ของเล่นชิ้นแรกสำหรับลูกของผม (ปันผล & ปันสุข) คือ โมบาย
ผมชอบยืนดูเวลาปันผลและปันสุขนอนมองโมบาย เพราะสิ่งแรกที่ลูกกำลังได้เห็นคือ “ความสมดุล”
ความสมดุลของโมบาย เข้าหลักการสมดุลทางฟิสิกส์และหัวใจของวิศวกรรมโยธาคือ แรงดึงขึ้นเท่ากับแรงกดลง แรงดึงไปทางซ้ายเท่ากับแรงดึงไปทางขวา และโมเมนต์ทวนเท่ากับโมเมนต์ตาม
ผมเป็นคนที่ชอบความสมดุลมาตั้งแต่เด็ก ผมจึงเลือกเรียนวิศวกรรมโยธา แต่แปลกตรงที่ในชีวิตจริง ผมกลับไม่ค่อยได้เจอความสมดุล
ทั้งในการดำเนินชีวิตส่วนตัว (ผมเป็นคนสุดโต่งเกือบทุกเรื่อง) และภาพเศรษฐกิจสังคมรอบตัว
บทความชิ้นนี้ผมไม่ได้อยากไปมุ่งที่ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม เพราะมันเป็นปัญหาโลกแตกนับตั้งแต่ที่มนุษย์คู่แรกของโลกสร้างบาปขึ้นมา
แต่ผมอยากจะสื่อสารถึง ปัจจัยที่ทำให้ความไม่สมดุลขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งนั่นจะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากโควิด19 ที่เราได้รู้จักและอยู่กับมันมาครบ 1 ปีแล้ว
แรกเริ่มที่เราได้เห็นการแพร่ระบาดของโควิด19 เราตกใจและคิดว่านี่คือจุดเริ่มของจุดจบทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของโลก
การแพร่ระบาด การล็อกดาวน์ ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำในช่วง มี.ค.-พ.ค. 63 แต่หลังจากนั้นทุกอย่างกลับฟื้นตัว
ฟื้นทั้ง ๆ ที่โควิด19 ยังแพร่ระบาดไม่หยุดและแรงกว่าเดิมด้วย เพราะอะไร ทำไมมันถึงเป็นเช่นนั้น
เพราะเราพบว่า ผู้ติดเชื้อโควิด19 มีอัตราการเสียชีวิตต่ำ และมีอัตราการรักษาหายที่สูงและเร็วมาก (ดูอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ติดแป๊บ ๆ ก็ออกมาซ่าละ)
แม้โควิด19 มันจะติดกันง่ายและเร็ว แต่ในเมื่อมันไม่ใช่โรคระบาดที่คนติดแล้วจะต้องเสียชีวิตจำนวนมาก ดั่งเช่น อหิวาต์หรือไข้หวัดใหญ่สเปนในอดีต กิจกรรมทางเศรษฐกิจมันจึงพอหมุนไปได้
ทุกคนยังต้องทำงาน ทุกคนยังต้องหาเงินเลี้ยงปากท้อง ในเมื่อโควิด19 มันไม่ได้มีพลานุภาพร้ายแรงอย่างที่กลัวกันในตอนแรก ทุกอย่างจึงหยุดนานไม่ได้ และต้องกลับมาเดินและหมุนกันอีกครั้ง
เพียงแต่มันไม่ได้หมุนแบบโมบายหรือหมุนด้วยความสมดุล
แต่มันหมุนบิดเบี้ยว ชนิดที่เรียกบิดการใช้ชีวิตของเราไปตลอดกาล
ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวแม้จะได้รับผลกระทบและปิดตัวลง ทั้งสายการบิน โรงแรม และอื่น ๆ แต่กลับไปสร้างรายได้ให้กับธุรกิจออนไลน์ต่าง ๆ ทั้งธุรกิจคลาวด์ ธุรกิจจัดเก็บข้อมูลออนไลน์ หรือแพลตฟอร์ม วีดีโอคอล ประชุมออนไลน์ต่าง ๆ
ธุรกิจโรงภาพยนตร์รายได้ซบ แต่ธุรกิจแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอย่างเน็ตฟลิกซ์ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเฟซบุ๊คและอื่น ๆ ล้วนรุ่งเรือง
แม้กระทั้งระบบเศรษฐกิจดั้งเดิมในไทยก็เห็นชัดถึงความอสมดุล
ธุรกิจห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ฟุบซบเซา แต่กลับเป็นโอกาสให้กับบรรดาเจ้าของธุรกิจค้าปลีกค้าส่งขนาดเล็ก ที่มีต้นทุนแรงงาน (พนักงานน้อยกว่า) และเข้าถึงแพลตฟอร์มค้าของออนไลน์ ได้ขายของกันสนุกมือ
ธุรกิจให้บริการขนส่งสาธารณะแย่ลง แต่ธุรกิจขนส่งสินค้ากลับเติบโตมหาศาล
ธุรกิจร้านอาหารรายได้ตกต่ำ หลายร้านปิดตัวลง แต่กลายเป็นโอกาสให้แพลตฟอร์มขนส่งอาหาร และร้านอาหารชื่อดังต่าง ๆ หรือร้านชื่อไม่ดังแต่ฉลาดในการตลาด มีกำไรสูงขึ้นมากมาย (ขายอาหารได้มากขึ้นทั้ง ๆ ที่ขนาดร้านเท่าเดิม)
ธุรกิจฟิตเนสเหี่ยวเฉา แต่กลับเป็นโอกาสให้เทรนเนอร์ ใช้แพลตพอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ มาสมัครสมาชิกเพื่อชมการเต้นออนไลน์
การลงทุน การกำเนิดธุรกิจ แย่ลง การว่างงานสูงขึ้น แต่กลายเป็นโอกาสให้ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุน เพราะคนไม่รู้จะเอาเงินไปลงทุนธุรกิจจริงอะไร ก็เอามาลงทุนในหุ้นดีกว่า ดูง่าย ๆ จำนวนผู้เปิดบัญชีหุ้นในปี 2563 ปีเดียวมีถึง 2.7 แสนราย ทำให้ประเทศไทยมีผู้เปิดบัญชีหุ้นปัจจุบันทะยานเป็น 1.5 ล้านรายแล้ว
โควิด19 มันจึงไม่ใช่ตัวทำลายล้างทุกอย่าง มันมีทั้งคนเสียประโยชน์และได้ประโยชน์ มันแค่ทำให้เกิดภาพอสมดุลที่รุนแรงมากขึ้นแค่นั้น
การปรับตัวจะทำให้เรารอดและโตไปกับมันได้ ขอเพียงเราไม่ท้อแท้ ไม่โทษนู่นนั่นนี่ พลังของการปรับตัวและพยายามจะได้รับการอวยพระพรจากพระเจ้าเสมอ
อย่างไรก็ตามบนโลกใบนี้ จะมีโควิดหรือไม่มีโควิด ภาพของอสมดุลที่ทุเรศที่สุดคงหนีไม่พ้นภาพประชาชนผู้เสียภาษี กับ “นัก…” (คิดได้ตามสะดวก แต่ไม่ต้องเขียนในคอมเมนต์นะครับ)
ประกิต สิริวัฒนเกตุ