แม้จะเหลือเวลาอีกแค่ 5 เดือนเศษๆ แต่ก็ยังไม่รู้เลยว่า มาตรการลดหย่อนภาษีจากการซื้อ LTF ซึ่งจะหมดอายุลงในสิ้นปี 2562 จะได้รับการต่ออายุออกไป หรือจะมีกองทุนใหม่มาชดเชยหรือไม่
ล่าสุด รมว.คลัง คุณ อุตตม ได้ให้สัมภาษณ์เพียงขอเวลาหารือผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยจะพิจารณาทั้งในแง่ของประโยชน์ ความจำเป็น และผลกระทบต่อตลาดทุนและผู้ลงทุนด้วย
หากย้อนกลับไปก่อนเลือกตั้ง ทั้ง รองนายกฯ ดร.สมคิด ก็ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่ายังคงสนับสนุนให้มีกองทุนสำหรับให้ประชาชนได้ออมในระยะยาว และต้องการให้เป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับของตลาดหลักทรัพย์ฯ การคงหรือปรับต้องพิจารณาให้รอบคอบ โดยกำลังพิจารณาข้อเสนอของสภาธุรกิจตลาดทุนไทยที่จะออกกองทุนใหม่ โดยเน้นการลงทุนในกองทุนรวม
จากการให้สัมภาษณ์ข้างต้น ผมมั่นใจลึกๆ ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ยกเลิก LTF ไปดื้อๆ โดยในท้ายที่สุดน่าจะได้เห็นกองทุนใหม่มาทดแทน LTF ได้ทันเวลา
ทั้งนี้สภาธุรกิจตลาดทุน (FETCO) เตรียมที่จะยื่นเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนระยะยาวแบบใหม่ในช่วงต้น ส.ค. เพื่อมาทดแทนการลงทุน LTF ในปัจจุบันที่จะหมดอายุในปีนี้ ซึ่ง FETCO มองเป็นเรื่องเร่งด่วนที่กระทรวงการคลังและรัฐบาลต้องเร่งพิจารณาโดยเร็ว
สำหรับแนวทางของกองทุนใหม่จะมี 2 ส่วนที่น่าสนใจคือ
1. ให้หักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุด 20% ของเงินลงทุน แต่ไม่เกิน 1 แสนบาทและไม่เกินภาระภาษีที่ต้องจ่าย ต้องลงทุนขั้นต่ำเป็นระยะเวลา 10 ปี
2. เม็ดเงินที่ได้จากกองทุนใหม่ 50% จะไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ออกโดยภาครัฐและลงทุนในหุ้นยั่งยืนใน SET อีก 50% ให้สิทธิ บลจ. เลือกลงทุนได้อิสระ
ผมมองการเสนอกองทุนดังกล่าวแล้ว มีประเด็นที่ชอบใจมากๆ คือ
1. การให้สิทธิหักลดหย่อนภาษีที่ต้องจ่าย 20% จากเงินลงทุนแต่ไม่เกิน 1 แสนบาท (ซื้อกองทุนได้ 5 แสนบาท) และไม่เกินภาระภาษีที่ต้องจ่ายแก่ทุกคน ตรงนี้ถือว่าดีกว่า LTF เดิมที่หักเงินได้ 15% จากรายได้แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท เพราะความแตกต่างมันอยู่ตรงที่ กองทุนใหม่สามารถหักลดหย่อนภาษีจาก “ที่ต้องจ่าย” ส่วนกองทุน LTF หักจาก “เงินได้”
การหักจากเงินได้ จะทำให้ผู้ที่มีฐานภาษีสูงๆ ได้เปรียบ เช่น ผู้มีรายได้ 5 ล้านบาทขึ้นไป ต้องเสียภาษีในอัตรา 35% เมื่อหักรายได้จากที่ซื้อ LTF 5 แสนบาท เท่ากับว่าจะประหยัดภาษีในส่วนนี้ได้ถึง 1.75 แสนบาท ส่วนฐานภาษีอื่นๆจะประหยัดไล่เรียงลงมา ฐานภาษี 30% จะประหยัดภาษีได้ 9 หมื่น – 1.75 แสนบาท ฐานภาษี 25% ประหยัดภาษี 3.75 – 9 หมื่นบาท ฐานภาษี 20% 2.81 – 3.75 หมื่นบาท ฐานภาษี 15% 1.87 – 2.81 หมื่นบาท ฐานภาษี 10% 1.12-1.87 หมื่นบาท ฐานภาษี 5% 5.6 พันบาท – 1.12 หมื่น
