงบรรทัดนี้ผมอดนึกถึงคำคมของบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ผู้หนึ่งไม่ได้ เค้าคือ โจโฉ วาทะอันคำคมคายของเค้าผมได้มาจากซีรีย์เรื่อง สามก๊ก (1994) ตอนที่ 57 โจโฉ ได้พูดเอาไว้ว่า ไม่มีคือมี มีคือไม่มี นี่แลหลักพิชัยยุทธ์

หันมามองที่โลกการลงทุนในปัจจุบัน มันก็ไม่ต่างกัน “ปัจจัยลบที่น่ากลัวที่สุด มันก็คือ การไม่มีปัจจัยลบ” นั่นแล

ประกิต สิริวัฒนเกตุ

TSF2024