สรุปผลการประชุมของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีประเด็นสำคัญ ๆ ดังนี้
- กนง. มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี (กรรมการเสียงข้างน้อย 3 เสียงมองว่าต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ได้แล้ว)
- เป็นครั้งแรกของปีที่คณะกรรมการเสียงแตก โดย 2 ครั้งก่อนหน้านี้จะมีเสียงเป็นเอกฉันท์
- คณะกรรมการมองเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีกว่าที่ประเมินไว้เดิม โดยได้แรงบวกจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ให้ กนง.ปรับคาดการณ์ การขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2565 เป็น 3.3% จากเดิม 3.2% พร้อมปรับเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็น 6.0 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4 แสนคนจากเป้าหมายเดิม 5.6 ล้านคน
- คณะกรรมการยอมรับว่ามองเงินเฟ้อผิดพลาด จากที่มองเป็นแค่มองเป็นแค่เรื่องชั่วคราว กลับลำเป็นเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและอยู่นานกว่าที่ประเมินไว้เดิม จนต้องมีการปรับเป้าเงินเฟ้อในปี 2565 ขึ้นมา 6.2% จากเดิม 4.9% และปี 2566 เป็น 2.5% จากเดิม 1.7%
- คณะกรรมการมองว่า ความจำเป็นการใช้นโยบายการเงินลดลง อย่างไรก็ตามเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องตามคาด จึงยังให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อไปก่อน
- คณะกรรมการมีการย้ำในช่วงท้ายของรายงานการประชุมว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนขึ้น จึงเห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินทีผ่อนคลายในปัจจุบันมีความจำเป็นที่จะลดลงในระยะข้างหน้า
- คณะกรรมการจะพิจารณาเวลาที่เหมาะสมในการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสอดคล้องกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป
บทสรุปผลการประชุมข้างต้นทำให้เห็นอะไรได้บ้าง
จะเห็นได้แล้วว่า กนง. กำลังส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้แล้ว ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดพอสมควร เพราะส่วนใหญ่คาดกันว่า กนง. จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นครั้งแรกใน พ.ย. 65 และแม้จะมีบางส่วน (รวมถึงผม) ที่คาดว่าจะเริ่มขึ้นใน ก.ย. 65 ก็ยังต้องทบทวนประมาณการกันใหม่ เพราะมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ กนง. อาจตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกใน ส.ค. 65 นี้เลยก็เป็นได้
มองว่า กนง. มีการเปลี่ยนท่าทีในการดำเนินนโยบายชัดเจนมาก โดยดูจากการชี้แจงถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ว่า กนง. จะพิจารณาจาก 3 ปัจจัย คือ
- ต้องสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันต้องดูแลอัตราเงินเฟ้อไม่ให้เพิ่มขึ้นสูง
- การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้บจะต้องไม่ช้าจนเกินไป หากปล่อยให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น กนง.ก็อาจต้องใช้ยาแรงเพื่อมาควบคุมในปีหน้า
- การขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลต่อภาคครัวเรือนน้อยกว่าปล่อยให้เงินเฟ้อเรื้อรัง
กนง. ยอมรับว่าที่ผ่านมามองเงินเฟ้อผิดพลาด โดยมองว่า อัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงด้านสูง จาก 2 ปัจจัยสำคัญที่ไม่สามารถควบคุมได้ คือ 1.ราคาน้ำมันในตลาดโลก และ 2.การส่งผ่านต้นทุนภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม กนง. มองว่าเงินเฟ้อจะขึ้นสู่จุดพีคในไตรมาส 3 ก่อนจะเริ่มทยอยปรับลดลงและเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงปี 2566
การคาดการณ์เศรษฐกิจ กนง. มองว่าจะกลับมาเติบโตเท่ากับในช่วงก่อนวิกฤติโควิดได้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 66 และกว่าจะเติบโตจนถึงจุดที่มีศักยภาพได้ต้องรอไปถึงปี 67 ทั้งนี้มีสิ่งที่น่าสนใจคือการที่ กนง.ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 65 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.3% จากเดิมที่ 3.2% นั้นเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/65 ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับการท่องเที่ยวที่กลับมาเร็วขึ้น โดยมองว่าการบริโภคภาคเอกชน จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในปีนี้ ขณะที่บทบาทของภาครัฐอาจจะเริ่มลดลงบ้าง เนื่องจากในช่วงวิกฤติโควิด 2 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐได้ออกนโยบายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไปค่อนข้างมากแล้ว
ด้านรัฐบาลเมื่อดูจากการให้สัมภาษณ์ของ รมว.คลัง และนายกรัฐมนตรี ดูเหมือนยังคงติดกับดัก การเติบโตทางเศรษฐกิจต้องพึ่งพาแต่นโยบายการเงินผ่อนคลาย โดยยังคงอยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อไป และไม่ได้มองมิติผลกระทบจากเงินเฟ้อเรื้อรังที่จะกระทบต่อการเติบโตในระยะยาว นอกจากนั้นแทนที่จะไปเร่งการออกนโยบายหรือมาตรการที่จะเพิ่มผลผลิตให้กับประเทศ กลับคิดแต่หามาตรการตรึงค่าครองชีพ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีภาระทางการคลังเพิ่มสูงขึ้น ก่อหนี้ที่ไม่ทำให้เกิดรายได้มากขึ้น และมันจะเป็นผลลบในระยะยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้นการเปลี่ยนท่าทีของ กนง. ในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการที่ กนง. เล็งเห็นแล้วว่าหากยังยึดติดกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเพียงมิติเดียวและประวิงเวลาในการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัว มันจะทำให้เกิดความเสี่ยงเงินเฟ้อเร่งตัวอย่างรุนแรง และเมื่อถึงตอนนั้นทุกอย่างมันก็จะสายเกินแก้แล้ว
ประกิต สิริวัฒนเกตุ
กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์