แต่ถ้าเป็นการหักจากที่ต้องจ่าย20% จากเงินลงทุนแต่ไม่เกิน 1 แสนบาท ผู้ที่มีรายได้ต่อปีสูงกว่า 6.7 แสนบาท (เสียภาษีในอัตรา 15%) จะสามารถหักลดหย่อนภาษีได้เต็มที่ถึง 1 แสนบาท (หากซื้อกองทุนใหม่เต็ม 5 แสนบาท) เท่ากับว่าถ้าจัดการซื้อกองทุนดีๆเมื่อไปรวมยอดหักลดหย่อนอื่นๆ ผู้ที่มีรายได้ไม่ถึง 1 ล้านบาท สามารถประหยัดภาษีได้ทั้งหมดเลยด้วยซ้ำ
จะเห็นได้ว่ากองทุนใหม่จะให้สิทธิประโยชน์ผู้มีรายได้น้อยมากกว่าผู้มีรายได้สูง (ลดภาพความเหลื่อมล้ำ จากเดิมที่ LTF ถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้เฉพาะคนมีเงิน) และเมื่อมองให้ดีจะทำให้เกิดเม็ดเงินเข้าซื้อกองทุนมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะ ผู้ที่มีรายได้สูงยังไงๆ ก็ต้องซื้อกองใหม่เพื่อเอามาลดหย่อนภาษีอยู่ดี แม้สิทธิ์จะน้อยลงแต่ก็ต้องซื้อเต็มที่ไว้ก่อนเพราะเชื่อว่าไม่ว่าอย่างไรก็ดีกว่าฝากธนาคารไว้เฉยๆ ส่วนผู้มีรายได้น้อยจากเดิมไม่ได้สนใจกองทุน LTF มากนัก คราวนี้ก็ต้องหันมาซื้อกองทุนใหม่กันเต็มที่เพื่อสิทธิลดหย่อนภาษีที่สูงกว่าเดิมมาก
2. การที่ FETCO เสนอให้เงินได้ของกองทุน 50% ไปลงทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ออกโดยภาครัฐ และลงทุนในหุ้นยั่งยืนใน SET เป็นการเพิ่มแรงจูงใจและเพิ่มโอกาสที่จะทำให้รัฐบาลอนุมัติกองทุนนี้ได้ เพราะรัฐบาลอยากได้เงินมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยไม่เป็นภาระด้านงบประมาณอยู่แล้ว อีกทั้งรัฐบาลก็ไม่ได้เสียรายได้เพิ่มเพราะจะได้เงินภาษีจากผู้มีรายได้สูงมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มนี้ได้สิทธิประหยัดภาษีน้อยลง ชดเชยกับเงินภาษีของผู้มีรายได้น้อยที่รัฐบาลจะได้ลดลง เพราะกลุ่มนี้จะประหยัดภาษีได้มากขึ้น
หากรัฐบาลอนุมัติกองทุนใหม่ เชื่อว่าตลาดหุ้นจะมีเม็ดเงินใหม่ๆเข้าเสริมอย่างต่อเนื่องในปริมาณที่มากกว่าเดิม ลดความตื่นตระหนกให้กับนักลงทุน ผู้ที่ถือ LTF ครบกำหนดและสามารถขายได้แล้ว หากอยากจะถือต่อก็สามารถทำได้ตามเดิมไม่จำเป็นต้องชิงขายออกมา ส่วนผู้ที่คิดว่าจะซื้อ LTF ในช่วงที่เหลือของปีนี้รวมถึงปีหน้าดีหรือไม่ ก็ยังสามารถซื้อต่อได้ตามเดิม โดยเฉพาะผู้มีรายได้สูงเพราะนอกจากจะได้สิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีที่ดีกว่ากองทุนใหม่แล้ว อย่าลืมว่าซื้อตอนนี้ถือครองแค่ 7 ปี แต่กองทุนใหม่ต้องถือถึง 10 ปี
อย่างไรก็ตามแม้ภาพรวมของตลาดไม่ได้รับผลกระทบ แต่การลงทุนในกลุ่มหุ้นรายตัวอาจมีความผันผวนในช่วงต้นจากการปรับ portfolio โดยเฉพาะ จากนักลงทุนที่ต้องการขาย LTF เมื่อถึงเกณฑ์ และนำเงินไปหมุนซื้อ LTF รอบใหม่เพื่อหักลดหย่อนภาษี โดยเม็ดเงินนี้จะมีสัดส่วนอยู่ที่ราวๆ 30% หรือปีนึงจะเห็นการขายออกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับปริมาณการซื้อ 6 หมื่นล้านบาท หากมีกองทุนใหม่เกิดขึ้น เม็ดเงินที่เกิดจากการ LTF ที่ครบกำหนดปกติ 2 หมื่นล้านบาท ต้องหมุนไปซื้อกองทุนใหม่ เงินก้อนดังกล่าวจะไม่ได้เข้าหุ้นทั้งหมดเหมือนเดิม แต่ต้องมีบางส่วนไปลงทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน พูดง่ายๆว่า เงินถูกแบ่ง ตลาดไม่ได้รับผลกระทบ แต่หุ้นอื่นๆจะได้แรงซื้อที่น้อยลง
