นับถอยหลังการเตรียมประกาศ Rebalance รอบพิเศษของดัชนี Nasdaq 100 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 ก.ค.นี้ เป็นผลจากราคาหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรงนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาและมีหุ้นหลายบริษัทมีสัดส่วนในดัชนีสูงเกินไป จนทำให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (SEC) ต้องประกาศดำเนินการ Rebalance รอบพิเศษในรอบนี้เป็นครั้งที่ 3 จากเคยดำเนินการมาแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 1998 และพฤษภาคม 2011
ตั้งแต่ต้นปีดัชนี Nasdaq 100 ปรับตัวขึ้นมากกว่า 30% สำหรับชนวนความร้อนแรงรอบนี้ เริ่มต้นจากกระแส AI หวนกลับมาเป็นธีมที่ได้รับความนิยมมากขึ้นอีกครั้ง ท่ามกลางความคาดหวังของนักลงทุนที่มองความนิยมใน “ChatGPT” มีมากขึ้นเรื่อย ๆ และกำลังจะส่งผลให้กำไรเติบโตได้ดีในอนาคต ขณะที่ปัจจัยมหภาค โดยเฉพาะท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีโอกาสจะหยุดวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นและสภาพคล่องที่ดีขึ้นช่วยตอกย้ำความเชื่อมั่นนักลงทุนผลักดันราคาหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม “Growth Stocks” ที่ถูกเรียกว่า “Magnificent Seven” โดยช่วงครึ่งปีแรกราคาหุ้นของทั้ง 7 บริษัทได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจนมีผลต่อน้ำหนักในปัจจุบันของดัชนี Nasdaq 100 รวมกันสูงถึง 55% ของ Index ประกอบด้วย Microsoft (MSFT), Apple (AAPL), NVIDIA (NVDA), Amazon.com (AMZN), Tesla (TSLA), Meta Platforms (META), Alphabet Class A (GOOGL) และ Class C (GOOG)
ผลกระทบต่อนักลงทุน?
ตามรายงานของ “Morningstar Thailand” ระบุว่าที่ผ่านมาดัชนี Nasdaq 100 มีน้ำหนักกระจุกตัวอยู่ในหุ้นแค่บางกลุ่มมานานแล้ว การทำ Rebalance รอบพิเศษนี้จึงจำเป็นเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องดังกล่าว ทำให้คาดว่าน้ำหนักของกลุ่ม “Magnificent Seven” จะถูกปรับลดลง แต่ก็คาดว่าจะเพียงเล็กน้อยเท่านั้นจากสัดส่วนรวมในปัจจุบันที่มีค่ารวมกันเกินกว่า 50% ของ Index โดย Nasdaq จะประกาศแผนการก่อนที่จะทำการ Rebalance จริงประมาณหนี่งสัปดาห์
ผลจาก Rebalance รอบพิเศษนี้ ทำให้กองทุนที่ลงทุนล้อตามดัชนี Nasdaq 100 จะต้องทำการขายหุ้นหลัก ๆ ที่ถืออยู่ตาม Index ออกไป และซื้อหุ้นตัวอื่นเข้ามาใน Portfolio ตาม Index ซึ่งรายการซื้อขายดังกล่าวจะเกิดขึ้นในวันที่ 21 ก.ค.นี้ โดยในมิติของนักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนที่ล้อตามดัชนี Nasdaq 100 จะพบว่า Portfolio มีการปรับเปลี่ยนไป และจะมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นต่อกองทุนจากการทำรายการซื้อขายหุ้นเพื่อ Rebalance รวมถึงมีภาษีจ่ายจากการขายหุ้นของกองทุนในกลุ่มที่มีราคาหุ้นปรับขึ้นมามากออกไป ซึ่งคาดว่าจะกระทบต่อผลการดำเนินงานของกองทุนได้เล็กน้อย รวมไปถึงนักลงทุนทั่วไปในตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะได้ผลกระทบทางอ้อมไปด้วยจากการ Rebalance ครั้งนี้ด้วยจากการที่หุ้นในตลาดจะถูกซื้อและขายจำนวนมากกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ดี การทำ Rebalance ครั้งนี้เกิดกับหุ้นกลุ่มที่มีสภาพคล่องสูง ทำให้มีผลกระทบต่อราคาหุ้นจำกัด
มุมมองการลงทุนหุ้นกลุ่มเทคฯ
ทีมกลยุทธ์ บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด มีมุมมองเชิงบวกในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เนื่องจากแนวโน้มเงินเฟ้อส่งสัญญาณชะลอตัว ทำให้ Fed มีโอกาสจะหยุดวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นและเศรษฐกิจสหรัฐอาจไม่เกิดภาวะถดถอยรุนแรง เบื้องต้นมีความเป็นไปได้ว่าดัชนี S&P500 เป็นตัวแทนของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ในสหรัฐฯจำนวน 500 บริษัทอาจปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ (All Time High) ได้ภายในครึ่งหลังของปี 2023 แต่อย่างไรก็ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรงของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ มองว่าระยะสั้นอาจเผชิญกับแรงขายทำกำไรบ้าง แต่ระยะกลาง-ยาวยังเป็นโอกาสเข้าถือลงทุน
กองทุนทุนเด่นแนะนำ ได้แก่ กองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ เทคโนโลยี อาร์ทิฟิเชียล อินเทลลิเจนซ์ อิควิตี้ ฟันด์ ชนิดสะสมมูลค่า KT-WTAI-A, และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นยูเอส เอ็นดีคิว (ชนิดสะสมมูลค่า) SCBNDQ(A)
ประกิต สิริวัฒนเกตุ
กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ จำกัด