ความคิดเห็นที่สร้างสรรค์

สืบเนื่องจากผมเขียนเกี่ยวกับเรื่อง super easing policy มานาน และล่าสุดเขียนถึงการกลับมาของ new QE ของ ECB และมีแฟนเพจหลายท่านแสดงความคิดเห็น

เผอิญไปเจอ comment อันนึงที่ผมว่าดีมากเลยเอามาให้อ่านกัน

“George Soros เคยให้สัมภาษณ์มาสักระยะแล้วครับว่า .. ในหลักเศรษฐศาสตร์ การทำ QE จะเริ่มไม่ได้ผล .. มันเป็นไปตามทฤษฎี Diminishing Marginal Utility .. ถ้าอัดฉีดแล้วสัญญาณเศรษฐกิจปักหัวลงอีกเมื่อไหร่ ผลที่ตามมาจะรวดเร็ว รุนแรง นลท.จะแตกตื่น เกิดความโกลาหลกันไปหมด .. รอบนี้น่ากลัวถ้าอัดฉีดแล้วยังเอาไม่อยู่ ..

หวยจะมาออกตามการคาดคะเนของ Michael Burry แห่ง The Big Short .. เรื่อง Passive Investment Crisis ..”

ผมขอแสดงความคิดเห็นนะครับ

1. QE และ ZLB (zero lower bond) ของ Fed ECB และ BoJ รอบที่แล้ว ใช่ว่าจะไม่ได้ผลนะครับ อย่าลืมว่ามันสามารถฉุด เศรษฐกิจสหรัฐขึ้นมาจากหลุมหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ จนทำให้ 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหรัฐมีการเติบโตต่อเนื่องติดต่อกันมากเป็นประวัติการณ์ ส่วนเศรษฐกิจยุโรปก็ฟื้นตัวหลังวิกฤติหนี้สาธารณะกลุ่ม PIIGS จะแตกต่างหน่อยก็คือ ญี่ปุ่นที่ยังทรงๆ อืดๆ แต่ก็ดีขึ้นกว่า ไม่เช่นนั้น ชินโสะ อาเบะ คงไม่สามารถเป็นนายกฯ มาได้หลายปี (ก่อนหน้านั้นเปลี่ยนนายกฯ เป็นว่าเล่น)

2. เมื่อปี 2017-2018 เศรษฐกิจโลกดีขึ้นมาก Fed เลยเริ่มเปลี่ยนไปใช้นโยบายการเงินตึงตัว ECB เลิก QE ส่วน BoJ ก็เตรียมเลิกเช่นกัน หากไปดูที่ PMI ภาคการผลิตก็จะพบว่า สหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรป จีน ล้วนเกิน 50 จุดกันหมด และมีแนวโน้มโตต่อเนื่อง

3. จุดเปลี่ยนมันอยู่ที่ มิ.ย. 2018 ที่ ทรัมป์ ประกาศเก็บภาษีจากจีน นั่นแหละ ทุกอย่างเริ่มดิ่งจากตรงนั้น PMI ของทุกประเทศจากที่ดีๆ ก็หักหัวลงจนต่ำกว่า 50 จุดกันถ้วนหน้าในตอนนี้

4. ปัญหามันชัดเจนเลยว่า เกิดจากความงี่เง่า ของคนๆ เดียวเท่านั้น

5. ดังนั้นไม่ใช่ว่า QE และ ZLB จะไม่ได้ผล เพียงแต่มันเกิดอาการเสพติด และเลิกไม่ได้ เลิกปุ๊บก็มีเรื่องปั๊บ

6. รอบนี้ยังไม่เกิดวิกฤติ easing policy ที่กำลังกลับมาจะเป็นการใช้เครื่องมือเพื่อดักปัญหา แน่นอนว่า โอกาสที่จะไม่ได้ผลมีสูง ยกเว้นว่าจะมีอะไรใหม่และแรงกว่าเดิม

7. สิ่งที่จะเกิดขึ้นในรอบนี้ ผมคิดว่ามันจะไม่ใช่แค่ QE + ZLB แต่จะมี MMT (modern monetary theory) คือการที่ รัฐบาลจะใช้งบประมาณขาดดุลครั้งใหญ่ เพื่อเอามากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องแคร์เรื่องระดับเพดานหนี้ เพราะรัฐบาลสามารถกู้ยืนเงินสกุลตัวเอง จากการพิมพ์เงินของธนาคารกลางของตัวเองได้ไม่จำกัด ตราบเท่าที่คนยังอยากถือเงินสกุลนั้น และระดับเงินเฟ้อยังไม่สูงจนเกินการควบคุม

8. เงินเฟ้อและดอกเบี้ยระยะยาวที่ต่ำมาก จะเปิดช่องให้รัฐบาลกู้แหลกได้ หากปีหน้าทำกันทุกประเทศ อุปสงค์มันมาแน่ครับ

9. ถ้ารอบนี้ใช้อาวุธหนักขนาดนี้แล้ว เศรษฐกิจยังฟุบอีก ก็จบข่าวครับ แต่กว่าเราจะรู้ว่าไม่ได้ผลคงอีกปีกว่าๆ ตลาดหุ้นมันน่าจะขึ้นก่อน ก็เป็นโอกาสเก็บเงินกันก่อนครับ

10. ส่งท้าย หากรอบนี้เศรษฐกิจฟุบ ตัวเร่งที่จะทำให้ระเบิดรุนแรง คือเรื่อง Passive Investment Crisis ที่ Michael Burry กล่าวถึง เนื่องจากตอนนี้กำลังเกิดความนิยมในการลงทุน กองทุน ETF ที่อิงดัชนีต่างๆ โดยยึดหลักการกระจายความเสี่ยงๆ คล้ายๆ กับ MBS แต่มันต่างกันตรงที่ซับไพร์มเป็นการผูกสินเชื่อคุณภาพต่ำเข้าไว้ด้วยกัน ส่วน ETF ดัชนีเป็นการผูกหุ้นต่างๆ เพราะคนเริ่มมีความเชื่อว่า การลงทุนไม่สามารถที่จะชนะตลาดหรือดัชนีได้ จึงควรเน้นไปที่ ETF มากกว่า ความเชื่อนี้จึงทำให้เกิดฟองสบู่การลงทุนใน ETF ดังนั้นหากเศรษฐกิจรอบหน้า เกิดการหักหัวจริง ระเบิดลูกนี้ก็จะรุนแรงมาก

ประกิต สิริวัฒนเกตุ

ที่มาบทความ: https://www.facebook.com/prakitsiriwattanaket/posts/2540369362858994