แปลว่าหุ้น Infra fund ของรัฐบาลอย่าง TFFIF จะได้ประโยชน์เต็มๆ นอกจากจะได้โครงการใหม่ๆเข้ากองจากรัฐบาลใหม่แล้ว ยังได้เงินลงทุนจากกองทุนใหม่อีก
ทีนี้ถ้าเกิดกรณีเลวร้าย รัฐบาลปล่อยให้มาตรการหักลดหย่อนภาษีจากการลงทุน LTF หมดอายุลงและไม่มีกองทุนใหม่มาทดแทนจะเกิดอะไรขึ้น
1. แรงซื้อที่เข้ามาพยุงตลาดผ่าน LTF ในแต่ละปีจะหายไปแน่ๆ 6 หมื่นล้านบาท
2. มูลค่า LTF ในปัจจุบันอยู่ที่ 4.6 แสนล้านบาทแยกเป็น
2.1) เม็ดเงินที่ครบกำหนดถือครองที่สามารถขายได้ในปี 2.2 แสนล้านบาท ประกอบไปด้วยเม็ดเงินที่เข้ามาในปี 2557 บวกกำไรจะขายได้ราว 8 หมื่นล้านบาท และอีก 1.4 แสนล้านคือที่เข้ามาก่อนปี 2557 ที่ยังเหลืออยู่ 2.2) คือก้อน 2.4 แสนล้านบาทจะประกอบไปด้วยก้อนที่เข้ามาในปี 2558-59 จะขายได้ในปี 2563-64 ราว 1.5 แสนล้านบาท และก้อนที่เข้ามาในปี 2560 – กลางปี 2561 9 หมื่นล้านบาทจะขายได้ในปี 2567-68
ถ้านับตั้งแต่ปี 2563 จะไม่มีแรงซื้อ LTF จะมีก็แต่แรงขาย ถ้าเป็นแบบนี้ หากผมเป็นผู้ซื้อ LTF มาโดยตลอดและรู้ว่าปี 2563 จะไม่มีแรงซื้อ LTF มาอุ้มแล้ว ผมย่อมคิดได้ว่าปี 2562 อาจเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่ผมจะขายที่มีอยู่ออกไปก่อนเงิน 2.2 แสนล้านบาทที่พร้อมขาย ก็คงได้เห็นการเทแบบไม่ยั้งคิดแน่นอน
มีคนเคยบอกไว้ว่า หากยกเลิก LTF แม้จะเกิดแรงขาย 2.2 แสนล้านบาท ก็จะกระทบตลาดไม่มาก เพราะ 2.2 แสนล้านบาทคิดเป็นเพียง 1.2% ของขนาด Market Cap ตลาดที่ 17 ล้านล้านบาท เท่านั้น … เอ่อ ถ้าคิดแบบนั้นก็แปลว่าไม่เข้าใจตลาดหุ้นกันเลย
ปริมาณการซื้อขายกับมูลค่าตลาด แม้มันจะมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกัน แต่มันไม่ได้สัมพันธ์กับแบบเส้นตรง มันเป็นในลักษณะ Exponential การที่จะเอาปริมาณการขายไปหักออกจาก Market Cap ง่ายๆ มันก็ดูตลกเกินไป ยกตัวอย่างง่ายๆ ปีที่แล้ว นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 2.8 แสนล้านบาท แต่ Market Cap หายไปมากกว่า 10% ทั้งๆที่ปริมาณการขาย 2.8 แสนล้านบาทคิดเป็น 1.6% ของ Market Cap เท่านั้น
Market Cap หายไป 10% จากการขายของนักลงทุนต่างประเทศ 2.8 แสนล้านบาท ทั้งๆ ที่ยังมีแรงอุ้มจากกองทุนในประเทศ 1.8 แสนล้านบาท (ส่วนหนึ่งก็ได้แรงซื้อ LTF นั่นแหละ) ทีนี้ลองมาคิด หาก LTF เปลี่ยนบทจากผู้ซื้อมาเป็นผู้ขาย และประจวบกับนักลงทุนต่างชาติก็เทขายหุ้นเหมือนกัน อะไรจะเกิดขึ้นล่ะครับ
ดังนั้นการปล่อยให้มาตรการหักลดหย่อน LTF หมดอายุไปโดยไม่มีอะไรมาทดแทน ผมเชื่อว่าผลกระทบต่อตลาดหุ้นมันจะรุนแรงเกินจินตนาการแน่นอน … ซึ่งถ้าผมรู้ คุณคิดว่ารัฐบาล ก.คลัง จะรู้ไหม และพวกเข้าจะกล้าเสี่ยงกับผลกระทบนั้นหรือไม่
อีกไม่นาน ก็จะได้รู้คำตอบ
ประกิต สิริวัฒนเกตุ